ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นบททดสอบของเราทุกคน สำหรับบุคลากรสายครีเอทีฟ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการทำงานที่ต้องมีไอเดียแปลกใหม่ เพราะผู้คนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน และต้องหลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์ ทำให้หลายๆ คนพยายามหาความแปลกใหม่และเรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เกิดความรู้สึกจำเจ และแรงบันดาลใจก็เริ่มถดถอย
แบรนด์ต่างๆ พยายามตอบสนองต่อข้อจำกัดของกิจกรรมการตลาดต่างๆ โดยใช้ความระมัดระวังอย่างมาก รวมถึงการสื่อสารข้อความอย่างเหมาะสมที่ไม่ถูกมองว่ากำลังฉวยโอกาสจากความทุกข์ของผู้อื่น แต่การนิ่งเงียบก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่หรือสตูดิโอขนาดเล็ก ธีมที่เราพบเห็นครั้งแล้วครั้งเล่าในสื่อต่างๆ มักจะเกี่ยวกับการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน การปลอบโยน และสวัสดิภาพ เช่น เราจะติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างไรยามที่เราต้องห่างไกลกัน เราจะให้ความช่วยเหลือกันและกันได้อย่างไร และเราจะรักษาสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อย่างไร
เราพบธีมหลักๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องในสื่อต่างๆ ผ่านรูปภาพ บทบรรณาธิการ การค้นหาข้อมูล และข้อมูลลูกค้า และธีมเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในเทรนด์ครีเอทีฟในปี 2564 เช่นกัน
ทุกๆ ปี เราได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค ประสบการณ์จากทีมครีเอทีฟของ Adobe Stock ถูกรวมมาเป็นข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มประจำปี เมื่อปีที่แล้ว เราได้เพิ่มประเด็นการคาดการณ์จากที่มีแค่เรื่องภาพถ่าย ภาพประกอบ และเวกเตอร์ ให้ครอบคลุมถึงโมชั่นกราฟิก กราฟิกดีไซน์ ภาพ 3 มิติ และประสบการณ์ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกมีส่วนร่วม และในปีนี้ เราได้เพิ่มประเด็นที่น่าสนใจอีกหนึ่งเรื่องคือ เทรนด์เสียง (audio trends) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราหยิบยกมารายงาน
ในบรรดาสื่อครีเอทีฟทั้งหมด เทรนด์ของปี 2564 จะพิเศษมากยิ่งขึ้น โดยจะสะท้อนวิธีการรับมือกับปัญหาในรูปแบบต่างๆ และความยากลำบากที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงความหวังและการฟื้นฟูงานครีเอทีฟในปีต่อๆ ไป
เทรนด์ Visual ในปี 2564
ความเห็นอกเห็นใจกัน (Compassionate Collective)
ในช่วงเวลาที่เกิดความวุ่นวายและความเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นที่จะต้องยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐาน และเทรนด์นี้บอกเล่าความรู้สึกลึกๆ ของผู้คนและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไม่มีเทรนด์ใดที่เกิดขึ้นโดยหาที่มาที่ไปไม่ได้ เทรนด์ต่างๆ มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม รวมถึงความสนใจที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระแสการสนับสนุนแบรนด์ที่ยึดมั่นและแสดงออกตามค่านิยมของคนหมู่มากได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และ Compassionate Collective คือเทรนด์ด้าน Visual ที่แสดงออกถึงความต้องการดังกล่าว รวมถึงความต้องการที่จะ สร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ด้วยความเข้าอกเข้าใจและความเข้มแข็ง กล่าวคือ ผู้คนมักจะตั้งคำถามว่า เราจะร่วมมือและช่วยเหลือกันทั้งทางกายและใจได้อย่างไร โดยผ่านทางองค์กรและกลุ่มความร่วมมือต่างๆ ซึ่งเอเจนซี่และแบรนด์ต่างๆ ตอบสนองความต้องการนี้ด้วยการนำเสนอแคมเปญที่มุ่งเน้นการแสดงออกที่หลากหลายของปัจเจกบุคคล TikTok’s #ItStartsOnTikTok และ Girls Who Code digital #MarchForSisterhood คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
กระแสความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นต่อการดำเนินการร่วมกันและพลังของการเคลื่อนไหว รวมถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้สร้างมิติใหม่และกลายเป็นเรื่องจำเป็นในปี 2563 ตัวอย่างเช่น กรณีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวดำ ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วง Black Lives Matter อย่างกว้างขวาง และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้หลายคนพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนโดยตรง และมองหาหนทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวและอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวัฒนธรรมของเรา และสร้างแรงบันดาลใจด้าน Visual ซึ่งเราคาดว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
คลิกชมแกลเลอรี: Compassionate Collective บน Adobe Stock
สีที่ช่วยให้อารมณ์ดี (Mood-Boosting Color)
คุณอาจสังเกตเห็นว่าเทรนด์นี้เกิดขึ้นรอบๆ ตัวคุณเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งตามนิตยสาร ป้ายบิลบอร์ด ตู้โชว์สินค้าหน้าร้าน รองเท้าและเสื้อผ้า ในโลกดิจิทัลและอนาล็อก เทรนด์สีสันสดใสหลากหลายสีปรากฏให้เห็นในทุกๆ ที่
อานุภาพของสีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการในตอนนี้ สีสันที่เต็มอิ่มและสว่างสดใสส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและมีชีวิตชีวามากขึ้น ทั้งยังช่วยประคับประคองอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่หดหู่ และช่วยเพิ่มพลังให้กับจิตใจของเราอีกด้วย สีสันที่สดใสทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น ขณะที่แม่สีให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้
นอกเหนือจากการเพิ่มพลังใจที่สดใสในวันที่จำเจแล้ว เทรนด์ Mood-Boosting Color ยังแสดงออกถึงความสุขและพลังที่แข็งแกร่งและท้าทาย โดยยังคงแฝงไว้ซึ่งความขี้เล่นและร่าเริงสดใส
สายรุ้งมีความเกี่ยวข้องมานานกับกลุ่ม LGBTQ+Pride ความหลากหลาย เสรีภาพในการแสดงออก และตอนนี้สายรุ้งได้แผ่ขยายไปถึงความสุข พลังของบุคคล และการต่อต้าน บรรดานักข่าวและผู้นำทางความคิดที่เป็นคนผิวดำได้ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับพลังและความสุขของคนผิวดำ (Black Joy) งานทัศนศิลป์ที่เชิดชูแนวคิดนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในแคมเปญของแบรนด์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น #BlackJoyMatters แคมเปญจากชุมชนแชร์ภาพถ่าย VSCO ขณะที่คำว่า Black Joy ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย
สีสันมักจะสื่อถึงความสนุกสนานร่าเริง และดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก คนเราจำเป็นต้องหัวเราะ หาหนทางในการผ่อนคลาย และสร้างขวัญกำลังใจ เทรนด์นี้นำเสนอทุกอย่างที่กล่าวมา ด้วยการสื่อสารข้อความเชิงสร้างสรรค์สำหรับบุคคล และในบางครั้งก็อาจสื่อความหมายทางการเมืองด้วยเช่นกัน
คลิกชมแกลเลอรี: Mood-Boosting Color บน Adobe Stock
Comfort Zone
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เราได้เห็นผู้คนเริ่มใช้บ้านเป็นศูนย์กลางในการทำงาน เรียนหนังสือ งานอดิเรก และความบันเทิง นอกเหนือไปจากการใช้ชีวิตกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) บ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่ยังเป็นศูนย์กลางสำหรับครอบครัวและกิจกรรมทางสังคม ด้วยข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาด เทรนด์นี้จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคน และในปี 2564 เราจะได้พบเห็นเทรนด์ด้าน Visual ดังกล่าวในแคมเปญและงานครีเอทีฟทุกประเภท และเราเรียกเทรนด์นี้ว่า Comfort Zone
คนกลุ่มมิลเลนเนียลมักจะเก็บตัวอยู่กับบ้านมากกว่าคนรุ่นอื่นๆที่อายุมากกว่า ด้วยอัตราเงินเดือนที่ไม่กระเตื้อง อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย ผู้คนจึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและทำสิ่งต่างๆ อยู่ที่บ้านได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสตรีมภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การเข้าถึงวัฒนธรรมทางดนตรีที่หลากหลายและเกมต่างๆ หรือการค้นหาและสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้จากอินเทอร์เน็ต รวมถึงแอพสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุด แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตอบสนองต่อความสนใจของผู้ใช้ในเรื่องการดูแลตนเองและสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น แคมเปญที่แพลตพอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ร่วมมือกับครีเอเตอร์ แคมเปญแนะนำการรักษาสุขภาพและ Well-being บน Instagram และ กิจกรรมที่เพื่อพัฒนาสุขภาพจิตและ Well-being บน Pinterest ที่มีเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากการทำงานและเรียนหนังสือจากที่บ้านกลายเป็นวิถีปฏิบัติโดยทั่วไป ชีวิตติดบ้านจะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าผู้คนจะมีอิสระมากขึ้นเพราะไม่ต้องเดินทางไปทำงานหรือเรียนหนังสือนอกบ้าน แต่ก็อาจมีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้องจอนานๆ นอกจากนี้ การทำอาหาร เบเกอรี่ การทำสวน และกิจกรรม DIY อื่นๆ ภายในบ้านก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยนับเป็นช่องทางสำหรับการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์และผ่อนคลายจากการใช้เทคโนโลยี
คลิกชมแกลเลอรี: Comfort Zone บน Adobe Stock
การสูดอากาศบริสุทธิ์ (Breath of Fresh Air)
การเก็บตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลานานในปี 2563 ทำให้เราถวิลหาอิสรภาพที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แม้กระทั่งการแพร่ระบาดก็ไม่อาจเอาชนะความต้องการที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว แต่ถึงกระนั้นก็ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น หลายๆ คนเปลี่ยนแผนการเดินทางไปเที่ยวสถานที่ใกล้บ้านมากขึ้น พักผ่อนที่สวนสาธารณะใกล้ๆ ใช้เวลาอยู่ในสวน และดื่มด่ำกับธรรมชาติใกล้ตัวมากขึ้น ในช่วงของการกักตัว ความต้องการที่จะสัมผัสธรรมชาติและกิจกรรมนอกบ้านเพื่อสร้างสมดุลให้กับชีวิตกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น และแบรนด์ต่างๆ ก็ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่เทรนด์ที่สี่ นั่นคือ Breath of Fresh Air
ด้วยเหตุนี้ เอเจนซี่และแบรนด์ต่างๆ จึงนำเสนอภาพที่เป็นสีเขียวในเฉดต่างๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความสดชื่นของธรรมชาติ รวมถึงภาพคนจากทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ โดยอาจเป็นภาพเดี่ยวหรือภาพหมู่ กำลังทำกิจกรรมกลางแจ้งกันอย่างสนุกสนาน แบรนด์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและเครื่องแต่งกาย เช่น Athleta, Gap และ Old Navy มุ่งเน้นการออกกำลังกายกลางแจ้ง และมีการนำเสนอสินค้าที่จำเป็นชนิดใหม่ เช่น หน้ากากอนามัย
อีกแง่มุมหนึ่งของเทรนด์นี้คือการใส่ใจดูแลต้นไม้ในร่มและการทำสวนกลางแจ้ง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองโหยหาธรรมชาติที่ร่มรื่นและพื้นที่สีเขียว ส่งผลให้ต้นไม้ขนาดเล็กกลายเป็นของแต่งบ้านที่ทุกคนต้องมี ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับธรรมชาติ รวมถึงความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองและการฟูมฟักต้นไม้ให้เติบโต
คลิกชมแกลเลอรี: Breath of Fresh Air บน Adobe Stock
ต่อไปเราจะกล่าวถึงเทรนด์การออกแบบสำหรับปี 2564 รวมถึงเทรนด์ภาพเคลื่อนไหว และเทรนด์เสียง ตามรายละเอียดเบื้องต้นดังต่อไปนี้
เทรนด์ Design ในปี 2564
ศิลปะที่รวมกลิ่นอายธรรมชาติเข้ากับนิยายดราม่า Austere Romanticism ซึ่งการตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดจะมีความคล้ายคลึงกับเทรนด์ Breath of Fresh Air ในงานทัศนศิลป์ งานดีไซน์เหล่านี้มีกลิ่นอายของสไตล์วิคทอเรียน (Victorian) เติมแต่งด้วยความงามของธรรมชาติ พร้อมขอบที่เรียบง่าย ดูทันสมัย
Vintage Vaporwave เปรียบเสมือนจดหมายรักที่ส่งถึงทางอินเทอร์เน็ตในยุค 1990 โดยผสมผสานแนวศิลปะ Pop Art เข้ากับกราฟิกสติ๊กเกอร์แบบตัดเส้น สีพาสเทลที่สดใส จับคู่กับโทนสีกลางๆ และองค์ประกอบดีไซน์แบบ Lo-Fi ลายตารางหมากรุกและเส้นกริด การวาง tile ในภาพแบบสุ่ม และภาพการ์ตูนที่ดูทะเล้น ทำให้งานออกแบบแนวนี้ดูมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวได้
งานออกแบบสไตล์ Bauhaus ที่เน้นการนำเสนอศิลปะผ่านรูปทรงเรขาคณิตในรูปแบบที่เรียบง่ายและความประณีต ด้วยเค้าโครงที่สมดุลและกราฟิกที่สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาและเปี่ยมด้วยพลัง เทรนด์นี้จึงพาเราย้อนกลับไปสู่องค์ประกอบพื้นฐานที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่ดูสะอาดตา แข็งแกร่ง กลมกลืน และใช้แม่สีที่สดใส
เทรนด์การออกแบบ Psych Out มีรากฐานมาจากสไตล์การออกแบบ Psychedelic ในยุค 1970 และ Art Nouveau โดยมีกลิ่นอายความก๋ากั่น กล้าแสดงออก และหลุดโลก มักจะประกอบด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ รูปร่างและตัวอักษรที่โค้งมน และภาพประกอบที่ดูเหมือนภาพในจินตนาการ เติมแต่งด้วยการไล่ระดับสีที่ดูเปล่งประกาย และสีเอิร์ธโทนที่ดูแปลกตา
เทรนด์ Motion ในปี 2564
ขณะที่การแพร่ระบาดก่อให้เกิดปัญหาในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และส่งผลให้มีการตัดงบประมาณและยกเลิกการถ่ายทำภาพยนตร์และงานโฆษณาต่างๆ แบรนด์จำนวนมากจึงตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ด้วยการปรับใช้เทรนด์วิดีโอที่กำลังได้รับความนิยม นั่นคือ คอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User Generated Content – UGC) และคอนเทนต์แนว DIY ที่สร้างขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน วิดีโอที่ถ่ายด้วยมือถือและความงามของคอนเทนต์ UGC กลายเป็นกระแสที่ครอบงำอุตสาหกรรมต่างๆ และเราจะพบเห็นเทรนด์นี้ในทุกๆ ที่ในปี 2564
การทดแทนกันของสื่อ (Media Replacement)
การทดแทนกันของสื่อ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการใส่ภาพและวิดีโอที่ทดแทนกันได้ไว้ในโมชั่นกราฟิก ช่วยลดอุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานโมชั่นที่ซับซ้อน ทุกวันนี้ นักตัดต่อวิดีโอ ครีเอเตอร์บนโซเชียลมีเดีย และบุคลากรที่มีความรู้ สามารถสร้างสรรค์วิดีโอที่มีคุณภาพสูงระดับมืออาชีพ ด้วยการใส่ภาพถ่ายและวิดีโอลงไปในเทมเพลตโมชั่น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานโปรดักชั่น รวมถึงการสื่อสาร และทำให้วิดีโอดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
การเปลี่ยนผ่าน (Transformative Transitions)
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและดึงดูดความสนใจ ครีเอเตอร์ได้ผนวกรวมการเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อและองค์ประกอบกราฟิกเข้าไว้ในวิดีโอ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่สมจริงและมีชีวิตชีวา การเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยสีสันต่างๆ ดึงดูดสายตาจากฉากหนึ่งไปยังฉากต่อไป หรือเผยให้เห็นชื่อเรื่องและโลโก้ในโฆษณา แม้ว่าการใช้ animation และ overlay ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีการพัฒนาต่อยอดในรูปแบบที่สดใหม่และเทคนิคเหล่านี้ยังได้รับความนิยมอย่างมากเลยทีเดียว
การไล่ระดับสีได้ขยับตัวออกจากหน้ากระดาษของกราฟิกดีไซเนอร์ไปสู่หน้าจอของนักตัดต่อวิดีโอ การผสมผสานกันของสีสันที่สดใสจะช่วยดึงดูดความสนใจ และขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกผ่อนคลายในช่วงเวลาที่วุ่นวาย การไล่ระดับอย่างเรียบเนียนของสีที่หลากหลายได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในแคมเปญของแบรนด์สำคัญๆ รวมถึงการออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ และอื่นๆ อีกมากมาย
เทรนด์เสียงในปี 2564
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ Adobe Stock นำเทรนด์ด้านเสียงเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับเทรนด์ครีเอทีฟประจำปี ทีมงานฝ่ายครีเอทีฟของเราได้ร่วมมือกับ Epidemic Sound ในการสำรวจตรวจสอบคลิปเสียง ศิลปิน และแนวเพลงที่ได้รับการร้องขอ ค้นหา และขายดีที่สุด เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ดนตรีและเสียงที่เราจะได้ยินได้ฟังกันตลอดปี 2564
จังหวะเสียงเพลงแบบสากล (Global Rhythms)
ทุกวันนี้ ผู้ฟังคาดหวังว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มที่ปรากฏในงาน Visual จะเข้ามาอยู่ในเสียงดนตรีที่อยู่ในวิดีโอเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ นักตัดต่อวิดีโอและโปรดิวเซอร์จึงพยายามมองหาแทร็คเพลงที่จะช่วยสร้างความรู้สึกที่ทันสมัยและเป็นสากลให้กับคอนเทนต์ที่ใช้โปรโมตแบรนด์
พอดแทร็ค (Pod Tracks)
ปัจจุบัน มีพอดคาสต์มากมายหลายแสนรายการให้เราเลือกฟัง และลำพังเพียงแค่ในสหรัฐฯ มีผู้ใช้หลายล้านคนรับฟังพอดคาสต์อยู่เป็นประจำ ส่งผลให้การเผยแพร่พอดคาสต์กลายเป็นกระแสหลัก และสิ่งที่ตามมาก็คือ นักตัดต่อวิดีโอ โปรดิวเซอร์ และผู้ผลิตโฆษณาตั้งหน้าตั้งตาตามหาเสียงดนตรีที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเรื่องราวและโฆษณาทางพอดคาสต์
ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Spectrum)
งานโปรดักชั่นอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเรียบง่ายและร่วมสมัย มีแนวเพลงมากมายให้เลือกตามความต้องการ เราได้ยินเสียงอิเล็กทรอนิกส์ในทุกๆ ที่ เนื่องจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวิดีโอออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และความนิยมที่เพิ่มขึ้นสำหรับแนวเพลงปลีกย่อยอย่างเช่น Future Bass, Electrofunk และ Synthwave