DEPA ผลักดัน Digital Entrepreneurship

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 ภายใต้ความท้าทายที่ต้องผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศให้ก้าวสู่ดิจิทัล ควบคู่กับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่ดิจิทัลนั้น เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดัน ให้ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมดิจิทัลมีศักยภาพการแข่งขันในทุกด้าน ผ่านการดำเนินงานและสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง กลุ่มประชารัฐ โดยร่วมกันผลักดันให้เกิดการสนับสนุนและ มาตรการต่างๆ ดังนี้

1. ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์ม CMS (Channel Management System) DEPA มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและ OTOP สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจโดยใชแพลตฟอร์ม CMS

Channel Management System (CMS) เป็นระบบศูนย์กลางการที่เชื่อมต่อตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eCommerce จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลงสินค้าขายบนโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวก และสามารถบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าโดยตรงจากระบบ CMS ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดปัญหาในการจัดการสินค้า ทั้งในด้านการจดจำพาสเวิร์ด การตั้งราคาขาย และการอัพเดทสต๊อกได้อย่างสะดวก และแพลตฟอร์ม CMS ยังช่วยเชื่อมโยงโอกาสในการขายสินค้าไปสู่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

2.การส่งเสริมผู้ประกอบการจดแจ้งลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาให้กับกลุ่มประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่อยู๋ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่ออบรม สัมมนา ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องรวมถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.0

3.การส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการในวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่และ Digital Startupรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ

4.การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการส่งเสริม และพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ โดยการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองความมีตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ อีกทั้งสำนักงานยังสามารถอัพเดทข้อมูลของผู้ประกอบการเพื่อนำมาขยายผล วิเคราะห์ หาแนวทางการส่งเสริมแก่กลุ่มผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย

5.การผลักดันส่งเสริมให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผ่านการสร้างนักคิดนักพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม และนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการดำเนินธุรกิจแบบดั้มเดิม สู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล

ภายใต้แนวทางดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะ 20 ปี ภายใต้เป้าหมายที่จะผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดผู้ประกอบการดิจิทัล จำนวน 500,000 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 25,000 ราย โดยแบ่งออกเป็น

-ส่งเสริมธุรกิจ Startup จำนวน 20,000 ราย
-ส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน Hardware 50,000 ราย
-ส่งเสริมประกอบการจากต่างประเทศจำนวน 80,000 ราย
-และ การปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการดั้งเดิมให้เป็นผู้ประกอบการดิจิทัล จำนวน 350,000 ราย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไทยสามารถปฏิรูปสู่ Thailand 4.0 และผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศให้ก้าวสู่ดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here