นำ Big Data รุกพัฒนาโครงการ Phuket Smart City

Phuket Smart City เป็นโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดำเนินโครงการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ซึ่งมีการขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรต่างประเทศ โดยนำเทคโนโลยี Big Data มาจัดการข้อมูลเมือง ร่วมกันผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้า การลงทุน และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดภูเก็ต (GPP) ในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 137,901 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อคนต่อปี (GPP Per Capita) อยู่ที่ 258,817 บาทต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 1 ของภาค และอันดับที่ 10 ของประเทศ ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2559 ประมาณ 341 แสนล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างบริการอย่าง Application See Thru Thailand ในการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

ล่าสุด พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Phuket Smart City

โดยจังหวัดภูเก็ตจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำระบบ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาเมืองให้กลายเป็น Smart City ในมิติต่าง ๆ อาทิ มิติด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านสาธารณสุข (Smart Health) ด้านการดำเนินชีวิต ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (Smart Living) การบริหารเมืองแบบ Smart City โดยมุ่งการผสมผสานการได้มาของข้อมูลทั้งในลักษณะข้อมูลเชิงสำรวจแบบสถิติ และข้อมูลที่จัดเก็บได้แบบปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things เช่น Sensor, CCTV รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ ทำให้เมืองสามารถมีข้อมูลในการบริหารอย่างชาญฉลาด

นอกจากนี้ DEPA ยังสร้าง Ecosystem ของ Startup ในภูเก็ต เพื่อให้เกิดการพัฒนา Smart City อย่างยั่งยืนต่อไป และ DEPA คาดหวังว่าสิ่งที่ทำมาข้างต้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การลงทุน ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ดึงดูดให้เกิดการลงทุน และการหลั่งไหลของ Digital worker และ Digital Talent จากต่างประเทศ

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจทัล Thailand 4.0 โดยพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับอันเป็นการกำจัดโอกาสในการลงทุน และควรได้รับสิทธิประโยชน์อันเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นการดำเนินงาน และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ จัดให้มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และช่วยกันผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมทางด้านดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ พร้อมตั้งเป้าให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยให้อุตสาหกรรมดิจิทัลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติมโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีความอ่อนไหว และถ้าโครงการนี้ดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

 

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here