ไมโครซอฟท์ ผนึกกำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือด้านนวัตกรรมครั้งแรก ผ่าน Chula Engineering Innovation Hub ต่อยอดนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมชูเยาวชนไทยทีม PH21 แชมป์โลกจากเวที Imagine Cup 2016 เป็นนวัตกรตัวอย่าง
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังประกาศความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม (Partnership for Innovation) ที่จุดประกายจากสถาบันอุดมศึกษาเป็นครั้งแรก ผ่าน “ศูนย์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (Chula Engineering Innovation Hub) นำเทคโนโลยีมาต่อยอดผลงาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมยกย่องทีม PH21 (พีเอช เทเวนตี้วัน) ตัวแทนนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างสรรค์เกม “Timelie” (ไทม์ไลน์) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก สาขาการพัฒนาเกม จากรายการ Imagine Cup 2016 (อิมเมจิ้น คัพ 2016) เป็นนวัตกรตัวอย่าง
ภายใต้ความร่วมมือผ่าน Chula Engineering Innovation Hub เพื่อมุ่งสร้างวิศวกรยุคใหม่ที่มีความรู้และความสามารถรอบด้าน ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเทคโนโลยีแก่บุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Train the Trainers) รวมถึงการมอบซอฟต์แวร์และเครดิตการใช้งานคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ (Microsoft Azure) มูลค่าสูงสุด 120,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ผ่านโครงการ “ไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค” (Microsoft BizSpark) กับกลุ่มนิสิตที่มีศักยภาพและมีโครงการนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ (startup) เพิ่มเติมจากเดิมที่นิสิตสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย เปิดกรอบความรู้ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน ในโครงการ Microsoft Imagine (ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น) ที่ไมโครซอฟท์ได้มีการสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ อยู่แล้ว
รศ. ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพร้อมทางด้านบุคลากรและนิสิตที่มีศักยภาพ และ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทไอทีระดับโลก ในการต่อยอดนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาพื้นฐานด้านดิจิทัลและไอที ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของโครงการ Chula Engineering Innovation Hub ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์แห่งนวัตกร ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตวิศวกรยุคใหม่ (Innovative Engineer) ที่มีความสามารถและพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอันยิ่งใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของไมโครซอฟท์ คือ การสนับสนุนภาคการศึกษาในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก ประเทศไทยในยุค 4.0 จำเป็นต้องมีบุคคลากรที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว พร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแบบองค์รวม”
“ไมโครซอฟท์ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการอิมเมจิ้น คัพ (Imagine Cup) หรือ โครงการบิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) และล่าสุดความร่วมมือผ่าน Innovation Hub ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตนวัตกรคุณภาพของประเทศ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเป็นคณะนำร่องความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับหน่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งไมโครซอฟท์ มีแผนจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ” นางสาวศิริพร กล่าวเสริม
นายปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ ตัวแทนทีม PH21 ที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก สาขาการพัฒนาเกม จากการแข่งขัน Imagine Cup 2016 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า “โครงการ Imagine Cup 2016 เป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการจากไมโครซอฟท์ที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และยังเป็นเวทีที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้พวกผมได้แสดงศักยภาพของตัวเองแล้ว ยังได้เห็นศักยภาพของคนอื่น ซึ่งเป็นคนที่มีความมุ่งหวังเดียวกันจากทั่วโลก เกม “Timelie” เป็นเกมที่พวกเราได้พัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีความมั่นใจเป็นอย่างมาก แต่การจะเอาชนะใจกรรมการ เราต้องมีการฝึก soft skill อื่นๆ ด้วย โดยเราได้พี่ๆ จากไมโครซอฟท์ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และดูแลตลอดการแข่งขันที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าและน่าประทับใจที่ไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ และเมื่อทราบว่าทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จับมือกับไมโครซอฟท์ผ่านโครงการ Innovation Hub ทำให้พวกผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะพี่ๆ น้องๆ ชาววิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ผ่านเทคโนโลยีระดับโลกจากไมโครซอฟท์ และยังจะได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียนจากผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยความสามารถและมีคุณภาพระดับโลกจากไมโครซอฟท์โดยตรงอีกด้วย”
ไมโครซอฟท์ นับเป็นบริษัทไอทีระดับโลกที่ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพในประเทศไทยกว่า 400 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค และมีนักศึกษาเคยเข้าร่วมการแข่งขัน Imagine Cup กว่า 10,000 คน นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่มีสถิติที่ยอดเยี่ยมในการแข่งขัน Imagine Cup ระดับโลก ด้วยตำแหน่งแชมป์โลกในระดับสาขาถึง 4 ครั้ง จากการแข่งขันทั้งสิ้น 14 ครั้ง สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้วในปี พ.ศ. 2550, 2553, 2555 และล่าสุด 2559 กับผลงานของทีม PH21 นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) พบว่าภาพรวมการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตราว 4.4 % มูลค่ากว่า 54,893 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 จะยังเติบโต 4.3% มูลค่ารวมกว่า 57,257 ล้านบาท