- “AI for Accessibility Hackathon 2019” กิจกรรมการแข่งขันระดมความคิดยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการในสังคมผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI
- ครั้งแรกกับการแข่งขันที่จัดขึ้นพร้อมกัน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ได้แก่ ประเทศไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เกาหลีใต้ และศรีลังกา ผ่านช่องทาง Microsoft Teams live event
- ประเทศไทยได้ 3 ทีมเข้ารอบเพื่อเป็นตัวแทนเข้าชิงระดับ APAC ได้แก่ ไอเดียแปลภาษามือเพื่อช่วยในการสื่อสารสำหรับผู้พิการทางการด้านยินจากทีม Next M, ไอเดียเกมสร้างงาน Job Portal Matching สำหรับผู้พิการออทิสติกจากทีม Tiny Soft และไอเดีย Windows AI Mobile Application ตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา ใบหน้า ศรีษะของผู้ป่วยติดเตียงเพื่อช่วยในการสื่อสารกับคนรอบตัวจากทีม Wonder World
บริษัท ไมโครซอฟท์ จับร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดการแข่งขัน “AI for Accessibility Hackathon” เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อหาโซลูชั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการในสังคมผ่านการใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ โดยในการแข่งขันครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมากกว่า 400 คน จากทั่วทั้ง 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
สำหรับในประเทศไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้มีความสามารถและความสนใจ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันระดมความคิดเสนอไอเดียเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการในสังคม ผ่านการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน “AI for Accessibility Hackathon 2019” ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท ไมโครซอฟท์ ปะรเทศไทย โดย 3 สุดยอดไอเดียที่ได้รับเลือกจะได้รับโอกาสเข้าร่วมประกวดในโครงการชิงทุน AI for Accessibility โดยไมโครซอฟท์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสานต่อไอเดียให้เกิดเป็นโซลูชั่นเพื่อช่วยผู้พิการได้อย่างแท้จริงต่อไป
การแข่งขัน “AI for Accessibility Hackathon 2019” ในประเทศไทย จัดขึ้นที่ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาโซลูชั่น เพื่อช่วยขจัดอุปสรรคและลดความเหลื่อมล้ำทางการดำรงชีพของผู้พิการในสังคมผ่าน 3 หัวข้อพื้นฐานได้แก่
- แอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตประจำวันอยู่ได้อย่างราบรื่นที่สุด และเพื่อให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคในการเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองหรือพึ่งพาผู้อื่นได้น้อยที่สุด
- แอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการออทิสติก เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
- แอปพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถสื่อสารกับผู้คนรอบตัวและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างไร้อุปสรรค
คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากข้อมูลโดยองค์การสหประชาชาติพบว่า จำนวนผู้พิการ หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและสติปัญญาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมากกว่า 690 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายด้านไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้น, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, โรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรม AI for Accessibility Hackathon ที่จัดขึ้นนี้ เป็นการยืนยันถึงถึงพันธกิจของไมโครซอฟท์ในการสนับสนุนกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ได้รับโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกันกับบุคคลทั่วไปในสังคม โดยนำเอาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประโยชน์และความหลากหลายให้แก่กลุ่มผู้พิการทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน การสื่อสารกับคนรอบตัว และสำคัญที่สุดคือโอกาสในการสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นจริง”
โดยจากการแข่งขัน ทีมที่ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดไอเดียในการหาโซลูชั่นเพื่อกลุ่มผู้พิการ ได้แก่ ทีม Next M ที่ได้คิดค้นแอปพลิเคชันในการแปลภาษามือให้กลายเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนผ่านการนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้พิการทางการได้ยินกับคนทั่วไปทำได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น
สำหรับทีมต่อมาคือ ทีม Tiny Soft ที่ได้รับคัดเลือกจากผลงาน Windows AI Mobile Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยี AI มาใช้บนสมาร์ทโฟน เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา สีหน้า และการขยับของศีรษะของผู้ป่วย โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อได้กับ Wearable Device เพื่อช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดค่าออกซิเจนในเลือด รวมถึงการวัดค่าอุณภูมิบนร่างกาย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสุขภาพของผู้สวมใส่
ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม Wonder World กับไอเดียแอปพลิเคชัน Jobs Portal ในรูปแบบของการเล่นเกมที่เข้าใจง่ายและใช้เวลาไม่นานเหมาะกับผู้พิการออทิสติก และใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลและจับคู่ให้ตรงกับอาชีพที่ผู้พิการถนัดผ่านแพลตฟอร์มหางานต่าง ๆ
คุณธนาภรณ์ พรมสุวรรณ, อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ผู้พิการในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 2 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังมีผู้พิการในประเภทอื่น ๆ อาทิ พิการทางการได้ยิน พิการทางการมองเห็น และพิการทางสติปัญญาการเรียนรู้ และอื่น ๆ การช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปคือเป้าหมายหลักของกรมฯ และในวันนี้ก็รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนอย่างไมโครซอฟท์ ตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีมาช่วยขจัดอุปสรรคและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม”
คุณมานพ เอี่ยมสะอาด, ผู้จัดการศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า “การส่งเสริมอาชีพให้คนพิการเป็นภารกิจหลักของมูลนิธิ โดยมูลนิธิได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้พิการมาอย่างยาวนานเพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีนั่นจะสามารถช่วยสร้างอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่คนพิการได้ วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้รับเกียรติจากทางไมโครซอฟท์ให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เชื่อแน่ว่าจะสามารถช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างโอกาสให้กับผู้พิการอีกหลายชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระดับสังคมและระดับประเทศ โดยไมโครซอฟท์เองเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นต่าง ๆ ผ่านนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง จะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในสังคมทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่ประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก