เห็นวันก่อนมีประเด็กถกเถียงกันเรื่องประโยชน์และโทษของ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่าง Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX กับ Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ฝ่าย Elon Musk เห็นว่า AI น่ะมันน่ากลัวและจะเป็นภัยต่อมนุษย์เอง ส่วน Mark Zuckerberg มองโลกในแง่ดีว่า ใช้ AI ดีซะอีกจะได้เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งทั้งสองไม่ได้เผชิญหน้ากันตรงๆ ครับ แต่มีการพูดถึงกันแบบอ้อมๆ และแอบกัดจิกกันไปมาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค จนหลายสื่อในต่างประเทศหยิบไปเป็นประเด็นเล่าข่าวกันสนุกปาก
ใครจะเป็นฝ่ายคิดถูกหรือคิดผิด คำตอบคงหาไม่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ครับ ต้องดูกันไปยาวๆ แต่เมื่อพูดถึง AI แล้วล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์แล้วแบบจริงๆ จังๆ ซึ่งวันนี้ผมได้คัดกรองอุตสาหกรรมใกล้ตัวที่มีการใช้ AI เป็นผู้ช่วยมาบอกเล่ากัน เพื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องที่เราจะหนีพ้นครับ !
แต่ออกตัวก่อนครับว่าผมไม่ได้เป็นแฟนคลับหรือติ่ง Mark Zuckerberg นะครับ แค่ใช้ Facebook ของเขาเท่านั้นเอง แฮ่ๆ !!
1. การแพทย์
เป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางแพทย์ แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นตัวเลือกที่อุดช่องว่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น AI หรือปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำ IBM Watson เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง หรือที่โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน มีการใช้เทคโนโลยี AI จากบริษัท Infervison เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและเอ็กซเรย์โรงมะเร็งปอด
2. การเกษตร
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะมีถึง 9.8 พันล้านคน ประชากรจากชนบทจะเริ่มขยับขยายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการเพิ่มและยกระดับประสิทธิภาพของผลผลิตด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นทางแก้ปัญหาที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเวลานี้
ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Smart Farm เริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรบ้างแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ฟาร์มปลูกแตงกวาในญี่ปุ่นของ Makoto Koike ได้นำเทคโนโลยี Machine learning และ Deep Learning ภายใต้ระบบ TensorFlow ของ Google พร้อมด้วย Raspberry Pi 3 มาใช้ในการคัดแยกแตงกวา ซึ่งให้ความถูกต้องถึง 95% มากกว่าการใช้คนที่ทำได้เพียง 70% เท่านั้น
ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีเกษตรกรบางรายเริ่มมีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วยด้านการเกษตรบ้างแล้ว แต่ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
3. ประกันภัย
หลายคนอาจสงสัยว่า AI จะเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมประกันภัยได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Fukoku Mutual บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น นำ IBM Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ สามารถพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ล่ะกรณีได้ โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนของพนักงานได้ถึง 140 ล้านเยนต่อปี ผลที่เกิดขึ้นเมื่อนำ AI มาใช้ ปรากฏว่าบริษัทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในแผนกที่เกี่ยวข้อง 34 คน
4. การเงิน การธนาคาร
เทคโนโลยี AI กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจประเภทการเงิน การธนาคารหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่ AI จะกลายเป็นผู้ช่วยให้กับลูกค้า ซึ่งมีการประเมินว่า AI จะสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกรรมการเงินให้กับลูกค้า, เป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อป้องกันการทุจริต, ทำหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพด้านการเงินเพื่อวางโครงสร้างธุรกิจและกลยุทธ์ให้กับธุรกิจการเงิน การธนาคาร เป็นต้น
ตัวอย่าง City Union Bank ในอินเดีย มีการใช้หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Lakshmi เป็นผู้ช่วยลูกค้าในการบอกยอดเงินคงเหลือและอัตราดอกเบี้ย หรือ Bank of Tokyo Mitsubishi ของญี่ปุ่น ใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Nao เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้า ขณะที่ธนาคาร HSBC ผู้ช่วยฉลาดๆ ที่เรียกว่า Olivia ที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยไปจนถึงปัญาอื่นๆ จากลูกค้า และ Capital One ธนาคาในสหรัฐอเมริกา ให้ลูกค้าสามารถพูดคุยโต้ตอบกับ Amazon Alexa ในการตรวจสอบบัญชี ชำระค่าบัตรเครดิต ได้ เป็นต้น
5. ระบบการขนส่งสาธารณะ
หลานคนที่ติดตามข่าวไอทีกับ aripfan จะพบข่าวคราวของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนารถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ดี หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีก็ดี ต่างมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้ช่วยสำคัญในการติดตาม วิเคราะห์เส้นทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเพื่อช่วยในการขับขี่ให้กับมนุษย์ แต่นอกเหนือจากการพัฒนาภายในรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว รถขนส่งสาธารณะยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น Uber ที่จัดตั้ง AI Labs ขึ้นมา เพื่อสร้างอัลกอริทึมและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในบริการของ Uber สามารถวิเคราะห์เส้นทางตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีความต้องการใช้รถบ้าง และ Uber จะเป็นบริการที่เข้าไปช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
หรือจะเป็น Waymo หนึ่งในบริษัทลูกของ Alphabet ที่มีการทดสอบให้บริการรถยนต์ไร้คนขับสาธารณะครั้งแรกแล้วในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เริ่มด้วยการใช้รถยนต์มินิแวนจาก Chrysler จำนวน 500 คัน เป็นบริการสำหรับครอบครัว ซึ่ง Waymo มีการเปิดรับสมัครผู้ขับขี่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการทดลองให้ผู้ขับขี่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่ของรถยนต์ขับเองอัตโนมัติ
6. งานก่อสร้าง
อุตสาหกรรมงานก่อสร้างเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือในงานก่อสร้างบ้างแล้ว เช่น บริษัท Komatsu ของญี่ปุ่น นำ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังก่อสร้าง ได้แก่ การสำรวจข้อมูลและโครงสร้างต่างๆ ของงานก่อนส้ราง เพื่อการทำงานของเครื่องจักรโดยอัตโนมัติ หรือจะเป็นการวิเคราะห์และวางแผนการก่อสร้าง เพื่อให้คนงานก่อสร้างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและสามารถมทำให้งานก่อสร้างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น
7. อุตสาหกรรมการผลิต
เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้มานานแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งมีการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เข้ามาดำเนินการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรมหนึ่งที่หลายคนคงเห็นภาพชัดที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต่อไปหุ่นยนต์ในโรงงานเหล่านี้จะทำงานได้อย่างละเอียดมากขึ้น แม้กระทั่งงานที่มีความซับซ้อน จนเรียกว่ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบอาจไม่พึ่งพาแรงงานมนุษย์อีกต่อไป
ข้อมูลจาก
– forbes
– cloud.google
– informationweek
– asia.nikkei
– omni.media