[Top Story] หากจะให้กล่าวถึงเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2024 นี้ ก็พูดได้เลยว่ากว่าครึ่งต้องเป็นเรื่อง Artificial Intelligence หรือ AI อย่างแน่นอน เพราะปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการแข่งขันด้าน AI ที่ดุเดือดที่สุด ต่างฝ่ายต้องงัดกลยุทธ์และบริการ AI อย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Apple ที่ได้ประกาศลงสนามแข่งนี้อย่างเต็มตัวแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ‘OpenAI’ ก็ยังเป็นบริษัทผู้นำบริการด้าน AI เช่นเคย โดยในปีนี้เองก็ได้เปิดตัว GPT-4o ที่ส่งผลให้มีผู้ใช้ ChatGPT เพิ่มขึ้นเท่าตัว จนพุ่งถึง 200 ล้านรายภายในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
OpenAI มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ทำไมถึงถูกเรียกว่าเป็นผู้นำบริการด้าน AI เปลี่ยนวงการ AI ไปมากแค่ไหน และในปี 2025 จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ลองมาดูสรุป Timeline ที่สำคัญ และการคาดการณ์อนาคตจากบทความนี้กันครับ
GPT Store ค้นหา ChatGPT เวอร์ชั่นที่ “ใช่” สำหรับตัวเรา
ประเดิมเดือนมกราคม 2024 ทาง OpenAI ได้เปิดตัว GPT Store บริการช่วยให้ผู้ใช้ สามารถเลือกใช้งาน ChatGPT ที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะเป็น AllTrails ช่วยวางแผนเส้นทางวิ่ง , Consensus ช่วยวิเคราะห์งานวิจัย , Code Tutor ช่วยสอนวิธีเขียนโค้ดคอมฯ (จากทาง Khan Academy) , Canva ช่วยแนะนำงานออกแบบ , Books แนะนำหนังสือ และ CK-12 Flexi ครู AI ช่วยสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
จากการเปิดตัวนี้เอง ทำให้ ChatGPT กลายเป็นบริการ AI ที่เน้นการใช้งานอย่างจริงจัง หลังลองผิดลองถูกมากว่า 2 ปี (พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อเทรนมานาน) ในที่สุดก็ได้บริการ ChatGPT ระดับมืออาชีพ ที่เป็นมากกว่า Chatbot ทั่ว ๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม GPT Store เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ ChatGPT Plus , Team และ Enterprise เท่านั้น
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://openai.com/index/introducing-the-gpt-store/
เปิดตัว Sora สร้างคลิป 1080p ได้ความยาว 1 นาที
ต่อกันที่เดือนกุมภาพันธ์ OpenAI ยังคงไฟแรงต่อเนื่อง โดยรอบนี้ได้เปิดตัวเครื่องมือสะเทือนวงการอย่าง Sora บริการ AI ช่วยสร้างคลิปวิดีโอเสมือนจริง บนความละเอียดระดับ 1080p หรือ Full HD ได้ยาว ๆ ถึง 1 นาที สำหรับวงการภาพยนตร์นั้น การจะได้ฟุตเทจความยาว 1 นาทีนั้น อาจใช้เวลาถ่ายกว่า 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ทว่าการมาของ Sora อาจช่วยลดช่องว่างดังกล่าวได้
โดยจุดเด่นของ Sora นั้น ก็สามารถสร้างฉากพื้นหลัง รวมถึง ‘บุคคล’ หรือ ‘วัตถุ’ ที่ปรากฏเป็นคลิปวิดีโอได้ยาว ๆ 60 วินาที ซึ่งการสร้างนั้นก็มีความแม่นยำสูงมาก ไม่ดูเป็นภาพซับซ้อนและความละเอียดน้อยเหมือนบริการ Gen AI ตัวอื่น ๆ ทั้งยังสร้างช็อตหลาย ๆ ช็อตได้ภายในคลิปเดียว
ปัจจุบัน Sora เปิดให้ใช้บริการแล้ว (แต่ยังไม่ 100%) โดยใช้ได้เฉพาะผู้ใช้ ChatGPT Plus หรือ Pro แบบมีค่ารายเดือนเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้ ChatGPT Pro สามารถสร้างคลิป Full HD ได้ความยาวสูงสุด 20 วินาที ซึ่งในอนาคตอาจได้เต็ม ๆ ที่ 1 นาที และอาจมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ลองใช้งาน Sora ได้ที่ https://openai.com/sora
ใครเขียน ? [มนุษย์] หรือ [AI] พิสูจน์ด้วย AI Text Classifier
ในตอนที่เปิดตัว Sora เดือนนั้นเอง ไม่นานทาง OpenAI ก็ได้เปิดตัว AI Text Classifier เครื่องมือช่วยเช็คว่า บทความนี้ กลอนบทนี้ หรืองานเขียนชิ้นนี้ ใช้ [มนุษย์] หรือ [AI] เขียนกันแน่ สืบเนื่องจาก ChatGPT มีความอัจฉริยะขึ้นมาก จนมีคนเอาไป ‘ลักไก่’ ช่วยเขียนงานหรือทำการบ้านแทน ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นเลยว่าบริการ AI ของ OpenAI นี้ เป็นเครื่องทุนแรงชั้นเยี่ยม ทว่าอาจเยี่ยมจนเกินไป…
ทาง OpenAI ก็ไม่นิ่งนอนใจ จึงได้พัฒนา AI Text Classifier มาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยสามารถระบุข้อความต่าง ๆ ที่มีความยาวอย่างน้อย 1,000 ตัวอักษรได้เลยว่า เขียนโดยมนุษย์หรือ AI มากกว่ากัน ตัวอย่างการทำงาน หากพบว่าเป็นข้อความที่มนุษย์เขียน จะมีขึ้นบอกเลยว่า unlikely หรือ very unlikely เป็นไปไม่ได้ที่ AI เขียน แต่หากพบเป็นว่า AI เขียนเอง ก็จะขึ้นคำว่า possibly แทน
หากใครอยากลองใช้เครื่องมือ AI Text Classifier นี้ สามารถลองได้ที่ https://platform.openai.com/ai-text-classifie
กำเนิด GPT-4o บริการ AI โลกตะลึง
เข้าสู่เดือนพฤษภาคม OpenAI ก็ยังขยันเหมือนเคย แต่รอบนี้ได้พลิกโลกด้วยการเปิดตัว GPT-4o บริการ AI ที่หลายคนแทบพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “คล้ายมนุษย์” อย่างที่สุด ความพิเศษคือ การตอบโต้กับผู้ใช้ได้แทบทันที และยังมีการนำเสียงในการพูดคุยที่เหมือนมนุษย์มาก
สำหรับตัว GPT-4o (“o” มาจากคำว่า “Omni”) ถือเป็นโมเดลภาษาตัวใหม่เลย โดยทาง OpanAI ชูเลยว่าดีกว่าโมเดลที่มีอยู่เดิมมาก เพราะสามารถทำความเข้าใจผู้ใช้ได้ทั้ง ข้อความ คำพูด และวิดีโอ โดยให้การตอบสนองแบบ Realtime และให้ตัวเลือกเสียงที่สื่ออารมณ์ได้หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย เช่น เปิดรายงานกีฬาสดให้ดู พร้อมขอให้อธิบายกฎของกีฬานั้น ตัว ChatGPT (ที่มี GPT-4o อยู่เบื้องหลัง) ก็จะทำการวิเคราะห์แล้วอธิบายกฎแบบออกเสียงเหมือนผู้บรรยายข้างสนามให้ฟังได้ทันที
หลังเปิดตัว GPT-4o ก็ส่งผลให้ OpenAI มีรายได้พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากการใช้งานนั้น จำเป็นต้องใช้ ChatGPT Plus (อีกแล้ว) คราวนี้ผู้ใช้ได้แห่อัปเกรด ChatGPT เป็น ChatGPT Plus ที่มีค่าบริการ 19.99 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 685 บาทต่อเดือน โดยคาดหวังว่าอาจได้ใช้ GPT-4o เร็วก่อนใคร จนมีรายรับสุทธิเพิ่มขึ้น 22% ในวันเปิดตัว ต่อมาก็กวาดรายรับสูงถึง 900,000 ดอลลาร์ฯ ซึ่งพุ่งขึ้นเกือบสองเท่า จากรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 491,000 ดอลลาร์ฯ ด้วย เรียกได้ว่า OpenAI ได้ทำให้ ChatGPT มีความน่าดึงดูด จนผู้ใช้หลายคนให้ความสนใจมากกว่าการสมัครใช้งาน Netflix ซะอีก
อนึ่งในช่วงนี้เอง OpenAI ได้ประกาศรองรับการใช้งาน ChatGPT ได้มากถึง 50 ภาษาด้วย ทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงบริการ AI ของตัวเองได้มากยิ่งขึ้นอีก
ChatGPT Search ท้าชน Google Search
ในเดือนกรกฎาคม คราวนี้ทาง OpenAI ได้ท้าชนกับ Google Search ด้วยการเปิดตัว AI Search Engine สำหรับใช้งานบน ChatGPT หรือ ChatGPT Search จะเรียกว่าเป็นการตัดหน้า Google เลยก็ว่าได้ เพราะตลอดที่ผ่านมา Google Search ครองผู้ใช้อันดับหนึ่งมาตลอด แต่ก็ยังไม่มีการนำ “Gimimi” บริการ AI ของ Google มาใช้อย่างจริงจัง
สำหรับตัว ChatGPT Search ก็สามารถช่วยให้ผู้ใช้ ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างแม่นยำ โดยมีตัว Chatbot ช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลที่กำลังหาโดยตรง พร้อมให้แนะนำลิงค์เว็บ URL ไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น ๆ แบบ Realtime เลย เท่ากับว่าข้อมูลที่ได้จะมีความสดใหม่ เชื่อถือได้นั้นเอง ไม่ใช่ข้อมูลเก่า ๆ ที่มาจาก Chatbot เหมือนก่อนแล้ว
หากใครสนใจ ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://openai.com/index/introducing-chatgpt-search/
ผู้ใช้ ChatGPT พุ่งถึง 200 ล้านราย
ในเดือนสิงหาคม ในที่สุด ChatGPT ก็มีผู้ใช้งานประจำมากถึง 200 ล้านคนต่อสัปดาห์ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่ทำให้ทาง OpenAI กลายเป็นผู้นำด้านบริการ AI สืบเนื่องจากความรวดเร็วของยอดผู้ใช้ โดยเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 (อนึ่ง ChatGPT เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2022) ทั้งนี้ยังมีสถิติน่าสนใจอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT มีผู้ใช้ 1 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 5 วัน เว็บไซต์ของ OpenAI มียอดเข้าชมมากกว่า 1.6 พันล้านครั้งต่อเดือน ChatGPT สามารถสร้างรายได้ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี และ OpenAI มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1.57 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นบริษัทผู้ให้บริการ AI ยักษ์ใหญ่ของโลก หลังเปิดตัว ChatGPT ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น
ChatGPT เวอร์ชั่นใช้งานบน Desktop
หลังท้าชนกับ Google แล้ว คร่าวนี้ (อาจจะ) ชนกับ Copilot+ ของ Microsoft ด้วย หลังเปิดตัว ChatGPT เวอร์ชั่นใช้งานบน Desktop ซึ่งสามารถเข้าถึงโมเดลต่าง ๆ ของทาง OpenAI ได้ทั้ง GPT-4o, GPT-4o with Canvas , 01-preview , 01-mini , GPT-4o mini และ GPT-4 รวมถึงการสร้างรูปภาพผ่าน Text หรือ DALL-E 3 ก็ได้เช่นกัน ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ของ ChatGPT ได้สะดวกกว่าการเข้าผ่านเว็บเบราเซอร์ และใช้งานได้เสถียรมากขึ้นด้วย
แต่ก็เช่นเคย ChatGPT เวอร์ชั่น Windows นี้ เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้รายเดือนหรือ ChatGPT Plus , Team , Enterprise และ Edu เท่านั้น สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://openai.com/chatgpt/download/
GPT-o1 โมเดลใหม่ ชวนคุยเรื่องคณิตหรือโค้ดคอมได้
“เราฝึกให้ใช้เวลาในการคิดเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ให้เสมือนกำลังคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา”
หลังมี GPT-4o ทาง OpenAI ก็พัฒนาอีกโมเดลหนึ่งอย่าง GPT-o1 โดยจะมีความแตกต่างกับตัว GPT-4o ชัดเจน ซึ่งโมเดลตัวใหม่นี้ จะมาเป็นสายคำนวนหรือวิชาการมาเลย โดยอาจใช้เวลาในการตอบคำถามมากขึ้น ทว่าแลกมากับการตอบที่ชาญฉลาด ระดับที่แก้โจทย์คณิตศาสตร์ในโอลิมปิกได้มากถึง 83% (ในขณะที่ GPT-4o แก้ได้เพียง 13%) กับช่วยดูเรื่อง Coding การเขียนโค้ดคอมฯ ได้อีกด้วย ถึงขั้นที่ปล่อยคลิปโชว์ทักษะด้านนี้แบบเน้น ๆ หลายคลิปกันเลย
ด้านซีอีโอ Sam Altman เผยด้วยว่า GPT-o1 เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดใหม่ แม้ตอนนี้จะยังมีข้อบกพร่องกับข้อจำกัดอยู่ แต่ก็ให้ความประทับใจในการใช้งานครั้งแรก เมื่อใช้เวลากับมันมากขึ้น ปัจจุบัน GPT-o1 เปิดให้ใช้งานบน ChatGPT Plus กับ Team สำหรับผู้ใช้ที่จ่ายรายเดือน และใน API สำหรับนักพัฒนาเท่านั้น ส่วนตัว ChatGPT เวอร์ชันฟรีอาจตามมาภายหลัง (ถือเป็นข่าวดีนะ)
คาดการณ์ ChatGPT ในปี 2025 (จากงาน 12 Days of OpenAI)
จากข้อมูล Timeline ที่สำคัญ ๆ ในปี 2024 ของทาง OpenAI ก็แสดงให้เห็นเลยว่า เป็นปีแห่งการ ‘ปูทาง’ เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แท้จริงในปีหน้านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวบริการ GPT Store , Sora , ChatGPT Search กับ Windows และโมเดลตัวใหม่อย่าง GPT-4o กับ GPT-o1 ที่ทำหน้าที่ต่างกัน โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็ทำให้ OpenAI มีงบมากพอที่จะพัฒนาบริการและโมเดลที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือเปิดตัวใหม่ได้อีก เช่นตัว o3 หรือ OpenAI o3 กับรุ่นย่อยอย่าง o3 Mini (ไม่เรียก GPT- แล้ว ?) ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขโจทย์คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่แก้ได้ยากโดยเฉพาะ ระดับที่ทำคะแนนได้มากถึง 87.7% จากการทดสอบปัญหาวิทยาศาสตร์ระดับผู้เชี่ยวชาญจากทาง ARC-AGI จะเรียกไว่าเป็นภาคต่อของ GPT-o1 ก็ว่าได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน และอาจได้เปิดให้ใช้งานจริงในเดือนมกราคมปี 2025 เร็ว ๆ นี้
สำหรับตัว OpenAI o3 ก็เปิดตัวในงาน 12 Days of OpenAI ที่เหมือนเป็นการสรุปความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและต่อไปของทาง OpenAI นั้นเอง โดยมีซีอีโอ Sam Altman มาร่วมพูดคุยด้วย ซึ่งหลัก ๆ ก็มีการเปิดตัว OpenAI o3 เตรียมเปิดให้ใช้งานในเดือนมกราคมปีหน้า มีบริการ Sora ที่จะเริ่มใช้งานอย่างจริงจังในปีหน้าแล้ว มีอัปเดตฟีเจอร์ Reinforcement Fine-Tuning ที่ช่วยให้ผู้ใช้ให้คะแนนหรือ ‘ช่วยฝึก’ การทำงานของโมเดล AI มีข้อมูลการรวมร่างระหว่าง ChatGPT เข้ากับ Apple Intelligence ใน iOS 18.2 การเรียกใช้งาน ChatGPT ผ่านเสียงขั้นสูงหรือ Advanced Voice Mode รองรับการใช้งาน ChatGPT บนแอปฯ ของ MacOS ใหม่ ๆ มากมายยิ่งขึ้น (เช่น BBEdit , MatLab , Nova , Script Editor และ TextMate)
ทั้งหมดก็กล่าวได้เหมือนเดิมคือ ปูทางสู่ปีหน้า และปีหน้าคือของจริง แน่นอนว่าทาง OpenAI เคลื่อนไหว ทางคู่แข็งอย่าง Google ก็ต้องเคลื่อนไหวตาม โดยไม่กี่เดือนก่อน ก็ได้เปิดตัวบริการใหม่ ๆ ของ Gimini มากมาย รวมถึง AI Search Engine ของตัวเองด้วย ฉะนั้นในปี 2025 จะเป็นปีที่เรามีเครื่องมือ AI ให้เลือกใช้งานหลากหลายมากกว่าเดิมแน่นอน แนะนำให้เลือกใช้งานกันให้ดี ๆ กันตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ