“GEN C” (Connectedness) ยุคที่ผู้คนมีความต้องการใช้เทคโนโลยีอย่างมหาศาล แต่ “เทคโนโลยีจะไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ถ้าคนไม่ปรับตัวตาม” ดังนั้นคำถามคือ ทุกวันนี้เราจะใช้ชีวิตร่วมกับมันยังไงดีให้คุ้มค่าที่สุด ใช้มันยังไงให้เกิดประโยช์นสูงสุด เราต้อง Connect กับอะไรบ้าง ถึงจะเรียกว่า “Connected Life” ที่แท้จริง
โลกแห่งการเชื่อมต่อ ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเหมือนอวัยวะที่ 34 (33 คือสมาร์ทโฟน) ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับมนุษย์เราไปเสียแล้ว เราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลหรือพูดคุยกับคนทั้งโลกได้ทุกสถานการณ์ อย่างไปข้างนอกก็ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน กลับมาบ้านก็เปิดคอมเล่นอินเทอร์เน็ตต่ออีกไม่รู้จบ ด้วยการที่เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นแบบนี้เอง ก็เป็นเหตุให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือธุรกิจแปลก ๆ ตามมาให้เพียบ ทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดยุคใหม่ที่เรียกว่า “GEN C” (Connectedness) ยุคที่ผู้คนมีความต้องการใช้เทคโนโลยีอย่างมหาศาล แต่ “เทคโนโลยีจะไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ถ้าคนไม่ปรับตัวตาม” ดังนั้นคำถามคือ ทุกวันนี้เราจะใช้ชีวิตร่วมกับมันยังไงดีให้คุ้มค่าที่สุด ใช้มันยังไงให้เกิดประโยช์นสูงสุด เราต้อง Connect กับอะไรบ้าง ถึงจะเรียกว่า “Connected Life” ที่แท้จริง
อะไรคือ Gen C
หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า Baby Boomers หรือ Generation X, Y, Z ที่หมายถึงกลุ่มประชากรที่เติบโตตามยุคสมัยต่าง ๆ จนมีพฤติกรรมแตกต่างไปตามเวลา แต่เมื่อประมาณปี 2013 ก็ได้มีการบัญญัติชื่อกลุ่มใหม่อีกครั้ง ในชื่อว่า “Generation C” (Gen C) โดย C ย่อมากจากคำว่า “Connectedness” หมายถึงการเชื่อมต่อถึงกันนั่นเอง กลุ่มนี้เกิดจากการรวมกลุ่มประชากรใน Gen Y กับ Gen Z เข้าด้วยกัน ที่ทั้งสองถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับยุคดิจิตอลมากที่สุด เมื่อรวมกันจนกลายเป็น Gen C แล้ว ก็จะหมายถึง “กลุ่มพิเศษ” คือกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมาก ทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนพกติดตัวตลอดเวลา สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้หลากหลาย ง่าย ๆ ก็วัยรุ่นในยุคนี้นั้นแหล่ะครับ
Connected Life คืออะไร
ปัจจุบัน เราใช้อินเทอร์เน็ต (สมัยใหม่) เชื่อมต่อกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวันมาก ๆ เช่น อ่านข้อมูล (Content) ออนไลน์, ดูคลิปวิดีโอ, คุยแชท, ส่องโซเชียล, ทำธุรกรรมผ่านเน็ต ฯลฯ แต่ถ้าถามว่า แล้วอะไรคือ “Connected Life ที่แท้จริง” แน่นอนว่า ไม่ได้หมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกวัน แต่หมายถึง “การเชื่อมต่ออินเทอร์ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเรามากที่สุด” ต่างหาก
เดี๋ยวนี้ทุกคนคงใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นกันหมดแล้ว แต่เชื่อว่า อาจมีบางคน ยังไม่รู้วิธีใช้งานแบบนั้น ใช้งานแบบนี้ ที่มันช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิม หรือยังใช้งานได้ไม่ครบถ้วนพอ ไม่ก็ใช้งานแบบผิด ๆ ไปเลยก็มี ดังนั้น ผมจึงขอเอาตัวอย่างการใช้งานอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ เท่าที่คิดว่าจำเป็นที่สุดแล้ว แบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ จะได้ไปลองเช็คดูว่า เราขาดอะไรไปไหม มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ตามนี้
1.เข้าถึงคลังความรู้
อินเทอร์เน็ตก็เป็นเสมือนห้องสมุดขนาดยักษ์ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปค้นหาสิ่งที่ตัวเองสงสัยได้ทุกอย่างและทุกเวลา แน่นอนว่า “Google (อากู่)” จะเป็นตัวเลือกแรกเสมออย่างไม่ต้องสงสัย แต่จากนี้ไปพยายามเปิดให้น้อยครับ!! จริงอยู่ที่ Google มันมีประโยชน์ในด้านนี้มาก ๆ แต่เรามักจะได้ข้อมูลเป็นครั้งคราว ไม่ก็ข้อมูลสั้น ๆ จากนั้นก็ลืม… แต่ถ้าเราเจอแหล่งข้อมูลเฉพาะ แล้วเรา “สิง” ที่แหล่งข้อมูลนั้นไปเลย จะทำให้เราได้รับข้อมูลใหม่ ๆ เสมอ แบบยังไม่ทันเปิดหน้า Google เราก็ร้องอ่อก่อนแล้ว แบบนี้จะดีกว่าหรือเปล่า
ลองติดตามเว็บที่ได้มาจาก Google ดูหน่อย
แม้จะบอกว่าเปิด Google ให้น้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เลิกเข้าเว็บนี้ไปเลย ในการเสิร์ชหาข้อมูลทุกครั้ง เรามักจะได้เห็นเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมายที่เราไม่เคยเห็น ทว่า ส่วนใหญ่พวกเราหลังอ่านข้อมูลในเว็บนั้นเสร็จปุ๊ป เราก็กดปิดปั๊บทันที แล้วก็ลืมชื่อเว็บนั้นไปตลอดกาล เปลี่ยนใหม่ครับ หลังอ่านเสร็จ ลองดูว่าเว็บนี้มีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจอีกไหม ถ้าดูแล้วเว็บนี้ผ่าน ก็ให้จดจำเว็บนี้เลย พยายามดูว่ามันเป็นเว็บอะไร แนวไหน จะได้จำง่าย ๆ ต่อไปเราจะได้มีข้อมูลอัพเดตใหม่ ๆ ตลอด และทำให้เรามีความรู้มากขึ้นด้วย
ปุ่มมาร์กในเว็บเบารเซอร์
ไหน ๆ ก็อยู่ในยุค Gen C ทั้งทีแล้ว จะเอาปากกาจดชื่อเว็บ (ตามข้างต้น) ก็ดูอินดี้ไปหน่อย เพื่อให้เป็น Connected Life ที่แท้จริง โปรดใช้ฟีเจอร์ “ปุ่มมาร์ก” ของเว็บเบารเซอร์ให้เป็นประโยชน์ ปุ่มมาร์กคือฟีเจอร์ช่วยจดจำชื่อเว็บไซต์ที่เราสนใจหรือต้องการอ่านภายหลัง โดยมันจะบันทึกรายชื่อเว็บดังกล่าวเอาไว้ใน “กล่อง” ของมัน ทำให้เราสามารถย้อนกลับมาเข้าเว็บ ๆ นั้นได้ตลอด จึงถือเป็นเครื่องมือที่ดีเลย สำหรับคลังความรู้แบบใหม่นี้ และที่สำคัญ เราสามารถกดปุ่มนี้ในสมาร์ทโฟนก็ได้ด้วย แต่หากปุ่มมาร์กยังไม่สะดวก ขอแนะนำแอพฯ “Pocket” เลยครับ
ตัวอย่างการกดปุ่มมาร์กในเว็บเบารเซอร์ Google Chrome
กดปุ่ม Like แฟนเพจผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หลายคนที่เล่น Facebook เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องมีการกด Like หรือติดตามแฟนเพจข่าวหรือแฟนเพจคนมีชื่อเสียงมากมายอยู่แล้ว แต่ในบรรดาแฟนเพจที่มีอยู่มากมายนั้น มันจะมีกลุ่มหรือบุคคลพิเศษ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบรู้ลึกจริง คอยโพสต์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมีสาระอยู่บ่อย ๆ ที่หาไม่ได้ตามแฟนเพจที่เราติดตาม เช่น
- อยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ : “เชื่อกู Trust me, I’m a physicist.”, “Jessada Denduangboripant” (อ.เจษฎ์)
- อยากรู้เรื่องภาษาอังกฤษ : “Slang A-hO-lic” , “อาจารย์ อดัม” , “engVid”
- อยากรู้เรื่องสุขภาพ/แพทย์ : “เชื่อแมวเหอะ(รู้ไหมว่าตัวเองโดนหลอก)”, “ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว”,
- อยากรู้เรื่องหุ้นหรือเศรษฐกิจ : “มั่วหุ้น : การวิเคราะห์หุ้นมั่วๆ” , “งงหุ้น” , “แมงเม่าคลับ”
- อยากรู้เรื่องดาราศาสตร์ : “สมาคมดาราศาสตร์ไทย”, “มติพล ตั้งมติธรรม”
แล้วจะหาพวกเค้าเหล่านี้ได้ยังไง ? ง่าย ๆ ครับ ไปที่ Google (เพิ่งเตือนไปแหมบๆ ) แล้วพิมพ์ “เพจ สอน…..” อยากรู้เรื่องอะไรให้เขียนตามท้ายเลยครับ มันจะมีคนแนะนำให้เอง หรืออีกวิธีคือ ให้ไปส่องดูที่ช่อง “ถูกใจโดยเพจนี้” ในแฟนเพจที่กำลังติดตาม สมมุติอยากรู้ว่า มีแฟนเพจเกี่ยวกับหุ้นไหนอีกบ้าง ลองมาส่องดูในหน้านี้ก็ได้ครับ เราอาจจะได้แฟนเพจเชี่ยวชาญ เพิ่มเข้ามาอีกเพียบเลยก็ได้
2.เข้าถึงข่าวสาร
ในยุคนี้ มีหลายคนนิยมอ่านข่าวในโลกออนไลน์มากกว่าข่าวในทีวีหรือหนังสือพิมพ์เสียอีก เนื่องจากมันเข้าถึงง่ายกว่ามาก และมีข้อมูลละเอียดกับความไวยิ่งกว่า แต่อย่างไรก็ตามข่าวในเน็ต กลับมีช่องโหว่ร้ายแรงอย่างหนึ่งเลยคือ “ข่าวลวง” ด้วยความที่เสรีสุด ๆ ของโลกออนไลน์ ทำให้มีคนกุข่าวที่ไม่เป็นความจริง และหลอกให้คนเชื่อ (เชื่อกันเยอะด้วย) จนสร้างความเสียหายมานักต่อนักแล้วนี้เอง ดังนั้นอีกหนึ่ง Connected Life ที่สำคัญมาก ๆ และควรรู้เป็นอย่างยิ่งเลยคือ
ติดตามแหล่งข่าวเชื่อถือได้เท่านั้น
แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มันเป็นอะไรที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่า แล้วจะหาจากที่ไหนล่ะ? นี้แหล่ะคือประเด็น ก่อนอื่นมาพูดถึงพฤติกรรมอ่านข่าวของคนในยุคนี้ก่อน คนไทยส่วนมากและอีกมาก ๆ นิยมอ่านข่าวจาก Facebook เป็นหลัก (เพราะเข้าถึงได้ง่ายที่สุดแล้ว) โดยแต่ล่ะคนเลือกที่จะกดติดตามแฟนเพจของสำนักข่าวมีชื่ออย่าง ไทยรัฐ ข่าวสด เดลินิวส์ บางกอกทูเดย์ เนชั่น ฯลฯ หรือ CNN, NBC, BBC, Reuters ฯลฯ สำนักข่าวเหล่านี้เอง ก็ถือเป็นแหล่งข่าวหลักที่สำคัญ และมีความถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ !! แล้วทำไมถึงยังมีเหตุการณ์ข่าวลวงระบาดอยู่ล่ะ
นั้นก็เพราะ ทุกคนไปเชื่อข่าวที่มาจากใครก็ไม่รู้ จากการแชร์ต่อ ๆ กันมาที่ไม่มีที่มาชัดเจน หรือจากพวกเว็บ “Clickbait” เป็นต้น ข่าวในนี้ส่วนมากจะเป็นข่าวที่ชวนน่าตกใจ หรือขึ้นหัวข้อชวนให้คลิกอ่าน เช่น “แชร์ด่วน…” กับ “แล้วคุณจะต้องอึ้ง…..” หากเจอข่าวจำพวกนี้ ให้นึกไว้ก่อนเลยว่า “มั่วหรือเปล่า ?” เพราะมักจะเป็นข่าวลวงเสมอ
แยกข่าวลวงให้ออก
หากเจอข่าวที่ดูไม่น่าเชื่อตามข้างต้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือ “มีข่าวแบบนี้อีกไหม” คือไปไล่หาดูว่า มีสำนักข่าวที่ไหน นำเสนอข่าวแบบเดียวกันหรือเปล่า ถ้ามีเยอะ และมีแหล่งข่าวดังเสนอด้วย ก็ถือว่าน่าเชื่อถือมาก ๆ แล้ว แต่บางคนไม่มีเวลามากพอที่จะไปพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข่าวทั้งหมดที่เราได้รับแน่ๆ ดังนั้นจึงมีอีกวิธีนอกเหนือจากการเทียบข่าวคือ
- อ่าน Comment : ในแหล่งข่าวทุกที่ จะต้องมีช่องสำหรับแสดงความคิดเห็น หรือ Comment ในนี้เอง บางครั้งจะมีคนมาบอกว่าข่าวนี้จริงหรือไม่จริง ถ้ามีคนแสดงความคิดเห็นแนวนี้ ก็ให้ระแวงข่าวลวงไว้เลยครับ แต่ต้องดูความคิดเห็นของคนอื่น ๆ ประกอบด้วยนะ เพื่อความชัวร์
- หาแหล่งที่มา : ในเว็บข่าวออนไลน์ หากเป็นข่าวที่แปลจากต่างประเทศ จะต้องมีการแนบ “ลิงค์” แหล่งที่มาหรืออ้างอิงไว้เสมอ พยายามลองคลิกข่าวไปอ่านด้วย เพื่อดูว่าโอเคไหม (ดูไม่ยาก) แต่ถ้าเป็นข่าวภายในประเทศเราเอง อันนี้ต้องกลับไปใช้วิธีเทียบข่าวหรืออ่าน Comment แทนครับ
- เชื่อแหล่งข่าวใหญ่ดีที่สุด : ถือเป็นวิธีสุดท้ายและเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว เพราะหากเป็นแหล่งข่าวใหญ่ หรือเว็บข่าวที่มีสำนักเป็นตัวเป็นตนจริง พวกนี้จะมีข่าวที่มีความถูกต้องมานำเสนอแน่นอน เพื่อเอาเครดิตหรือชื่อเสียงไปสู้กับคู่แข่งสำนักอื่น ๆ อยู่แล้ว หากเสนอข่าวลวงซะเอง จะกลายเป็นความเสียหายที่ไม่คุ้มเสี่ยงแน่ ๆ
ใช้แอพฯ คัดกรองข่าว
ถือเป็นวิธีที่ค่อยดูเป็น Connected Life ขึ้นมาหน่อย นั้นคือการไปหาโหลดแอพฯ จากสำนักข่าวใหญ่ เช่น แอพฯ MY THAIRATH, Post Today, Nation News ฯลฯ เพื่ออ่านข่าวแบบทันใจ ก็เป็นอีกช่องทางอ่านข่าวออนไลน์แบบไม่มั่วได้ดีไม่น้อย หรือหาโหลดแอพฯ “App Feed” ที่ทำหน้าที่คัดกรองข่าวโดยเฉพาะ ที่มีการตรวจสอบมาบ้างแล้ว และมีการอัพเดตข่าวจากทุกสำนักด้วย เช่น แอพฯ Thai News (ใช้ได้ทั้ง Android และ iOS) ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเหมือนกัน
3.เข้าถึงสังคมออนไลน์
สำหรับข้อนี้คงไม่ต้องบรรยายความหมายอะไรมาก ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้วแน่นอน แต่ผมกลับเชื่อว่า ทุกคนยังไม่เข้าใจถึง “พลัง” ของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) มากเท่าไรนัก เนื่องจากยังมีคนใช้สื่อตัวนี้ สร้างความเสียหายให้ผู้อื่นอยู่เรื่อย ๆ จะทั้งเจตนาก็ดีหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (บ่อยมาก) ก็ดีว่ากันไป ดังนั้นอันดับแรก ขอทุกคนจำให้ขึ้นใจก่อนเลยว่า “สื่อสังคมออนไลน์คือดาบสองคม” มันสามารถช่วยเหลือคนได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำลายคนได้เช่นกัน โดยมันจะทั้งช่วยเหลือหรือทำลายยังไง และทุกคนควรรู้จัก “ข้อห้าม” อะไรบ้าง มีดังนี้ครับ
ข้อดีของสื่อสังคมออนไลน์
ตัวอย่างการโพสต์ตามหาคนหาย แล้วมีคนช่วยกันหาจนเจอ
สื่อสังคมออนไลน์มีข้อดีมหาศาลมาก อย่างแรกเลยคือ มันเป็นทั้งคลังความรู้ขนาดย่อม (แต่แอบแน่นกว่า Google เสียอีก) กับเป็นแหล่งแจ้งเกิดผลงานหรือธุรกิจต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักมาแล้วมากมาย จนเกิดรายได้ในที่สุด บางครั้งก็เป็นกระบอกเสียง ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรต่าง ๆ ได้อีกด้วย และสุดท้าย สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ ได้ หรือไว้คลายเคลียด (ระบาย) ให้เรามีความสบายใจขึ้นก็ได้อีกเช่นกัน
ข้อเสียของสื่อสังคมออนไลน์
ตัวอย่างการแอบถ่ายแล้วประจานบุคคลนั้นแบบไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน
ส่วนข้อเสีย ก็ไม่แพ้ข้อดีเลยคือ จากที่บอกว่าคลังความรู้ขนาดย่อม แต่บางครั้งเราอาจจะเจอข้อมูลปลอมจากผู้ไม่หวังดี จนเกิดความเสียหาย (อย่างมาก) เป็นวงกว้าง ส่วนแจ้งเกิดก็แจ้งดับได้ อย่างหากมีคนเอาเรื่องที่ไม่ดีของบริษัทนั้นมาเผยแพร่ ก็ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของบริษัทนั้นติดลบทันที จนถึงขึ้นเจ๊งไปเลยก็มี อีกส่วนที่ตอกย้ำถึงพลังของสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดีเลยคือ การเป็นกระบอกเสียงที่เคยทำให้ชีวิตคน ๆ หนึ่งดับอนาจมาแล้ว จากการรุมประณามนั้นเอง สุดท้าย ไว้เป็นที่คลายเคลียด แต่มีโอกาสที่จะเคลียดกว่าเดิมได้เหมือนกัน (ใน Pantip หรือ Facebook จะเห็นบ่อยมาก)
5 ข้อห้ามที่ไม่ควรทำเด็ดขาดบนโลกออนไลน์
- โพสต์เรื่องส่วนตัว : บางคนอาจจะมีปัญหาชีวิต ก็เลยขอโพสต์เรื่องส่วนตัวเพื่อหวังให้มีคนมาให้กำลังใจ แต่รู้ไหมว่า สื่อสังคมออนไลน์ มันคือใบหน้าที่ 2 ของเราเลยนะ แล้วทุกคนทั้งเพื่อน (และไม่ใช่เพื่อน) จะเห็นกันหมดทุกคน หมายความว่า เรื่องส่วนตัวอาจทำให้เรา “เผลอเผยอีกด้านที่คนอื่นไม่ควรเห็น” จนเกิดเป็นภาพลบของตัวเราได้ง่าย ๆ เลยครับ
- ปล่อยข่าวลือหรือข้อมูลมั่วซั่ว : อย่าลืมว่า “พรบ คอมพิวเตอร์” มันมีแล้วนะครับ มีกฎหมายควบคุมชัดเจน แต่สิ่งที่คนเหล่านี้จะโดนกันมากที่สุดเลยคือ “หมิ่นประมาท” เผยแพร่ข้อมูลเท็จจนทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาทิตัดต่อภาพ โพสต์ตำหนิบุคคลหรือองค์กรแต่ไม่เป็นความจริง (ใส่ร้ายป้ายสีนั้นแหล่ะ) มีโทษปรับ 100,000 บาท จำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ…
- อ่านแต่หัวข้อข่าว : ในบางครั้งหัวข้อข่าวที่สื่อออนไลน์สมัยนี้ มักจะขึ้นหัวข้อไม่ชัดเจน จนนำไปสู่การเข้าใจผิดได้ และก็จะมีหลายคนเชื่อ (จากปุ่ม “แชร์”) สุดท้ายเกิดเป็นความเสียหายในที่สุด สรุปสิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ “เพิ่มโควตาอ่าน 8 บรรทัด” เถอะครับ มากกว่านี้ยิ่งดี แล้วชีวิตเราจะดีขึ้นเยอะ
- เผยแพร่ที่อยู่ของตัวเอง : เช่น การ Check in ใน Facebook หรือโพสต์ว่าเรากำลังจะไปไหน การแชร์ข้อมูลเหล่านี้ อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดี มาเยี่ยมถึงตัวได้ง่าย ๆ ครับ (แม้โอกาสที่จะเกิดจะน้อยนิดมาก ๆ ก็ตาม)
- หมิ่นสถาบัน : เป็นข้อที่ทุกคน ควรจำให้ขึ้นใจไปถึงแก่นเลยครับ การโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะทั้งในเว็บ Blog ในเว็บไซต์ของเราเอง หรือใน Social Network “มีคนเห็นหมดครับ” สิ่งที่จะตามมาคือ มาตรการลงโทษอย่างจริงจัง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกถึง 15 ปี