ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นระหว่าง Apple และ FBI กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่โลกไอทีให้การติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยทาง FBI ยื่นคำร้องถึง Apple ให้เขียนซอฟต์แวร์ใหม่เฉพาะใช้ในการปลดล็อค iPhone 5c หลักฐานที่อ้างว่าเป็นของผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ San Bernardino ในเขตรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2015 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 14 ราย แต่ความต้องการดังกล่าวมีความขัดแย้งต่อนโยบายหลักของ Apple โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ที่อาจส่งผลต่อผู้ใช้ iPhone ทั่วโลกในปัจจุบัน และอาจลุกลามเป็นปัญหาไปถึงในอนาคตข้างหน้าด้วย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2016 ศาลในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งให้ Apple ช่วยเหลือ FBI ปลดล็อค iPhone 5c หลักฐานที่อ้างว่าเป็นของผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ San Bernardino ในเขตรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2015 ด้วยวิธีการสร้าง iOS รุ่นพิเศษขึ้น เพื่อเข้าถึงข้อมูลภายใน iPhone ของผู้ก่อเหตุ และจะเป็นการคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้น พร้อมกับเชื่อว่าอาจมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม ISIS แต่ Apple ยืนยันปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอของศาล เนื่องจากคำสั่งที่ Apple ได้รับเป็นขั้นตอนที่คุกคามความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา Apple เคารพในความเป็นมืออาชีพของ FBI และเชื่อในความตั้งใจที่ดี และ Apple ได้ทำทุกอย่างตามขั้นตอนทั้งที่อยู่ในอำนาจ และดำเนินการตามกฎหมายที่จะช่วยให้ FBI สามารถเข้าถึงข้อมูลภายใน iPhone ของผู้ก่อการร้ายได้ แต่สิ่งที่ Apple ได้รับการร้องขอ กลับมีความอันตรายเกินไป นอกจากนี้ Apple ยังมองว่าหากวิธีในการเข้าถึงข้อมูลหรือวิธีหลีกเลี่ยงการใส่รหัสผ่านถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้อย่างเสรี และการที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเครื่องมือที่ร้องขอต่อ Apple จะถูกนำมาใช้ในคดีนี้เพียงคดีเดียว แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้
ขณะที่ Tim Cook ซีอีโอ Apple ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ FBI ร้องขอ คือสิ่งที่ Apple ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งมันอาจก่อให้เกิดช่องโหว่กับผู้ใช้ iPhone ทั่วโลก และรวมถึงอเมริกาเองด้วย การที่ศาลและ FBI พยายามเรียกร้องให้ Apple เขียนซอฟต์แวร์สำหรับรัฐบาล (Apple ให้คำจำกัดความว่า “GovtOS”) อาจเทียบได้กับ “มะเร็ง” ที่จะนำความเสี่ยงและผลร้ายไปสู่ลูกค้า Apple ที่มีมากกว่าร้อยล้านราย หรือบางทีมันอาจเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้สำหรับการเฝ้าระวัง อาจมีกฎหมายที่สามารถบังคับเปิดกล้องโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง อาจไม่ใช่แค่ iPhone แต่รัฐบาลยังมีอำนาจที่จะสั่งให้บริษัทอื่นๆ ปฏิบัติตามได้เช่นกัน
แม้ Pew Research Center ได้แสดงผลสำรวจความคิดเห็นของประชากรกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ จำนวน 1,002 ราย เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า 51% ต้องการให้ Apple “ปลดล็อค iPhone” เพื่อใช้คลี่คลายคดี อีก 38% กล่าวไม่เห็นด้วยที่ Apple จะปลดล็อค iPhone ส่วนอีก 11% ไม่ขอออกความคิดเห็น ซึ่งซีอีโอ Apple ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับผลสำรวจ แต่เป็นเรื่องของอนาคต
อย่างไรก็ตามหากศาลในสหรัฐฯ และ FBI สามารถบังคับให้ Apple เปิดระบบหลังบ้านของ iOS ได้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะใช้กรณีของ Apple มาเป็นข้อบังคับให้บริษัทอื่นๆ ต้องยินยอมให้หน่วยงานหรือองค์กรฝ่ายความมั่นคงของรัฐ สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลในอุปกรณ์ส่วนตัวของผู้ใช้ได้ โดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ
เรื่องระหว่าง Apple กับ FBI จะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป ส่วนจะมีข้อตกลงลับๆ ในการเปิดระบบหลังบ้านของ iOS หรือเปล่านั้น คงไม่มีล่วงรู้ได้ครับ ?