จัดการเวรเปล ผ่านแอป รับส่งผู้ป่วยทันใจ ในยุค Covid
เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เกิดในยุคโควิด ฝีมือของสตาร์ทอัพไทยไม่แพ้ใครในโลก ล่าสุดปล่อย Mutrack Dispatcher มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานเวรเปล ในโรงพยาบาล ใช้แทนวิทยุสื่อสารที่อาจทำให้ล่าช้า
แพลตฟอร์มนี้จะช่วยลดขั้นตอนการกระจายงานเวรเปลในโรงพยาบาล โดยใช้เทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ (BLE) โดยติดตั้งอุปกรณ์ Bluetooth Gateway หรือเรียกว่า Locator ตามจุดหรือแผนกต่างๆ ในอาคาร ลักษณะคล้ายการปักหมุดในแผนที่เพื่อบอกตำแหน่งของแต่ละชั้นและแผนก
พยาบาลจะใช้แพลตฟอร์มที่อยู่บนเว็บไซต์เพื่อสร้างคำขอในระบบ สำหรับเรียกเจ้าหน้าที่เวรเปลให้มารับผู้ป่วย ที่มองเห็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่เวรเปลทั้งหมดในอาคาร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เวรเปลที่อยู่ใกล้ที่สุด ทำให้สามารถประเมินระยะเวลาในการรับส่งผู้ป่วยได้
ในส่วนของเจ้าหน้าที่เวรเปลจะติดตั้งแอปพลิเคชัน Mutrack Dispatcher ลงในโทรศัพท์มือถือ โดยใช้งานผ่านสัญญาณบลูทูธที่ตรวจจับกับสัญญาณ Locator ที่อยู่ใกล้ เมื่อมีคำขอเข้ามาในระบบ ก็จะรู้ตำแหน่งของผู้ป่วยที่ต้องการให้ไปรับ เจ้าหน้าที่เวรเปลที่อยู่ใกล้ที่สุดสามารถกดปุ่มเพื่อรับงานไปรับตัวผู้ป่วยได้ทันที
ลักษณะการใช้งานจะคล้ายกับบริการรถขนส่ง Grab หรือ Uber เมื่อเสร็จงานแล้วยังมีระบบบันทึกการทำงานของเจ้าหน้าที่เวรเปลแต่ละคน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่เวรเปล รวมถึงผู้ป่วยก็ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากบริการของโรงพยาบาลด้วย
ตอนนี้ Mutrack Dispatcher ได้ทดลองใช้จริงแล้วที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพยาบาลและเจ้าหน้าที่เวรเปลผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ป่วยต่างได้รับความพึงพอใจการบริการเวรเปลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนำไปใช้จัดการงานเวรเปลแล้ว ในอนาคต Mutrack Dispatcher ยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานหลังบ้านอื่น ๆ ได้หลากหลาย เช่น งานล่ามแปลภาษา งานเมสเซนเจอร์ส่งพัสดุและเอกสารในโรงพยาบาล โดย บ.มิวแทรค ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มได้เปิดให้ลงทะเบียนทดลองใช้ฟรีที่ https://mutrack.co/th/dispatcherth/
อีกทั้งโครงการนี้ยังได้ทำงานร่วมกับ Aruba เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถนำไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ภายใต้การสนับสนุน สวทช. ผ่าน โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS” ที่เปิดให้ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ Startup ด้านไอทีและเทคโนโลยีเข้าไปเรียนรู้การทำธุรกิจและการลงทุน จนเห็นผลความก้าวหน้า