C asean ตอกย้ำการเป็นผู้นำศูนย์กลางความเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วน สู่การพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมดึง ยูนุส (Yunus) ต้นแบบแนวคิดระดับโลก Social Business ร่วมเสวนาใน C asean Sustainable Development Talk
บริษัท ซี เอ ซี จำกัด (C asean) ตอกย้ำการเป็นผู้นำของศูนย์กลางความเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยการจัด งานเสวนา C asean Sustainable Development Talk โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business ) มาช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ผ่านการเชื่อมโยงสู่คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความร่วมมือจาก ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมด้วย คุณมีชัย วีระไวทยะ ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของเมืองไทย โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ฯลฯ มาร่วมในงานเสวนาแนวคิดด้านความยั่งยืนระดับโลกในครั้งนี้ด้วย พร้อมด้วยเครือข่ายจากหน่วยงานทุกภาคส่วนอาทิ บริษัท เอกชนชื่อดังที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NGO สถาบันการศึกษา และตัวแทนจากรัฐบาล เพื่อสร้างกระแสการทำธุรกิจเพื่อสังคมให้ขยายในวงกว้างต่อไป
เกี่ยวกับรายละเอียดดังกล่าว คุณวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด เผยว่า “C asean เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงโอกาสในการมีส่วนร่วมพัฒนาภูมิภาคในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่เป็นพลเมืองอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการนำเอา Social Business concept มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนา C asean Sustainable Development Talk ครั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ สู่ความยั่งยืนต่อไปภายใต้แนวคิด Social Business โดยได้รับความร่วมมือจาก ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมด้วย คุณมีชัย วีระไวทยะ ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของเมืองไทย มาร่วมเสวนาแนวคิดด้านความยั่งยืนระดับโลกในครั้งนี้ด้วย”
คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เกิดจากกระแสเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development) และการนำเอาแนวคิด Social Business มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดการแข่งขันแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมทางรายการโทรทัศน์ที่ชื่อว่า “Win-Win WAR” เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ โดยจะเปิดรับสมัครกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะเปิดรับสมัครในเร็วๆ นี้ นอกจากนั้นยังจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลุกกระแสการตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
โดยทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส กล่าวว่า “ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนแบบทุนนิยมได้ชำรุดเสียแล้ว เนื่องจากมันนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ การว่างงานจำนวนมาก และการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มนุษยชาติและโลกของเรานั้นรอดพ้นเราต้องมีระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนวิสัยทัศน์ที่เที่ยงตรงเป็นจริงต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังทัดเทียมกับประโยชน์ส่วนตน” ในหนังสือ A World of Three Zeros มูฮัมหมัดยูนุสบรรยายไว้ว่าอารยธรรมใหม่เกิดขึ้นจากผลงานการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ของท่าน ได้สร้างแรงบันดาลใจและความท้าทายให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้นำธุรกิจ ผู้นำประเทศและผู้คนมากมายที่เข้าร่วมพันธกิจเพื่อขจัดผลกระทบของทุนนิยมที่เสรีที่เราไม่คาดคิดแต่เป็นภัยร้ายแรง และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้เจริญรุ่งเรือง
คุณมีชัย วีระไวทยะ กล่าวว่า “การจะสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำนั้น จะต้องเกิดจากการสร้างจิตสำนึกในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักแบ่งปันให้กับสังคมและคนรอบข้าง รวมถึงการหัดถามคำถามและคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แนวคิด วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าธุรกิจแบ่งปันจะได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมโดย C asean”
ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงศักยภาพความพร้อมของ C asean ในการเป็นผู้นำ และศูนย์กลางความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2563