บนแบงค์มีภาพซ่อนอยู่ โดยแต่ละภาพมีเรื่องเล่าถึงความเป็นมาที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ล่าสุดเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ AR ได้ถูกพัฒนาร่วมกับการแสดงผลเสมือนจริง ช่วยแปลงเนื้อหาบนแบงค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ และดึงดูดมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชั่นใหม่ บนมือถือแอนดรอยส์
แอปนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตั้งใจผลิตสื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ในรูปแบบเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Augmented Reality) หรือ AR สำหรับนักเรียน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจเทคโนโลยี
เบื้องหลังของแอปนี้คือ การใช้ Marker ตรวจจับและแสดงผล กับธนบัตรสกุลเงินของประเทศไทยได้ทุกแบบ สำหรับธนบัตรด้านหลังที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ 2 รัชกาล จะมี 2 Markers จำนวน 5 ธนบัตร คือ ธนบัตรไทยฉบับมูลค่า 20, 50, 100, 500 และ 1,000 บาท ธนบัตรละ 2 Markers รวมเป็น 10 Markers และด้านหน้าของธนบัตรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อีก 5 Markers รวมทั้งสิ้น 15 Markers
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการพัฒนา เทคโนโลยี AR สำหรับการศึกษา เพราะตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา AR เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสื่อการสอนช่วงวัย ทั้งมหาวิทยาลัยแพทย์ ที่ใช้ AR สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ เพื่อให้เห็นตำแหน่งและดีเทลต่าง ๆ ของโครงสร้างร่างกาย รวมไปถึงในสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้เทคโนโลยี AR และ VR เข้ากับอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายหลักฟิสิกส์ยากๆ ให้เด็กนักเรียนเห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย
เป็นการหยิบเอาของเก่ามาเล่าใหม่ ในรูปแบบเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง ผ่าน 3D Animation จะช่วยสร้างความตื่นเต้น ท้าทาย เหมือนการย้อนเวลากลับไปในอดีต เรียนแบบไม่ต้องท่องจำ เช่น แบงค์ 20 บาท จะเป็นเรื่องของพระบรมมหาราชวังสมัย ร.1 อีกเรื่องคือเรื่องอิเหนา ตอนบุษบาเดินทางไปรดน้ำมนต์กับฤาษี และอีกหลายหลายเรื่องราวที่รอให้ค้นหา
โดยแอปนี้คาดว่าจะเปิดให้ดาวน์โหลดผ่าน Google Play Store ได้ในช่วงต้นปี 64