เล่นคุกกี้รันเจอบิล 2 แสน!! ระวัง! ซื้อไอเทมผ่านเครือข่ายมือถือ

กลายเป็นข่าวฮือฮาพอสมควรสำหรับข่าวที่มีเด็กเล่นเกมคุกกี้รันจนเจอบิลเรียกเก็บเงิน 2 แสน  ซึ่งบิลดังกล่าวไม่ได้มาจากบัตรเครดิต  แต่เป็นการเรียกเก็บชำระเงินจากทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเสียด้วย…

cookie-run-ais

ais-bill

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นกับ นางอัมพร ชุ่มชื่นดี อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้รับบิลเรียกเก็บค่าโทรศัพท์มือถือจากบริษัทแห่งหนึ่ง (ดูจากภาพประกอบแล้วคาดว่าจะเป็นเครือข่าย AIS) เป็นจำนวนเงินสูงถึงกว่า 2 แสนบาท ทำให้คนในครอบครัวตกใจแทบช็อก

ทั้งนี้ นางอัมพร เปิดเผยว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าวได้เปิดเป็นชื่อของตน และใช้โทรศัพท์ยี่ห้อซัมซุง รุ่นแกแลคซี่ เอส โดยให้ลูกชาย ชื่อ ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 12 ปี เป็นผู้ใช้งาน  ซึ่ง ด.ช.เอ เปิดเผยว่า ได้เล่นเกมคุกกี้รันมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร จนกระทั่งไปเปิดในยูทูบ พบเว็บไซต์หนึ่งบอกว่าสามารถซื้อเพชรในเกมคุกกี้รันได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียเงิน ตนจึงทำตามวิธีการตามในยูทูบ และก็ได้เล่นเกม รวมถึงซื้อเพชรในเกมตามอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้สนใจอะไร จนกระทั่งมาเกิดเรื่องดังกล่าว ไม่คาดคิดว่าจะต้องมาทำให้พ่อแม่เดือดร้อน อยากจะฝากเป็นอุทาหรณ์ให้เพื่อนๆ ที่เล่นเกมในโทรศัพท์ว่าควรระวังและตรวจสอบให้ดีๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนแบบนี้ก็ได้

ais-google-play

จากเนื้อข่าวดังกล่าว  หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมการเรียกเก็บเงินซื้อไอเทมในเกม LINE ถึงเรียกผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ  เพราะเราคงคุ้นเคยกับการซื้อไอเทมในเกมหรือซื้อแอพผ่านบัตรเครดิต/เดบิทมากกว่า  หลังจากไปสืบเสาะข้อมูลมา  คาดว่าน่าจะเป็นบริการใหม่ของทาง AIS ที่ชื่อว่า “Google Play Carrier Billing” ที่ให้ลูกค้า AIS สามารถซื้อแอพได้ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ  โดยยอดทั้งหมดจะมารวมในบิลเดียวกับค่าโทรรายเดือน  ไม่ต้องใช้บัตรเครดิตหรือเดบิทนั่นเอง

ปัญหาก็คือด.ช.เอ ตามในเนื้อข่าวคงจะสมัครบริการนี้ไปเองโดยไม่ทราบว่าต้องเสียเงิน  เพราะดูคลิปจากยูทูปมาแล้วคิดว่าสามารถซื้อเงินได้ฟรีจริงๆ  (ซึ่งในตอนแรกวิธีการในคลิปนี้อาจจะใช้ช่องโหว่ในเกมทำให้โกงเงินได้จริง  แต่ภายหลังทาง LINE น่าจะมีการปล่อยอัพเดทออกมาแก้ไขไปแล้ว)  ด.ช.เอ จึงหลงกดซื้อเพชรไปเรื่อยๆโดยไม่รู้  อีกทั้งทางเครือข่ายผู้ให้บริการก็ไม่ได้มีการจำกัดวงเงินการซื้อเอาไว้  ท้ายที่สุดเลยกลายมาเป็นบิลเรียกเก็บเงินจำนวนมหาศาลตามในข่าว

ถือเป็นอุทธาหรณ์ที่นำมาฝากเพื่อนๆให้ระวังกันไว้  สำหรับใครที่จะใช้บริการซื้อแอพฯผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ก็ควรจะตั้งรหัสผ่านล๊อคไว้ให้ดีๆ  อย่าปล่อยให้เด็กเอาไปเล่นเองได้  ส่วนตัวสมิตยังคิดว่าการซื้อแอพผ่านบัตรเดบิทหรือบัตรเงินสดน่าจะยังปลอดภัยกว่าการซื้อผ่านวิธีอื่นๆ  เพราะมีวงเงินแน่นอน  ต่อให้ใครเอาไปเล่นหรือถูกแฮคก็ยังจ่ายไม่เกินวงเงินที่มีอยู่ค่ะ

 

อ้างอิงจาก ไทยรัฐ

 

 

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here