บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้นำด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ภายใต้กลุ่ม ปตท.สผ. ขนทัพ 4 นวัตกรรมด้าน AI & Robotics สุดล้ำสัญชาติไทย จากบริษัทในเครือ ได้แก่ ระบบนิเวศน์หุ่นยนต์ทางน้ำ ภายใต้บริษัท ROVULA (โรวูล่า), ระบบนิเวศน์หุ่นยนต์ปฏิบัติการทางอากาศ HORRUS (ฮอรัส) และ VARUNA (วรุณา) ที่ตอบโจทย์เรื่องการทำ Carbon Credit Solution Platform โดยนำเสนอแบบครบวงจรทั้งบนบก ใต้ทะเล และทางอากาศ บุกโชว์ศักยภาพนวัตกรรมด้วยจุดแข็งด้านหุ่นยนต์ปฏิบัติการในอุตสาหกรรม Oil and Gas รวมไปถึงนำเสนอแพลตฟอร์มที่ใช้ตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนผ่านพลังงาน สู่เป้าหมาย EP Net Zero ในงาน “ADIPEC 2023” (อาดิเพก 2023) หรือ Abu Dhabi International Petroleum Exhibition & Conference งานนิทรรศการและการประชุมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ระดับโลก โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Journey to the endless possibilities” ตั้งแต่วันที่ 2-5 ตุลาคม 2566 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ ไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ARV (เออาร์วี) พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำเพื่อใช้ในการปฏิบัติการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Oil and Gas เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตั้งแต่การสำรวจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ ARV รวมถึงปตท.สผ. ตั้งใจทำสำเร็จให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2050
ดร.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ได้รับความเชื่อมั่นและถูกนำไปใช้ในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ARV จึงนำนวัตกรรมจาก ARV และบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จํากัด ร่วมโชว์ศักยภาพร่วมกับนวัตกรรม ปตท.สผ. ในงานนิทรรศการและการประชุมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ระดับโลก “ADIPEC 2023” (อาดิเพก 2023) ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยปีนี้ ARV จัดแสดงนวัตกรรมภายในบูธ ปตท.สผ. ด้วยแนวคิด “Journey to the Endless Possibilities การเดินทางสู่ความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด” ผ่านผลงานนวัตกรรม 1. XPLORER (เอ็กซ์โพลเรอร์) หนึ่งในระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติงานทางน้ำ หรือ SUBSEA ROBOTICS ECOSYTEM เป็นยานสำรวจใต้น้ำอัตโนมัติสำหรับตรวจสอบท่อปิโตรเลียมใต้ทะเล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน
2. VARUNA CARBON CREDIT SOLUTION PLATFORM (วรุณา คาร์บอนเครดิต โซลูชัน แพลตฟอร์ม) แพลตฟอร์มที่ช่วยคำนวณคาร์บอนเครดิตได้อย่างแม่นยำ 3. SMART CITY SOLUTION PLATFORM (สมาร์ท ซิตี้โซลูชัน แพลตฟอร์ม) นวัตกรรมที่ช่วยบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. HORRUS (ฮอรัส) อากาศยานสำรวจอัตโนมัติ หนึ่งใน AERIAL ROBOTICS ECOSYSTEM หรือระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติงานทางอากาศที่สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างทันท่วงที
“สำหรับการนำนวัตกรรมเข้าร่วมในงานดังกล่าวเป็นการนำเสนอศักยภาพผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกของไทย เพื่อทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างชาติมั่นใจกับการใช้งานที่ผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มแนวทางการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทำให้นวัตกรรมของ ARV เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์และเป็นการเร่งการลงทุนด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เกิดขึ้นในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองต่อชาวโลกในด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาพลังงาน โลกร้อน และการจัดการสิ่งแวดล้อมแทนมนุษย์ และเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero กระทั่งต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับนานาชาติในอนาคต ทั้งนี้นับเป็นอีกปีที่ ARV ภายใต้กลุ่ม ปตท.สผ. นำนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้าร่วมแสดงศักยภาพภายในงานนิทรรศการและการประชุมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ระดับโลกอย่าง ADIPEC 2023 ซึ่งปีนี้มีผู้มาร่วมโชว์นวัตกรรมมากถึง 2,200 องค์กร จาก 30 ประเทศ และผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 160,000 ราย” ดร.ธนา กล่าวสรุป
สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก AI and Robotics Ventures (https://www.facebook.com/arv.th) หรือโทร. 02 078 4000