ปัจจุบันเราได้ยินคนพูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) กันมากขึ้น บางคนมองว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาสในโลกยุคใหม่ บางคนบอกว่ามันเป็นแค่แชร์ลูกโซ่แบบหนึ่งที่อันตราย เชื่อถือไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วคำสองคำนี้อาจมีสิ่งที่น่าเรียนรู้ซ่อนอยู่มากกว่าที่คุณคิด
ก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่องสกุลเงินดิจิทัล เราต้องมารู้จักกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) กันเสียก่อน ว่าบล็อกเชนเปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งที่เชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกันอย่างโปร่งใส ปลอดภัย และไม่ผิดพลาด นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงธุรกรรมทางการเงินที่ต้องการทั้งความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงปลอดภัย ตรวจสอบได้ และน่าเชื่อถือ จนเกิดเป็น “บิตคอยน์” (Bitcoin) เงินดิจิทัลสกุลแรกของโลก รวมถึงสกุลเงินใหม่ ๆ อย่าง อีเธอเรียม (Ethereum) และอื่น ๆ อีกกว่า 3,000 สกุล
ซึ่งปัจจุบัน บิตคอยน์เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด เพราะมันเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงที่สุดและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บิตคอยน์จึงกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนหลายองค์กรสนใจหันมาลงทุนและเก็งกำไรในบิตคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น ดังจะเห็นในข่าวการเข้าซื้อบิตคอยน์ของบริษัทระดับโลกอย่าง MicroStrategy, Square Inc. รวมไปถึงการเปิดให้ซื้อเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มการเงินระดับโลกอย่าง PayPal จนเป็นที่กล่าวขวัญว่า “สกุลเงินดิจิทัล กำลังเปลี่ยนแปลงโลก” เพราะการทำธุรกรรมกับเงินดิจิทัล คือการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เป็นไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์บนเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารจัดการอีกต่อไป เราจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าผ่านทาง หรือค่าบริการธุรกรรมใด ๆ ให้กับตัวกลาง มิหนำซ้ำยังสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วินาทีเทียบเท่ากับความแรงอินเทอร์เน็ตของเรานั่นเอง
และที่สำคัญ สกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน ยังเป็นโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ การชำระเงินออนไลน์ (E-payment), การระดมทุน (Crowdfunding), การกู้ยืมแบบ Peer-to-Peer โดยใช้เงินดิจิทัลเป็นหลักประกัน (Collateral Lending) หรือการกู้เงินดิจิทัลเพื่อไปขายทำกำไรในตลาดที่ราคาสูงกว่า และนำเหรียญที่ได้มาไปซื้อเงินดิจิทัลในอีกตลาดที่ราคาต่ำกว่าและนำกลับไปคืนที่เรากู้ ซึ่งสามารถทำกำไรได้ในเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่วินาที (Flash Loans) เป็นต้น
จนถึงตอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศก็กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองในรูปแบบ สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ (Central Bank Digital Currency: CBDC) ตัวอย่างเช่น จีนเป็นประเทศแรกของโลกได้ทำการทดลองใช้เงิน “หยวนดิจิทัล” ผ่านแพลตฟอร์มชำระเงินบนมือถือของประชาชนได้จริง รวมถึงยังมีอีกหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล รัสเซีย ได้เริ่มพัฒนาและกำลังจะเริ่มที่จะทดลองใช้สกุลเงินแห่งชาติเป็นของตัวเอง แม้แต่ในภาคเอกชนอย่าง Facebook ก็ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Libra เพื่อมาใช้ในแพลตฟอร์มของตัวเองด้วย
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ได้ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนา โครงการสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ ในชื่อ โครงการอินทนนท์ ซึ่งล่าสุดก็ได้ประสบความสำเร็จในการทำการทดสอบต้นแบบของระบบการโอนเงินระหว่างประเทศในเชิงธุรกิจ (Wholesale) ผ่านสกุลเงินดิจิทัลจำลองร่วมกับโครงการ LionRock ของธนาคารกลางฮ่องกงไปแล้วเมื่อมกราคมที่ผ่านมา และในไม่ช้าคนไทยคงจะได้เห็นการใช้เงินดิจิทัลจากภาครัฐมากขึ้นอย่างแน่นอน
เทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ยังมีประโยชน์ในการสร้างโอกาสขององค์กร รัฐบาล และประเทศชาติให้ก้าวสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่ทุกคนจำเป็นต้องเปิดใจยอมรับและเริ่มศึกษาในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จึงได้จัดงาน “Blockchain Thailand Genesis 2020 Exclusive Edition” มหกรรมงานบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล The World of Digital Asset and Blockchain Ecosystem ขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อผลักดันวงการสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนไปสู่อนาคต พร้อมเน้นย้ำในการเป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุด และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่แห่งสินทรัพย์ดิจิทัล โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ภายในงานจะพบกับ เวทีให้ความรู้และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ ภายใต้ 4 หัวใจหลัก ได้แก่ สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ (Central Bank Digital Currency: CBDC) ระบบการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อการประกอบการ (Blockchain for Enterprise) ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถสำรองที่นั่งออนไลน์ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานอบรม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://blockchain-th.com/ และ https://web.facebook.com/blockchainthailandevent/ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป