เผยโฉมโครงการ Smart Health ติดตั้งระบบอัจฉริยะเพื่อการติดตามดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการ Smart City ในอนาคต
- แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ นำอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) มาใช้ในโครงการนำร่องร่วมกับเดลล์ อินเทล และศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ นำระบบอัจฉริยะมาติดตามดูแลคนไข้สูงอายุ
- ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับคนไข้ อุปกรณ์สวมใส่ จะแจ้งเตือนไปยังบริการพยาบาลทันที
- การพิสูจน์แนวคิด พัฒนาเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการนำร่อง และวางรากฐานสำหรับการนำแอพพลิเคชันอัจฉริยะอื่นๆ รวมถึงโครงการสมาร์ทซิตี้ขนาดใหญ่มาใช้ต่อไป
ตำบลแสนสุข ประเทศไทย – 26 กรกฏาคม 2559 – แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นโครงการของเทศบาลตำบลแสนสุข ในประเทศไทย และกลายเป็นสมาร์ท ซิตี้ แห่งแรกในประเทศ เผยโฉมโครงการต้นแบบของจริงที่ได้มีการพิสูจน์แนวคิดหลากหลายรูปแบบว่าสามารถนำไปต่อยอดการใช้แอพพลิเคชันอัจฉริยะที่มีนวัตกรรมและเชื่อถือได้จริง สำหรับการดำเนินโครงการในระยะแรกก็คือ การติดตั้งระบบอัจฉริยะเพื่อการติดตามดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงคุณภาพการดูแลประชากรสูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ โดยโครงการนำร่องนี้เป็นการร่วมมือกับพันธมิตรเทคโนโลยี ได้แก่ เดลล์ อินเทล และศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้โครงการดูแลสุขภาพด้วยระบบอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท เฮลธ์แคร์นี้ นับเป็นโครงการแรกที่มีการติดตั้งใช้งานจริงในประเทศไทย
ความริเริ่มของโครงการ แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ เปิดตัวขึ้นในปี 2557 และเป็นโครงการนำร่องที่ใช้เวลา 3 ปี จัดทำโดยเทศบาลตำบลแสนสุข เพื่อนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความเป็นระบบอัจฉริยะแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว จากจำนวนประชากร 46,000 คนตามที่ระบุในทะเบียนผู้พักอาศัยในชุมชนแห่งนี้ 15% ของประชากรจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ โดยหน่วยงานรัฐบาลในท้องที่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะอยู่บ้านคนเดียวในช่วงระหว่างวัน โดยมีผู้ดูแลน้อยหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการพยาบาลอยู่น้อย โครงการนำร่องนี้ จึงเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2559 และมุ่งเป้าไปที่ 140 ครัวเรือนที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นที่การตรวจตราดูแลคนไข้พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อช่วยให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรในการพยาบาลและดำเนินการเรื่องการบริการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เรื่องนี้สำเร็จได้ด้วยแอพพลิเคชัน IoT ที่ช่วยด้านการตรวจดูสุขภาพ ให้การแจ้งเตือนฉุกเฉิน ตรวจจับสภาพแวดล้อม สอดส่องที่พักอาศัยและติดตามดูแลเพื่อความปลอดภัย
“แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ นำเทคโนโลยีล้ำหน้ามาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้พักอาศัยดีขึ้น และช่วยให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เราจึงเลือกทำงานกับเดลล์ และอินเทล ในช่วงเริ่มต้นที่เป็นระยะสำคัญในการพิสูจน์
แนวคิด (proofs-of-concept) เนื่องจากทั้งสององค์กร เป็นผู้ที่มีผลงานด้านสมาร์ท ซิตี้ และเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยได้เคยสร้างโครงการ IoT ขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกมาแล้วหลายโครงการ และเรารู้สึกยินดีที่ได้จัดทำโครงการในระยะแรกขึ้น พร้อมกับมั่นใจว่าโครงการในระยะถัดมาก็จะส่งผลลัพธ์ที่มีคุณค่าอย่างมากกับเมืองเราเช่นกัน” ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าว
ผศ. อภิเนตร อูนากูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นความริเริ่มของหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจโดยมีหน้าที่ให้การสนับสนุนภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรหลายรายนี้ ไม่ใช่แค่การร่วมมือในเชิงกลยุทธ์ หากยังเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยต้องก้าวสู่วิสัยทัศน์ในการพัฒนาสู่ความเป็นประเทศดิจิทัล (Digital Thailand) สำหรับแสนสุข สมาร์ท ซิตี้ การสนับสนุนด้านเทคนิคจากเดลล์ และ อินเทล ช่วยให้การติดตั้งแพลตฟอร์มที่เป็นต้นแบบสำหรับสมาร์ท ซิตี้ ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางไปสู่การนำ IoT ที่ล้ำหน้ามาใช้ได้มากขึ้น ครอบคลุมหลากหลายแง่มุมของการใช้ชีวิตสำหรับทั้งผู้พักอาศัยในชุมชนและนักท่องเที่ยว สิ่งนี้นับเป็นย่างก้าวครั้งสำคัญต่อไปในการบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสมาร์ท เนชั่น หรือประเทศอัจฉริยะในที่สุด” ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ หรือ ICIC ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานชั้นนำอื่นๆ ในการติดตั้งโครงการดังกล่าว ได้แก่ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA – Thai Embedded Systems Association) มหาวิทยาลัยบูรพา BAESLab และ กสท โทรคมนาคม
ระบบดูแลสุขภาพแบบอัจฉริยะ (Smart Healthcare) สำหรับผู้สูงอายุ
โดยปกติ พยาบาลในเขตเทศบาล จะไปเยี่ยมผู้พักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพันในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พยาบาลก็ยังคงไม่สามารถดำเนินการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากพยาบาลไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเมื่อไหร่ หรือต้องดูแลทางการแพทย์ต่อด้วยวิธีใด ปัจจุบัน โครงการนำร่องนี้ ช่วยให้พยาบาลสามารถดูแลสอดส่องสุขภาพของคนไข้สูงอายุได้จากระยะไกลผ่านระบบคลาวด์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการเชื่อมต่อบลูทูธ
แพลตฟอร์ม IoT ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทลเป็นฐาน ให้การเชื่อมต่อแบบเอ็นด์-ทู-เอ็นด์ที่ปลอดภัยตั้งแต่เกตเวย์ตลอดจนอุปกรณ์และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยโซลูชันจะช่วยให้ติดตั้งใช้งานจริงได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้นและให้ความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ในช่วงระยะแรกของโครงการนำร่องนี้ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุจะสวมใส่อุปกรณ์อัจฉริยะขนาดเล็กที่รับส่งสัญญาณบลูทูธได้ เช่นกำไลสวมข้อมือหรือสร้อยคอ โดยอุปกรณ์อัจฉริยะนี้ จะทำการสอดส่องจำนวนก้าว การเคลื่อนไหว ระยะทางในการเดิน และรูปแบบการนอนหลับ อีกทั้งสามารถแจ้งเตือนมายังผู้ดูแลในศูนย์ดูแลสุขภาพ เมื่อระบบตรวจจับกิจกรรมที่ไม่ปกติ เช่น การลื่นหกล้ม หรือมีการกดปุ่มฉุกเฉินขึ้น
ระบบเกตเวย์อัจฉริยะจากเดลล์ ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทลเป็นฐาน จะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ที่อุปกรณ์อัจฉริยะทำการบันทึกเก็บไว้ทุกวัน โดยจะมีการติดตั้ง Dell IoT Gateway ไว้ที่บ้านพักของผู้ป่วย พร้อมกับติดตั้ง Dell Edge Gateway 5000 Series ในรุ่นสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรม ไว้ที่สถานพยาบาลด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยในการส่งข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องและมีความถูกต้องแม่นยำ ไปยังไพรเวทคลาวด์ของเดลล์ และส่งต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของ
สถานพยาบาลในเขตเทศบาล ที่ซึ่งมีการแสดงข้อมูลอัพเดททั้งเมืองในแบบเรียลไทม์ พร้อมจัดเก็บข้อมูลไว้บนระบบ Converged System ของ Dell PowerEdge VRTX
“การเข้าถึงประวัติการรักษาของคนไข้ และข้อมูลเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์สามารถระบุความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะและแยกแยะวิธีการตอบสนองที่จำเป็นสำหรับกรณีการรักษาฉุกเฉิน โดยช่วยให้บริการพยาบาลในท้องที่ สามารถตอบโจทย์ท้าทายเรื่องบุคลากรด้านการดูแลที่มีอยู่จำกัด ขณะเดียวกันก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการด้านการสนับสนุนที่เหมาะสมได้เร็วขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน” เออร์วิน เมเยอร์ ผู้จัดการทั่วไป เดลล์ โออีเอ็ม โซลูชัน ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคใต้ กล่าว
พลังประสาน จากโครงการนำร่อง
หลังจากที่โครงการนำร่องเสร็จสิ้น ก็จะสามารถนำโซลูชันไปใช้กับแอพพลิเคชันสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ ต่อได้ เช่นกิจกรรมในการบำรุงรักษาและปรับปรุงด้านความปลอดภัยในที่สาธารณะ และท้ายที่สุดก็จะทำให้แสนสุขกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้จากโครงการ IoT เพื่อการดูแลสุขภาพ จะถูกเก็บไว้ใช้สำหรับโปรแกรมอื่นๆ ของแสนสุข สมาร์ท ซิตี้ เช่นระบบสารสนเทศสำหรับนักท่องเที่ยวบนโมบายแอพฯ ซึ่งจะแจ้งเตือนการจัดงาน บริการต่างๆ รวมถึงข้อมูลอื่นที่น่าสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว
“โครงการนำร่องนี้ เป็นการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีใหม่สามารถหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของผู้ที่พักอาศัยในชุมชมได้อย่างกลมกลืน ให้ประโยชน์แก่ทั้งเมืองและชุมชน สถาปัตยกรรมโซลูชันที่เสร็จสมบูรณ์ของโครงการนี้ จะกลายเป็นต้นแบบในอุดมคติสำหรับโปรแกรมสมาร์ท ซิตี้อื่นๆ ไม่ใช่แค่ แสนสุข แต่รวมถึงสมาร์ท ซิตี้ ในประเทศไทย และทั่วโลก” นายณรงค์ชัย กล่าว
“ขั้นตอนเริ่มต้นเหล่านี้ ที่มุ่งสู่การดูแลสุขภาพใน แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเทศบาลเมืองแสนสุข ได้มีการวางกลยุทธ์ไปข้างหน้า โดยโครงการนี้เป็นกรณีการใช้งานจริงที่พลิกโฉมการนำเสนอประโยชน์ใหม่อันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน เช่น คลาวด์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ เป็นส่วนใหญ่ในการติดตั้งเพื่อใช้งานโครงการ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมนำเสนอความเชี่ยวชาญของเราจากการดำเนินโครงการสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ มาแล้วทั่วโลก รวมถึงความเชี่ยวชาญจากการทำงานให้กับสถาบันดูแลสุขภาพมากมาย” ธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) กล่าว
สนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “อินเทล รู้สึกเป็นเกียรติ์ทีได้รับโอกาสร่วมทำงานกับเทศบาลตำบลแสนสุข ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ และ เดลล์ ในการช่วยให้แสนสุข เข้าใจถึงโครงการดูแลสุขภาพแบบอัจฉริยะเป็นโครงการแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนโฉมไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือในครั้งนี้สร้างโมเดลใหม่สำหรับการนำโซลูชันแบบเอ็นด์-ทู-เอ็นด์ มาใช้งานได้อย่างเหมาะสมและตรงต่อความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง โครงการนำร่อง แสนสุข นี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย และเราก็หวังถึงความสำเร็จที่มากยิ่งขึ้นในการนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมแกร่งวิสัยทัศน์สู่ดิจิทัล ไทยแลนด์”
เกี่ยวกับศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ
ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (ICIC) ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมด้วย บมจ กสท โทรคมนาคม และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) โดยศูนย์ฯ มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IOT) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และโซลูชันนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานนานาประเทศ