- คนไทยกว่า 70% ตื่นเต้นที่จะออกท่องเที่ยวอีกครั้ง
- กว่า 80% หวังช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและชุมชน
- เกือบ 90% เต็มใจทำตามข้อปฏิบัติความปลอดภัยในยุค “นิวนอร์มอล”
ภาคการท่องเที่ยวไทยเตรียมปรับตัวรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่หลังโควิด-19 โดย Booking.com ผู้นำด้านการเดินทางในโลกดิจิทัล ได้นำผลการสำรวจข้อมูลผู้เดินทางมากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก* (รวมประเทศไทย) มารวมเข้ากับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเผย 9 การคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตของการเดินทาง ทั้งในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป
อยู่บ้านเป็นเวลานานยิ่งทำให้ผู้คนโหยหาการเดินทางมากขึ้น โดยในช่วงล็อกดาวน์ นักเดินทางชาวไทย 71% รู้สึกตื่นเต้นที่จะมีโอกาสได้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ในขณะที่ 77% ระบุว่ารู้สึกเห็นคุณค่าของการเดินทางมากขึ้นและจะไม่มองข้ามคุณค่าดังกล่าวอีก นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของนักเดินทางชาวไทย (65%) ปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม และอีก 60% ตั้งใจที่จะจองทริปที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้อีกครั้งหนึ่ง
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนมองหาความคุ้มค่าในทุกการจับจ่ายใช้สอย ไม่เว้นแม้แต่ด้านท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางชาวไทย 78% ให้ความใส่ใจกับราคามากขึ้นขณะวางแผนการเดินทาง และคนจำนวนเท่ากัน (78%) ยังมีแนวโน้มมองหาโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากขึ้น โดยพฤติกรรมเช่นนี้จะคงอยู่ไปอีกหลายปี
อย่างไรก็ตาม ความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคคาดหวังไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราคา โดยผู้เดินทางไทยจำนวน 4 ใน 5 (80%) ระบุว่าต้องการให้แพลตฟอร์มจองการเดินทางเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิก ขั้นตอนการคืนเงิน และตัวเลือกประกันการเดินทาง โดย 37% มองว่าตัวเลือกที่พักแบบยกเลิกฟรีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทริปถัดไป ที่สำคัญ ผู้เดินทางชาวไทย 87% สนใจที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ 84% อยากให้การจองการเดินทางของตนสามารถช่วยเหลือชุมชนให้ฟื้นตัวได้
เนื่องจากการท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องไกลตัวในปัจจุบัน การเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียงและท่องเที่ยวภายในประเทศได้กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และมักช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้มากกว่า โดยผู้เดินทางชาวไทย 61% วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7-12 เดือนที่จะถึง และ 53% วางแผนจะเดินทางในไทยในระยะยาว (ในช่วง 1 ปีขึ้นไป) ในแง่ของการเที่ยวใกล้ๆ คนไทย 36% วางแผนที่จะไปสำรวจจุดหมายใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปที่อยู่ใกล้เคียงภูมิลำเนาหรือในภายประเทศ และ 55% อยากใช้เวลาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติในเมืองไทย
เพื่อสร้างความสุขและหากิจกรรมทำในช่วงล็อกดาวน์ คนไทยส่วนใหญ่ 98% เคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดยกว่า 2 ใน 3 (68%) ได้เสิร์ชหาจุดหมายท่องเที่ยวต่างๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ 41% ตอบว่ารู้สึกหวนคิดถึงวันวานเมื่อเปิดดูภาพถ่ายเก่าๆ จากทริปก่อนๆ ขณะมองหาแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวในอนาคต
ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเกือบ 9 ใน 10 (89%) จะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้นสืบเนื่องจากโคโรนาไวรัส และผู้เดินทาง 83% คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในขณะเดียวกัน 86% จะเลือกจองเฉพาะที่พักที่มีการระบุมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยไว้อย่างชัดเจน และผู้ตอบชาวไทยในจำนวนเท่ากัน (86%) ยอมรับได้กับการตรวจสุขภาพเมื่อเดินทางถึงสถานที่ท่องเที่ยวหรือจุดหมายปลายทาง
นักเดินทางชาวไทยส่วนใหญ่เกิน 2 ใน 3 (68%) ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต โดย 86% คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น และคนไทยมากกว่า 4 ใน 5 (84%) ต้องการตัวเลือกในการเดินทางที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูจุดหมายปลายทางนั้นๆ ได้ และ 82% ต้องการเห็นว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปจะกลับเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
การทำงานจากบ้านได้กลายเป็นพฤติกรรมกระแสหลักในช่วงของการระบาด แต่ผลที่ตามมาทางอ้อมคือทางเลือกในการวางแผนการเดินทางที่ยาวนานขึ้นโดยรวมการทำงานเข้ากับทริปท่องเที่ยว การที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป ทำให้เราเห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
โดยผู้เดินทางชาวไทย 60% เคยวางแผนจะจองที่พักเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่แปลกใหม่ ในขณะที่ 69% เต็มใจที่จะกักตัวหากยังคงสามารถทำงานระยะไกลได้ นอกจากนี้ คนไทยกว่า 3 ใน 4 (76%) กล่าวว่าจะหาโอกาสขยายทริปธุรกิจให้นานขึ้นเพื่ออยู่เที่ยวที่จุดหมายปลายทางนั้นๆ ต่อได้
เมื่อเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับผลกระทบของเหตุการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่ ผู้เดินทางต่างหันมาเปิดรับวิถีใหม่ที่เรียบง่ายในการออกสำรวจโลกกว้าง และต้องการที่จะดื่มด่ำกับธรรมชาติมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์แพร่ระบาด ผู้ใช้บริการ Booking.com ทั่วโลกต่างแบ่งปันความคิดเห็นถึงสิ่งธรรมดาๆ ที่สร้างความสุขได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า (94%) อากาศบริสุทธิ์ (50%) ธรรมชาติ (44%) และการผ่อนคลาย (33%)** ซึ่งคล้ายคลึงกับความต้องการของผู้เดินทางชาวไทยกว่า 4 ใน 5 (85%) ที่วางแผนจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวระหว่างทริปพักผ่อน นอกจากนี้ นักเดินทางชาวไทยจำนวนใกล้เคียงกัน (80%) ยังอยากมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวในชนบทหรือที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีใครไป เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่ามกลางธรรมชาติให้เต็มที่
พฤติกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว พื้นที่เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงความสะอาดและสุขอนามัยที่ควบคุมได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้เดินทางชาวไทยต่างมองหาที่พักที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง โดย 55% ของนักเดินทางชาวไทยเลือกมองหาที่พักประเภทบ้านพักตากอากาศหรืออพาร์ตเมนต์มากกว่าโรงแรม และ 63% จะเลือกทานอาหารในที่พักมากขึ้นแทนที่จะออกไปร้านอาหาร นอกจากนี้ ประเภทของทริปที่นักเดินทางชาวไทยยุค “นิวนอร์มอล” อยากไปเที่ยวมากที่สุดได้แก่ ทริปเที่ยวริมทะเล (51%) ตามมาด้วยทริปพักผ่อนหย่อนใจ (48%) และทริปเที่ยวในเมือง (27%)
เราจะเห็นนวัตกรรมเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางอีกครั้งในโลกหลังการระบาดใหญ่ โดย 81% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นด้วยว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างเดินทาง นอกจากนั้น 80% ยังเห็นตรงกันว่าผู้ให้บริการที่พักจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพัก
โดย 7 ใน 10 ของนักเดินทางชาวไทย (70%) ต้องการให้มีตัวเลือกเทคโนโลยีที่สามารถใช้จองร้านอาหารแบบกระชั้นชิดได้ และนักเดินทางชาวไทยจำนวน 3 ใน 4 (75%) ต้องการให้มีเครื่องมือแบบบริการตนเองมากขึ้นแทนที่จะผ่านเคาน์เตอร์ให้บริการเพื่อลดการสัมผัส นอกจากนี้คนไทย 80% ยังรู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางให้เข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นในอนาคต โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาเพิ่มประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนมากขึ้นเรื่อย
มิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com กล่าวว่า “เหตุการณ์ใหญ่ตลอดปีนี้เป็นปีที่ท้าทายเป็นพิเศษ และทำให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก ผู้เดินทางจะเปลี่ยนไปมองหาระดับความปลอดภัยในการเดินทางที่สูงขึ้น ข้อเสนอด้านการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงนิยามใหม่ของการท่องเที่ยวที่รวมเอาการทำงานจากทางไกลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ดิฉันเชื่อว่าแวดวงการท่องเที่ยวมีศักยภาพพิเศษที่จะกลับมาแข็งแกร่งกว่าที่เคยในอีกหลายปีข้างหน้า ผ่านการเสริมสร้างความเข้าใจและความปรารถนาร่วมกันของเราในการออกเดินทาง และด้วยภารกิจของ Booking.com ที่มุ่งมั่นเพื่อทำให้ผู้เดินทางทุกคนออกไปสัมผัสโลกกว้างได้ง่ายขึ้นอยู่เสมอมา ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้เราจึงยืนหยัดที่จะเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย มาพร้อมกับความคุ้มค่า และประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายดายที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ผู้เดินทางก็สามารถเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์อันน่าจดจำที่ได้จากการออกเดินทางท่องเที่ยว”
รายละเอียดเพิ่มเติมจาก Booking.com สำหรับเทรนด์ใหม่แห่งอนาคตของการเดินทาง คลิกที่นี่
รายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล / หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
*การสำรวจข้อมูลนี้ดำเนินการโดย Booking.com โดยได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งได้เดินทางทริปธุรกิจหรือทริปพักผ่อนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องมีแผนที่จะเดินทางในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ (หาก/เมื่อมีการยกเลิกการจำกัดการเดินทาง) ผู้เข้าร่วมการสำรวจมีจำนวนทั้งหมด 20,934 คนใน 28 ประเทศ/ภูมิภาค (สหรัฐอเมริกา 999 คน แคนาดา 496 คน เม็กซิโก 497 คน โคลอมเบีย 997 คน บราซิล 999 คน อาร์เจนตินา 499 คน ออสเตรเลีย 995 คน นิวซีแลนด์ 499 คน สเปน 999 คน อิตาลี 996 คน ฝรั่งเศส 996 คน สหราชอาณาจักร 999 คน เยอรมนี 996 คน เนเธอร์แลนด์ 498 คน เดนมาร์ก 499 คน สวีเดน 499 คน โครเอเชีย 498 คน รัสเซีย 1,001 คน อิสราเอล 498 คน อินเดีย 997 คน จีน 994 คน ฮ่องกง 499 คน ไทย 497 คน สิงคโปร์ 496 คน ไต้หวัน 499 คน เกาหลีใต้ 997 คน เวียดนาม 500 คน และญี่ปุ่น 995 คน) ผู้เข้าร่วมได้ทำแบบสอบถามทางออนไลน์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563
**อิงตามการบอกต่อบน Booking.com ที่ผู้เดินทางระบุไว้ในส่วนหนึ่งของรีวิวหลังเข้าพัก ข้อมูลเชิงลึกนี้อิงจากการบอกต่อที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในแต่ละเดือนระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 – 11 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยเทียบกับค่าเฉลี่ยของการบอกต่อในแต่ละเดือนระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563