ออฟฟิศแห่งอนาคต เมื่อ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นเพื่อนร่วมงานของมนุษย์ บทคามโดย Lar Faeste, Head of Applications,Oralcle Thailand
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจของเรา โดยเฉพาะธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิกซึ่งกำลังนำปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงมาใช้งานในอัตราส่วนที่รวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก โดยผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า 22% บริษัทในเอเชียแปซิฟิกมีการใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่อง – Machine Learning ในอัตราส่วนที่สูงมาก ในขณะที่ในยุโรปมีบริษัทเพียง 7% และ 11% ในอเมริกาเหนือ จึงเป็นที่ชัดจนว่า บริษัทในเอเชียแปซิฟิกมีความล้ำหน้าอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจ ผ่านการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่กระบวนการทำงาน
นวัตกรรมที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์กำลังได้รับความนิยมไปทั่วภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในที่ทำงานและในแผนกงานต่าง ๆ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและสวัสดิภาพของพนักงาน และได้สร้างสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ที่บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือผู้ช่วยดิจิทัล ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งในด้านกำลังการผลิต ประสิทธิภาพการทำงาน และการสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้น
ผลตอบรับเชิงบวกที่มากขึ้นต่อ AI ในสถานที่ทำงาน
นับเวลาหลายทศวรรษที่ AI ก่อให้เกิดทั้งความหวาดกลัวและความตื่นตัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นความหวาดกลัวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเลิกจ้างงานมนุษย์มากขึ้นในสถานที่ทำงานซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงนั้น การรับรู้ในเอเชียแปซิฟิกที่มีต่อปัญญาประดิษฐ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกมากขึ้น เมื่อมีผู้คนจำนวนมากเริ่มพัฒนาความเข้าใจต่อปัญญาประดิษฐ์และประโยชน์ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการบริหารกำลังการผลิตในสถานที่ทำงาน
ผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดยออราเคิลและ Future Workplace บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านทรัพยากรบุคคล พบว่า 80% ของประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ทำการสำรวจ มีคนงานจำนวนมากกว่าครึ่งที่ใช้ AI รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในที่ทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนงานกว่า 77% ในจีนและ 78% ในอินเดียได้นำ AI มาใช้งานแล้ว ซึ่งคิดเป็นมากกว่าถึงสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 32% ในฝรั่งเศสและ 38% ในสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ 64% ของผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่า พวกเขาเชื่อมั่นในหุ่นยนต์มากกว่าผู้จัดการของตนเองเสียอีก โดยพิจารณาตามประเทศ อินเดียสูงสุดถึง 90% รองลงมาคือจีน 88% และสิงคโปร์ 84% ผลการศึกษายังเผยให้เห็นว่า เอเชียแปซิฟิกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอนาคตแห่ง AI ในสถานที่ทำงานซึ่งมีทั้งความพร้อมและความตื่นตัว โดยท่าทีเชิงบวกเช่นนี้มีมากกว่าความวิตกกังวล
การขับเคลื่อนงานทรัพยากรบุคคลแบบอัจฉริยะที่ราบรื่นและเปี่ยมด้วยความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมธุรกิจได้อย่างตรงจุด
ความรู้สึกเชิงบวกต่อ AI ได้ช่วยเพิ่มอัตราการนำไปใช้ในงานเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น งานด้านทรัพยากรบุคคล เมื่อธุรกิจมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสมัยใหม่ขั้นสูง สงครามการแย่งชิงผู้มีความสามารถจึงปะทุขึ้น แผนกทรัพยากรบุคคลจึงเริ่มใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสรรหาบุคลากรและงานธุรการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและการดำเนินงานขององค์กร
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 76% ของผู้ปฏิบัติงานด้านการสรรหาบุคคลระบุว่าพวกเขาใช้ AI เป็นเครื่องมือค้นหา เนื่องจากระบบสามารถสร้างรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยขจัดอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและสร้างความมั่นใจถึงกระบวนการจัดจ้างที่เป็นธรรม ดังจะเห็นได้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลต่าง ๆ กำลังเริ่มใช้ AI ในกระบวนการรับสมัครงาน เพื่อช่วยคัดกรองผู้สมัครด้วยการประเมินข้อมูลปริมาณมหาศาลให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ ทั้งยังสามารถตั้งโปรแกรมให้มองข้ามข้อมูลสถิติประชากรของผู้สมัครไปได้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผลการศึกษาของออราเคิล และ Future Workplace พบว่าในเอเชียแปซิฟิก มีผู้คนมากถึง 53% คิดว่าหุ่นยนต์สามารถให้ข้อมูลและผลตอบรับที่ปราศจากอคติได้ดีกว่าผู้จัดการที่เป็นมนุษย์
นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติที่รองรับภาระงานซึ่งต้องใช้แรงงานมนุษย์ผ่าน AI ยังช่วยให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถวางตำแหน่งงานของบุคลากรให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ เช่น การกระตุ้น การพัฒนา และการรักษาบุคลากรผู้มีความสามารถ โดยทำให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีข้อมูลเชิงลึกของพนักงานและการฝึกอบรม รวมถึงความต้องการด้านการพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและฉลาดยิ่งขึ้น และสามารถติดตามความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที
การเตรียมพร้อมกำลังคนเพื่อโลกแห่ง AI ในอนาคต
ด้วยประโยชน์อันหลากหลายของ AI ที่มีต่อแรงงานและผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล AI จึงถูกใช้งานมากมายในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของ ออราเคิล และ Future Workplace ชี้ว่า 76% ของพนักงานและ 81% ของผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ต่างเห็นว่าการติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแรงงานนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งจำนวนผู้ที่วิตกกังวลนี้เพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน (96%) และอินเดีย (93%) วิธีเดียวที่จะปิดช่องว่างระหว่างความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วกับความพร้อมของพนักงานก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมพนักงานด้วยการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (upskilling and re-skilling) นับเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการลงทุนพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อให้สามารถเกาะติดสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน
เมื่อปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องแก่พนักงานและผู้จัดการในสถานที่ทำงาน หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มทักษะเพื่อเกาะติดสถานการณ์แรงงานของผู้จัดการก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทีมงานและยกระดับความสามารถการทำงานในด้านที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ ผ่านการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์ อาทิ ความรู้และประสบการณ์การทำงานของแต่ละบุคคลที่สะท้อนผ่านผลงาน ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล การฝึกอบรมพนักงานและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิตพร้อมกับมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้จัดการด้านทรัพยากรบุคคลสามารถทำงานต่อเนื่องร่วมกับระบบ AI ได้ โดยไม่ต้องกลายเป็น “คนล้าสมัย”
ยอมรับ AI อย่างเต็มที่ในฐานะผู้ช่วยดิจิทัล
ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) คาดการณ์ว่ามันจะส่งผลกระทบต่องาน 5 ประเภทในเอเชียแปซิฟิกภายในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งจะลดงานลง 1 ใน 8 แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ มันจะเพิ่มงานขึ้นอีกมากมายเช่นเดียวกัน
การปฏิเสธผลกระทบของการปฏิวัติระบบงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ในสถานที่ทำงานนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แล้ว ทุกคนในองค์กร ไม่ว่าในระดับผู้ช่วยหรือผู้จัดการไปจนถึงผู้บริหารอาวุโส รวมถึงผู้ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคล ควรเปิดรับปัญญาประดิษฐ์เสมือนเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อส่งเสริมกำลังการผลิตของธุรกิจ กระบวนการสรรหาบุคลากร และความผาสุกของพนักงาน
[1] https://disruptive.asia/asia-pacific-predicted-to-become-global-hub-of-ai-innovation/
[2] https://disruptive.asia/asia-pacific-predicted-to-become-global-hub-of-ai-innovation/
[3] https://www.bbvaopenmind.com/en/articles/the-past-decade-and-future-of-ais-impact-on-society/
[4] http://hrmasia.com/seven-ways-ai-ar-future-workplaces/
[5] https://www.oracle.com/corporate/pressrelease/robots-at-work-101519.html
[6] https://www.humanresourcesonline.net/76-in-apac-agree-ai-has-helped-to-generate-higher-quality-candidates/
[7] https://www.techrepublic.com/article/ai-will-eliminate-1-of-8-jobs-in-asia-by-2024/