ว่าด้วยเรื่องของชิป ARM หรือ Advanced RISC Machine บน MacOS ตัวแรกของโลก หลังจากที่ Apple เปิดตัว MacBook กับ Mac Mini รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมชิปประมวลผลอย่าง Apple M1 ก็สร้างความฮือฮาไม่น้อยเลย เหตุผลเพราะ
- เป็นครั้งแรกที่ Apple ผลิตชิปใช้งานด้าน PC ด้วยตัวเอง
- ตัวชิป Apple M1 เป็นสถาปัตยกรรม ARM ที่จะถูกนำมาใช้กับ MacOS เต็มรูปแบบ แทนที่ชิป x86 จาก Intel
- เหล่านักพัฒนาแอปฯ หรือโปรแกรมบน MacOS เตรียมงานเข้า…
***ในบทความนี้จะพยายามข้ามเรื่องเทคนิคให้เข้าใจง่าย ฉะนั้นหากมีศัพท์หรือเรื่องเทคนิคอะไรผิดพลาดไปบ้าง ก็ต้องขออภัยและสามารถแจ้งได้เลยครับ***
เริ่มจากกรณี Apple M1 ชิปประมวลตัวใหม่บน MacBook กับ Mac Mini หลายคน (หรือน่าจะทุกคน) อาจมีข้อสงสัยว่า “เวิร์คไหม ?” หากนำมาใช้ทำงาน เราจะใช้ได้อย่างเสถียร ‘เหมือนก่อน’ หรือไม่ ?
สืบเนื่องจาก Apple M1 ไม่ใช่ชิป Intel ที่คุ้นเคย แต่เป็นชิปของ Apple และเป็น ARM ซึ่ง ARM ก็คือชิปซีพียูขนาดเล็ก ที่นิยมใช้งานอุปกรณ์พกพาอย่าง iPhone กับ iPad บน iOS และสมาร์ทโฟน Android โดยหากเป็นชิป ARM ระดับ Top ก็จะมีคุณภาพใกล้เคียงกับ x86 ชิปสำหรับคอมฯ (PC) หลายรุ่นกันเลย และยังกินพลังงานน้อยกว่ามาก ๆ ด้วย
ฉะนั้นเราจึงเข้าใจได้ว่าชิป ARM คือชิปขนาดย่อมบนอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก (ใช้ชุดคำสั่งน้อย) แต่หากวันหนึ่ง ARM กลายมาเป็นชิปประมวลผล PC บนอุปกรณ์ขนาดใหญ่ (ที่ใช้ชุดคำสั่งหลายอย่างพร้อมกัน) คำถามคือ มันจะไหวหรือไม่ ?
ส่วนนี้ทาง Apple ได้ให้คำตอบว่า “ชิป Apple M1 ของเราคือ The Best” (Apple ไม่ได้กล่าว แต่อารมณ์มันให้..) ชูว่าตัวชิปจะมีทรานซิสเตอร์จำนวนถึง 16 พันล้านตัว ช่วยให้ CPU มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.8 เท่า กราฟิกเร็วขึ้นสูงสุด 5 เท่า โดยรวม ๆ คือมีประสิทธิภาพสูงกว่าชิป x86 บางรุ่นที่ใช้ใน PC ปัจจุบันซะอีก อีกทั้งยังเป็น SoC ที่นำทุกอย่างทั้ง CPU, GPU, Neural Engine และ I/O มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ก็จะช่วยให้การทำงานมีความเร็วรวดขึ้น และประหยัดพลังงานได้มากกว่าเดิมหลายเท่า
จุดนี้หากลองกลับไปมอง iPhone กับ iPad ที่ทาง Apple ลุยเองทั้ง Hardware กับ Software จนมีประสิทธิภาพสูงโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ใน MacBook กับ Mac Mini หลังจากนี้ก็จะเป็นเหมือน iPhone กับ iPad ที่ผลิตทั้งชิปทั้งระบบปฎิบัติการ (OS) เช่นเดียวกัน คาดว่าคงการันตีคุณภาพได้เหมือนกัน
แต่…. กำแพงที่กันระหว่าง ARM กับ x86 ยังไม่หายไป ตัวชิป Apple M1 คือ ARM ที่จะถูกนำมาใช้กับ MacOS เต็มรูปแบบ แทนที่ชิป x86 จาก Intel โอเคประสิทธิภาพอาจการันตีได้ แต่ ‘ความเสถียร’ ล่ะ ? การันตีได้ไหม ?
ที่ผ่านมาก็เคยมีการนำชิป ARM มาใช้หรือรัน (Run) กับ Windows นักต่อนักแล้ว (เช่น Surface RT) แต่สุดท้ายก็เจอเสียงบ่นเหมือน ๆ กันคือ เปิดโปรแกรมใช้งานใน Windows ได้ก็จริง ‘แต่ไม่เต็มบาท’ ใช้ไปสักพักก็มักเจอปัญหา จอฟ้าบ้าง โปรแกรมค้างบ้าง หรือฟีเจอร์บางส่วนใช้งานไม่ได้บ้าง ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ ตัวโปรแกรมดึงประสิทธิภาพจากชิป ARM ได้ไม่เต็มที่
คือต่อให้ชิป ARM ทรงพลังมาก แต่โปรแกรมที่แต่เดิมถูกเขียนโค้ดให้ดึงพลังจากชิป x86 เป็นหลัก พอมาเจอกับ ARM ก็ไปไม่เป็นทันใด อารมณ์ประมาณว่า หัวหน้าได้ทีมทำงานใหม่ แต่หัวหน้ายังไม่คุ้นชินกับลูกน้องในทีม เลยสั่งงานได้ไม่สะดวกนัก กว่าจะคุ้นชินก็ต้องใช้เวลา อาจต้องรอเวลาให้ทางฝ่ายประสานงานหรือ ‘Emulator’ ช่วยสนับสนุน ไม่ก็รอให้ทางตัวหัวหน้าเอง หรือผู้พัฒนาโปรแกรม อัพเดตตัวโปรแกรมที่สามารถใช้งานกับ ARM ได้…..แต่เมื่อไรกันล่ะ ?
กลับมาฝั่ง Apple ที่ตอนนี้ใช้ ARM มารันกับ MacOS แล้ว ซึ่ง MacOS ก็เป็น OS ระดับเดียวกับ Windows และมี ‘โปรแกรมหลาย ๆ ตัว’ ที่ใช้ขุมพลังจาก x86 เช่นเดียวกัน ในตอนเปิดตัว Apple M1 ทาง Apple บอกก่อนเลยว่า เรามี “macOS Big Sur” ระบบปฎิบัติการที่ทำมาเพื่อชิป M1 โดยเฉพาะ และโปรแกรมที่พัฒนาโดย Apple หลังจากนี้จะเป็น Native App ทั้งหมด (งานเข้าทีมพัฒนาของ Apple ไปสิ) คือเป็นโปรแกรมที่ผ่านการแปลงโค้ดหรือกลายพันธ์เป็น ARM ที่สามารถดึงขุมพลังจากชิป ARM ได้ 100% นั้นเอง
Native App ในอีกความหมายคือ หากคุณใช้ MacBook รุ่นใหม่ที่เป็น ARM ทาง App Store ก็จะส่งโปรแกรมจาก Apple ที่เป็น Native App รัน ARM ได้สมบูรณ์มาให้เลย แต่หากยังใช้ MacBook ใช้ชิป x86 หรือ Intel อยู่ ก็จะส่งโปรแกรมที่เป็น x86 มาให้แทน
แต่โปรแกรมหลาย ๆ ตัวที่เหลือล่ะ ? หรือก็คือโปรแกรมที่พัฒนาจากบุคคลภายนอกจะเป็นยังไงต่อ จุดนี้เองคือส่วนที่เรียกได้ว่า ‘งานเข้า’ สำหรับทางผู้พัฒนาภายนอกต้องรับ ‘การบ้าน’ กันไป (เช่น Adobe) คิดในแง่ดีสุด ๆ ว่าทาง Apple อาจประกาศให้ผู้พัฒนารายอื่นได้รับรู้ถึงชิป Apple M1 ก่อนหน้าแล้ว จะได้ใช้งาน MacBook กับ Mac Mini รุ่นใหม่อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเสถียรได้ในเร็ววัน
หากไม่ใช่อย่างที่คิด ในระยะยาวก็เตรียมพึ่งพา Rosetta 2 เครื่องมือช่วยแปลงโค้ดให้รันโปรแกรม x86 หรือ x64 ได้เลย ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของ Rosetta 2 คือ การทำงานที่ต่างจาก Emulator ซึ่งเป็นการจำลอง ส่วน Rosetta 2 คือการแปลงโค้ดมันตรง ๆ ทำให้ได้ประสิทธิภาพมากกว่า (ทว่าแลกกับใช้ Virtual Machine หรือรัน Windows บน MacOS ไม่ได้อีกต่อไป) แต่ก็อย่างที่กล่าวไปว่า ประสิทธิภาพอาจได้ แต่ความเสถียรคงซัก 70 – 80% ไม่น่าแปลงได้ 100% นับเป็นการซื้อเวลาให้ผู้พัฒนาภายนอก เร่งทำโปรแกรมของตัวเองให้กลายเป็น Native App ตาม Apple
ในแง่ดีอีกอย่างคือแอปฯ จาก iOS บน iPhone และ iPad ก็สามารถทำงานโดยตรงบน Mac ได้เลย ซึ่งหลังจากนี้คงได้เห็นลูกเล่นอะไรใหม่ ๆ อีกเพียบแน่
สรุป MacBook กับ Mac Mini รุ่นใหม่ที่มาพร้อมชิป Apple M1 นับเป็นก้าวใหม่ของ Apple อย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็น MacBook กับ Mac Mini กลายเป็นที่ยอมรับไปอีกขั้น เช่นเดียวกับ iPhone กับ iPad ในปัจจุบัน (หรืออาจมากกว่า) แต่ก้าวใหม่ก็มาพร้อมระยะเวลาพิสูจน์ตัวตนด้วยเช่นกัน ต้องรอดูผลตอบรับจากผู้ใช้งานจริงกันต่อว่า หากใช้แล้วไม่เจอปัญหาอะไรก็ดีไป แต่หากใช้แล้วเจอ ก็รอการแก้ไขกันไป หรืออาจต้องรอจนกว่า Apple เปิดตัว ‘Apple M2’ ที่มาพร้อมทั้งประสิทธิใหม่ และความเสถียรที่มากกว่าเดิม ในราคาที่เท่ากันกับรุ่นก่อนหน้า ชะเอิงเอยครับ
ภาพและข้อมูลจาก : AppleTH