ตั้งสติ! อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หรือภาพลวง
ในยุคที่คอนเท้นท์ส่งตรงถึงมือของผู้อ่านได้ง่าย ผ่านฟีดเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ภาพลวง และข่าวปลอมมากมายปรากฎขึ้น โดยใช้ข้อความปลุกเร้าอารมณ์ให้คนกดแชร์อย่างรวดเร็วแบบไม่ทันคิด
บางครั้งเราอาจหลงเป็นเหยื่อของการแชร์ภาพปลอมแบบไม่ได้ตั้งใจ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บรรยากาศของโซเชียลขุ่นมัว ดีไม่ดีอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางกฎหมาย หากโพสต์ที่แชร์ออกไปนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น
ที่ผ่านมาเฟซบุ๊ค พยายามจัดการกับข่าวปลอมอย่างจริงจัง ผ่านฟีเจอร์กรอง Fake News โดยใช้อัลกอริทึ่ม หรือ AI ในการตรวจสอบ ร่วมกับสำนักข่าว AFP ในการตรวจสอบเนื้อหา รูปภาพ และวิดีโอที่เปิดเป็นสาธารณะ ผ่านส่วนขยายที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปิดแอคเคาท์ไปได้ถึง 2.5 พันล้านแอคเคาท์ และพบว่ากว่า 65% เป็นแอคเคาท์ปลอม
ทันทีที่พบภาพ หรือเนื้อหาปลอม เฟซบุ๊กจะลดเรตติ้งโพสต์นั้นๆ เพื่อให้มีคนเห็นในฟีดข่าวน้อยลง ขณะเดียวกันเพจและเว็บไซต์ที่แชร์ข่าวปลอมจะถูกแจ้งเตือน หากทำซ้ำๆ อีก จะถูกลดการเผยแพร่เนื้อหา รวมถึงห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์การสร้างรายได้และโฆษณาด้วย
จริงๆ แล้ว ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการหยุดแพร่กระจายข้อมูลปลอมได้ หากใช้เวลาสักนิดพิจารณา หากรูปภาพหรือข้อมูลที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตดูน่าสงสัย ไม่ได้อ้างถึงแหล่งที่มา ให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงของโพสต์ และตรวจสอบในเบื้องต้นผ่าน เทคโนโลยี Search Engine อย่าง Google
ในกรณีของ Facebook ก็มีการแจ้งเตือนหากเรากำลังแชร์ข่าวปลอม รวมถึงแจ้งเตือนข่าวปลอมที่เคยแชร์ไปแล้วในอดีต และจะปรากฏลิงก์ข่าวของจริงขึ้นมาให้ดูด้านล่างควบคู่ไปด้วย รวมถึงออกคำแนะนำวิธีการสังเกตข่าวปลอม หรือเรื่องราวที่ต้องสงสัยว่าไม่จริง เช่น
1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดและเครื่องหมายอัศเจรีย์ หากข้อความพาดหัวที่น่าตื่นตระหนกฟังดูไม่น่าเชื่อถือ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม
2. สังเกตที่ URL URL หลอกลวง หรือดูคล้ายอาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง คุณอาจไปที่เว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่มี
3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาท์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
5. พิจารณารูปภาพ เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากที่ไหน
6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
7. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
8. ดูรายงานอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
พบการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่สงสัยว่าเป็นข่าวปลอมและต้องการให้ AFP เข้าไปตรวจสอบ ติดต่อ newsroom.bangkok@afp.com
https://www.facebook.com/AFPFactCheckThailand/
ที่มา : https://factcheck.afp.com/fact-checking-how-we-work , https://www.facebook.com/help/spotfalsenews
#TechhubKnowledge