[ก้าวสำคัญ] จากห้องปฏิบัติการ สู่สถานที่จริง DARPA ประกาศยกระดับ NOM4D โครงการพัฒนาวัสดุ การออกแบบ การก่อสร้าง และการขนส่งส่วนประกอบต่าง ๆ บนวงโคจรนอกโลก ด้วยการเริ่มทดสอบที่อวกาศของจริง
DARPA หน่วยงานวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าโครงการ NOM4D โดยเปลี่ยนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ไปเป็นการสาธิตในวงโคจรขนาดเล็ก เพื่อประเมินการออกแบบวัสดุใหม่ และหาเทคนิคการประกอบหรือก่อสร้างบนอวกาศโดยตรง ก่อนนำไปสู่การก่อสร้างครั้งใหญ่ ตั้งแต่การสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงของยานสำรวจอวกาศในอนาคต หรือการตั้งสถานีประจำการ สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์โดยเฉพาะ
สำหรับโครงการ NOM4D หรือ Novel Orbital and Moon Manufacturing, Materials, and Mass-efficient Design ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 โดยหวังพัฒนาการก่อสร้างฐานบนอวกาศ ตั้งแต่การหาวัสดุที่ใช่ ที่ผ่านข้อจำกัดทั้งน้ำหนักและขนาด สำหรับการขนส่งผ่านจรวด แทนที่การพึ่งพาโครงสร้างแบบพับได้ในปัจจุบัน จะได้สร้าง “ฐาน” บนอวกาศที่มีขนาดใหญ่และมีมวลหรือทนทานมากกว่าเดิม
ปัจจุบันตัวโครงการ NOM4D ได้รับอนุมัติการทดสอบในอวกาศแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2026 ผ่านการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติของทาง Caltech สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ติดตั้งบนยาน Vigoride ของทาง Momentus Space และใช้จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ช่วยพาขึ้นอวกาศนั้นเอง
สำหรับตัวหุ่นยนต์อัตโนมัติดังกล่าวนั้น ก็จะทำการทดลองสร้างโครงถักวงกลมจากไฟเบอร์คอมโพสิตน้ำหนักเบา ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตรในอวกาศ เพื่อจำลองการผลิตโครงสร้างพื้นฐานในอวกาศขนาดใหญ่ ในขั้นตอนถัดไป
ทั้งนี้นอกจากโครงการ NOM4D แล้ว ก็ยังมีอีกโครงการที่สำคัญ นั้นคือการพัฒนาขั้นตอนกระบวนการขึ้นรูปคอมโพสิตแบบใหม่บนอวกาศ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ได้ความร่วมมือทั้ง UIUC หรือมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญ กับทาง Voyager Space มาทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนเมษายน 2026 หากสำเร็จด้วยดี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์แบบใหม่ จนผลิตโครงสร้างอวกาศขนาดใหญ่ได้ดีกว่าเดิมด้วย
ความสำเร็จของการทดสอบเหล่านี้ อาจส่งผลดีต่อกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ โดยนอกเหนือจากการใช้งานด้านการป้องกันประเทศแล้ว NOM4D อาจช่วยสร้างระบบนิเวศการผลิตในอวกาศ เพื่อปูทางไปสู่สถานีเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ ฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศ และโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าและความมั่นคงแห่งชาติอื่น ๆ ได้ในอนาคต
ที่มา : Techspot