ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะต้องรักษา “Data” ส่วนตัว อย่างจริงจังเสียที

ว่าด้วยเรื่องของ “ข้อมูลส่วนตัว” หรือ Data Privacy ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลายคนมักมองข้าม จนเผลอปล่อยข้อมูลสำคัญ หลังยังคงมีกระแส Data Privacy มาเรื่อย ๆ ในบทความนี้ก็ขอพูดถึงวิธีป้องกันและความสำคัญของข้อมูลส่วนตัวกันหน่อย โดยคัดจากกรณีที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนมักมองข้ามเสมอดังนี้

เผยข้อมูลบัตรประชาชน

จุดเริ่มต้นของ Data Privacy ที่ติดตัวทุกคนตั้งแต่เกิดเลยคือ [บัตรประชาชน] ข้อมูลที่ถูกเขียนอยู่ในหน้าบัตรนี้ ถือเป็นอะไรที่ส่วนตัวอย่างที่สุดของที่สุดและที่สุด เป็นข้อมูลที่ไม่ควรให้ใครเห็นง่าย ๆ เด็ดขาด เพราะมันบันทึกทั้ง เลขที่บัตรประชาชน ชื่อจริง ที่อยู่ และใบหน้าเรา ทั้งหมดสามารถเอาไปสมัครบริการหรือลงทะเบียนต่าง ๆ ได้หลากหลายมาก จึงง่ายต่อการถูกสวมรอยอย่างยิ่ง ต่อไปลองมาดูกรณีที่ควรระวัง เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยทำมาแล้ว ต่อไปจะได้ระวังไม่ทำอีก

1.เอาบัตรประชาชนไปให้คนอื่นดู

ในหมู่เพื่อน ๆ หรือคนใกล้ตัว อาจจะมีบางคนอยากแซวหน้าเราในบัตรประชาชน (ร้อยทั้งร้อยต้อง “หน้าเด๋อ” ฮ่า) จึงเนียนขอดูบัตรของเรา ถ้าเป็นไปได้อย่าให้ดูจะดีกว่า หรือเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็หยิบให้ดูเองโดยปิดทุกส่วนยกเว้นใบหน้าก็ได้ จากนั้นก็เก็บเข้ากระเป๋าอย่างไวทันที

2.ขีดฆ่าว่า “ใช้สำหรับ…” แล้ว ใช่ว่าจะปลอดภัย

มีบางครั้งที่เราต้องถ่ายเอกสารหน้าบัตรประชาชนเป็นสำเนา (ในยุคดิจิตอล….) ก็ต้องขีดฆ่าในกระดาษว่าใช้สำหรับสมัครบริการหรือสำหรับยื่นเรื่องนั้น ๆ ไป เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่รับสำเนาเอาไปใช้ในทางมิชอบนั้นเอง แต่อย่าลืมว่า แม้จะขีดฆ่าหน้าสำเนาไปแล้ว ข้อมูลในบัตรประชาชนก็ยังคงแผ่หลาให้เห็นอยู่ดี หากโชคร้ายเจอผู้ไม่หวังดี ก็มีโอกาสถูกนำข้อมูลส่วนนี้ ไปกรอกสมัครบริการอื่น ๆ ได้สบายเลย หรือบางคนเก่งหน่อย ตัดต่อเอาส่วนที่ขีดฆ่าออกไปเลยก็มี ฉะนั้นหากเรามีสำเนาบัตรประชาชนเหลืออยู่ ควรเก็บรักษายิ่งชีพแบบเดียวกับตัวบัตรประชาชนเลยครับ หรือหากต้องใช้สำเนานี้ไปสมัครบริการหรือยื่นเรื่องกับอะไร ก็อย่าลืมดูความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่จะเอาข้อมูลตรงนี้ไปด้วย

3.เผลอเอากระดาษถ่ายสำเนาบัตรประชาชนไปให้คนอื่น

ต่อจากข้อ 2 เลย มีบางคนเอาสำเนาบัตรประชาชน ไปทำเป็นกระดาษรียูสหรือพับห่อของให้คนอื่น เตือนอีกครั้งว่า ควรรักษาสำเนาบัตรประชาชนให้เหมือนกับบัตรประชาชนจริง ๆ อย่าปล่อยให้หลุดไปโดยง่าย

แล้วถ้าข้อมูลบัตรประชาชนของเราหลุดออกไปแล้ว ควรทำยังไง ?

“ทำใจ…” ล้อเล่นครับ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปยืนยัน หากคิดว่าข้อมูลในบัตรของเรามีคนล่วงรู้ ในกรณีนี้ก็แนะนำวิธี แจ้งความบัตรหาย เพื่อเก็บเป็นหลักฐานไว้ก่อนได้ครับ อาจต้องเสียเวลาทำบัตรใหม่ แต่หากวันหนึ่งมีคนนำข้อมูลในบัตรเราไปใช้ในทางมิชอบ เราก็พอมีอะไรไปยืนยันความบริสุทธิ์ของเราได้นั้นเอง

เผยข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียล 

ในบริการโซเชียลทั้งหลายแล มักจะมีช่องให้กรอกบางอย่างที่กล่าวถึงตัวเรา หรือเวลาเขียนสถานะอะไร ก็อาจเผลอระบุข้อมูลส่วนตัวบางอย่างลงไปด้วย นี้ก็เป็นอีกกรณี Data Privacy ที่ควรตระหนัก ยิ่งกว่าบัตรประชาชนเสียอีก เพราะข้อมูลส่วนตัวที่เผลอปล่อยในนี้ มีโอกาสถูกเห็นจากทุกคนทั่วโลก และทุกที่ทุกเวลาด้วย ดังนั้นลองมาดูกันว่า เราเผลอหลุดข้อมูลสำคัญของตัวเอง ไปในบริการโซเชียลขนาดไหนแล้วบ้าง

1.ปล่อยข้อมูลใน Facebook

ในหน้า “เกี่ยวกับ” ของ Facebook ที่เอาไว้สำหรับบอกข้อมูลคร่าว ๆ ของตัวเอง แต่มีบางคนเขียนข้อมูล “ที่อยู่” ลงในนี้เลย บางคนเขียนเลขบัตรประชาชนด้วยก็มี เมื่อรวมกับวันเดือนปีเกิด และรูปประจำตัวที่เป็นใบหน้าจริงของเราแล้ว ก็ครบเลยครับ ข้อมูลส่วนตัวที่ควรอยู่ในบัตรประชาชน กลับมาเปิด Public ให้ทุกคนในโลกออนไลน์เห็นกันทั่วหน้า นอกจากใน Facebook เองแล้ว อาจมีปล่อยใน Instagram ใน Line หรืออื่น ๆ ด้วย ใครรู้ตัวกรอกไว้ ไปพิจารณาด่วน ๆ

2.บอกความเคลื่อนไหวเกินจำเป็นในโพสต์

คนเราชอบถ่ายรูป และบอกเรื่องราวที่ได้พบเจอในชีวิตประจำวันเสมอ (ผมก็เช่นกัน) หากแต่บางท่าน กลับบอกเรื่องราวแบบ Real Time ชนิดตามสืบได้เลยว่า เรากำลังทำอะไร ที่ไหน เวลาไหน ณ ขณะนั้น ยิ่งใน Facebook มีฟีเจอร์เช็คอิน ก็ทำให้ง่ายต่อการ “สะกดรอย” ยิ่งขึ้นอีก โดยจากมิจฉาชีพ ที่อาจอยู่บริเวญใกล้เคียงก็เป็นได้

3.ถ่ายรูปบัตรเครดิตหรือตั่วเครื่องบิน

เคยมีกรณีถ่ายตั๋วชมคอนเสิร์ตจนมี Drama มาแล้ว แต่อันนี้คือกรณีที่ไม่ควรทำยิ่งกว่าคือ การถ่ายพวกบัตรเครดิตหรือตั่วเครื่องบิน เอาจากบัตรเครดิตก่อน มีบางคนถ่ายทั้งด้านหน้าและหลังบัตร ทำให้เห็นหมายเลขบัตร และรหัสยืนยัน 3 ตัวชัดเจน ง่ายต่อการนำไปสวมรอยทำธุรกรรมอื่น ๆ ยิ่งนัก ส่วนตั่วเครื่องบิน บางชนิดจะมีบาร์โค้ด ตรงนี้สามารถนำไปสแกนเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัว ของเจ้าของตั๋วได้ด้วยนะเออ

แล้วถ้าบัญชี Facebook โดนแฮก ควรทำยังไง ?

ถ้าถูกแฮกบัญชี Facebook ก็มีวิธีรับมือและแก้ไขได้ไม่ยาก แต่หากถูก “เอารูปภาพโปรไฟล์” ไปใช้งานในทางมิชอบหรือแอบอ้าง ก็อาจยากที่จะตามตัว แต่ใช่ว่าจะไม่มีวิธีซะทีเดียว ลองดูเพิ่มเติมได้ที่นี้

เผยข้อมูลจากการขอสิทธิ์เข้าถึงของแอพฯ

ในโปรแกรมหรือแอพฯ ต่าง ๆ เวลาติดตั้ง จะมีหลายตัวเลยที่ชอบ ขอสิทธิ์เข้าถึงบัญชีหรืออุปกรณ์ เพื่อให้สามารถใช้งานแอพฯ นั้น ๆ ได้ อย่างใน Facebook ก็มีแอพฯ ขอเข้าถึงรายชื่อเพื่อนหรือรูปภาพของเรา ในสมาร์ทโฟนก็มีขอสิทธิ์ในการใช้งานบางฟีเจอร์ พวกนี้เองก็เป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดี แอพฯ พัฒนาแอพฯ มาดูดข้อมูลเรา โดยที่เรา “อนุญาติ (Allow/Accept)” ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงเองด้วย

1.แอพฯ ที่เข้าสู่ระบบด้วย Facebook

เมื่อก่อน หลายคนน่าจะเคยเล่นเกมใน Facebook มาไม่น้อยอย่าง แฮปปี้คนเลี้ยงหมู, The Sims Social, Farm Ville ฯลฯ (ดักแก่) เคยสังเกตไหมว่า ก่อนเล่นมันจะขอ สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล บางอย่าง ที่เจอบ่อย ๆ ก็มี หน้าโปรไฟล์ รายการเพื่อน วันเกิด และที่อยู่อีเมล์

ปัจจุบันมีหลาย ๆ แอพฯ ที่สามารถใช้ชื่อ Facebook เรา Log-in แทนได้ แต่แลกกับอนุญาติให้แอพฯ นั้น เข้าถึงข้อมูลบางอย่างที่อยู่ใน Facebook เราแทน ตรงนี้เอง เชื่อว่าหลายคนคงจำไม่ได้ว่าเคยใช้ Facebook ไป Log-in แอพฯ อะไรไปบ้าง ลองไปเช็คดูได้ที่ หน้าแรก > การตั้งค่า > แอพและเว็บไซต์ จากนั้นก็ไล่ดูเลยว่า แอพฯ ไหนเราไม่เคยใช้มาก่อน แต่อยู่ดี ๆ โผล่มา ให้ไปลบออกก่อนเลย หรือลองไปเช็คสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของแต่ล่ะแอพฯ ดูก็ได้ อันไหนคิดว่าขอสิทธิ์เยอะไป ก็จัดการเลย

2.แอพฯ ที่ขอสิทธิ์เข้าถึงอุปกรณ์

เช่นเดียวกับ Facebook ใน iOS และ Android เอง เวลาโหลดแอพฯ ลงในสมาร์ทโฟน หลายแอพฯ ก็จะชอบขอสิทธิ์เหมือนกัน แต่ในที่นี้เป็น สิทธิ์เข้าถึงอุปกรณ์ อาทิ กล้อง เครือข่าย ตำแหน่งของเรา ที่จัดเก็บข้อมูล ฯลฯ ตรงนี้บอกเลยว่า อันตรายกว่ากรณีแอพฯ Facebook มาก เพราะเคยมีกรณี แอพฯ สแกนไวรัสปลอม ที่ฉากหน้าเหมือนแอพฯ สแกนไวรัสทั่วไป แต่ฉากหลังกลับแอบดูดข้อมูลเรา ทั้งยังแอบฝังไวรัสหรือมัลแวร์อีกด้วย

สำหรับวิธีป้องกัน ก่อนโหลดแอพฯ ในฝั่ง Android ให้เลื่อนลงมาดูที่ “รายละเอียดสิทธิ์” ดูก่อนเลยว่ามันขออะไรเราบ้าง ถ้าดูแล้วคิดว่ามันขอเกินความจำเป็น (อย่างแอพฯ สแกนผีกลับขอดูไฟล์ส่วนตัวซะงั้น) ในฝั่ง iOS ก็ดูได้ที่ข้อมูลแอพฯ

แล้วจะดูยังไงว่าแอพฯ ไหนปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ?

ก็ดูตรงการขอสิทธิ์เลยครับ หากแอพฯ ไหนขอสิทธิ์เกินความจำเป็น แอพฯ นั้นก็มีโอกาสเป็นแอพฯ หลอกลวง หรือไม่ปลอดภัยแน่ ๆ ไม่ก็ลองดูชื่อผู้พัฒนา แล้วเอาไปค้นหาใน Google ดูก็ได้ครับ