ภูเก็ต ถือเป็นจังหวัดหนึ่งในแถบภาคใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยว มีหาดทรายสวย ทะเลใส หมู่เกาะน้อยใหญ่ที่คนไทยและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนิยมใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แม้ภูเก็ตจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าหลงใหล แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสบรรยากาศแบบจริงจัง อย่างไรก็ตามระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา 17-19 พฤษภาคม 2559 แอดมินได้รับเชิญจาก SIPA (สํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) ให้ไปร่วมงานการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับอุดมศึกษานานาชาติ หรือ ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals ที่จังหวัดภูเก็ต
นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับ SIPA เพื่อมาเก็บข้อมูลการแข่งขันเขียนโปรแกรม ACM-ICPC ที่จังหวัดภูเก็ต นอกจาก SIPA แล้ว ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตลอดทริปจากทีมงาน IBM ประเทศไทย ซึ่งแอดมินต้องขอขอบคุณทีมงานทั้งสองทีมมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ความพิเศษในปีนี้ของ ACM-ICPC 2016 เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมในรอบ World Finals หรือรอบชิงชนะเลิศ นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต และครั้งแรกในแถบอาเซียนที่ได้รับเกียรติให้จัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก ครั้งที่ 40 สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักการแข่งขัน ACM-ICPC คงต้องขออธิบายก็สักเล็กน้อย ACM-ICPC เป็นชื่อย่อมาจาก ACM – International Collegiate Progamming Contest เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับอุดมศึกษา ที่จัดขึ้นเกือบ 40 ปีมาแล้ว
ลักษณะการแข่งขันจะแบ่งเป็นทีมละ 3 คน จากสถาบันเดียวกัน ใช้โปรแกรมภาษา C/C++ และ Java ในการเขียนโปรแกรม แก้โจทย์ปัญหาจำนวน 12 ข้อ ภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมง ติดต่อกัน ภายใต้ระบบการแข่งขันที่มีการตรวจโปรแกรมอัตโนมัติ และจัดอันดับการแข่งขัน ตามจำนวนข้อและเวลาในการแก้โจทย์ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย IBM ซึ่งในระหว่างการแข่งขันจะมีการแจกลูกโป่งเป็นสัญลักษณ์การแก้โจทย์ได้ข้อละ 1 ลูก และจะมีการแสดงตารางคะแนนแบบเรียลไทม์ ประกาศอันดับการแข่งขันและคะแนนของทุกทีมด้วย
สำหรับการแข่งขัน ACM-ICPC ในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดภูเก็ต และ SIPAได้ริเริ่มจัดการแข่งขันทั้งในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค ในปี 2552 และ 2553 พร้อมจัดการแข่งขันในระดับ Asia Regional Contest ในปี 2009, 2011, 2013 และ2015 และที่ ม.อ. หาดใหญ่ ได้จัดการแข่งขันระดับภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2554 และได้จัดการแข่งขันระดับ Asia Regional Contest ในปี 2012
โดยในปี 2559 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติต่อเนื่องให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals ณ จังหวัดภูเก็ต มีทีมนักศึกษาตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เข้าแข่งขันจำนวน 128 ทีม จาก 40 ประเทศ ใน 6 ทวีป พร้อมผู้ร่วมงานอีกประมาณ 1,300 คน และ 2 ทีมจากมหาวิทยาลัยของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ได้แก่
1. ทีม FEDEX นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วย นายธนาพล อนันตชัยวณิช, นายอาริฟ วารัม และนายณภัทร ว่องพรรณงาม ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.แสงสุรีย์ วสุพงศ์อัยยะ อาจารย์ที่ปรึษาทีม
2. ทีม CUP Meow Meow นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาไทย 3 คน ที่เป็นนักศึกษาทุน สสวท. ได้รับทุนการศึกษาโอลิมปิกวิชาการจนจบปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ร่วมทีมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน ในนามตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วย นายกฤติศักดิ์ ไชยกุล, นายทรงวงศ์ ทัศนียพันธ์ และนายอิงครัตน์ รักอำนวยกิจ
ทันทีที่มาถึงสนามบินภูเก็ตในช่วงเที่ยง สังเกตเห็นว่าแม้จะเป็นวันธรรมดา ก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก ซึ่งพี่คนขับรถตู้บอกกับแอดมินว่าที่เห็นน่ะยังน้อย ถ้าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวจะเห็นคนเยอะกว่านี้อีก หลังจากออกจากสนามบินภูเก็ตก็ต้องเติมพลังด้วยมื้อกลางวันกันก่อน และหลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังโรงแรมที่พักเพื่อเก็บสัมภาระ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่พิธีเปิดการแข่งขัน ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals ที่จัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่ภูเก็ตแฟนตาซี สถานที่ท่องเที่ยวสุดอลังการในจังหวัดภูเก็ต
ภายในงานได้รับเกียรติจากพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี พร้อมผู้บริหารจาก SIPA, IBM, CAT, Cisco,ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ต, ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมไปถึงผู้บริหารและคณะทำงานจาก ICPC ตลอดจนผู้สนับสนุนการแข่งขันท่านอื่นๆ และทีมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 128 ทีม มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดการแข่งขันในครั้งนี้กันอย่างพร้อมเพรียง
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิด แอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานคณะกรรมการบริหารของ SIPA หัวเรือใหญ่ของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ท่านจีราวรรณ เล่าว่า การแข่งขัน ACM-ICPC ทาง SIPA ได้จัดการแข่งขันในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2009 โดยการสนับสนุบงบประมาณจากรัฐบาลไทย ซึ่ง SIPA มองว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทยไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่มีความสนใจด้านไอที ยิ่งในปัจจุบันรัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุน Digital Economy รวมถึงการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องเพื่อก้าวสู่ความเป็น Smart City ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นกิจกรรมระดับโลกที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี
ในแง่ของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ท่านจีราวรรณ เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจในตอนนี้ คือ บุคลากรด้านไอทียังไม่เพียงพอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนต่างประสบปัญหาเดียวกัน ฉะนั้นในการผลิตบุคลากรด้านไอที นอกจากการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาที่เรียนด้านไอทีโดยตรงแล้ว นักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีความรู้ด้านไอที จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในด้านไอทีเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การแข่งขัน ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals นี้ SIPA ยังเป็นเวทีที่สร้างการเรียนรู้เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่พูดถึงในระดับโลก อย่าง Cloud Computing หรือ Internet of Things (IoT) เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปรับใช้และสร้างแผนงานเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น
ขณะที่ในเรื่องของธุรกิจ Startup ที่กำลังบูมในช่วงนี้ ทาง SIPA ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมที SIPA ได้มีการสนับสนุนเรื่อง Startup มานานหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันการตื่นตัวของธุรกิจ Startup ทำให้ SIPA มีแผนที่จะสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจเหล่านี้เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ โดย SIPA จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งชมรม “Startup Club” เพื่อเป็นเวทีของนักศึกษาในสาขาไอที และสาขาวิชาชีพต่างๆ ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างและพัฒนาไอเดีย จนนำไปสู่การเกิดธุรกิจ Startup ใหม่ๆ ในอนาคต พร้อมต่อยอดความก้าวหน้าเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการพัฒนาประเทศต่อไป
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจวันแรกนับตั้งแต่ช่วงเย็น จนถึงค่ำ ก็ได้เวลาพักผ่อนเพื่อเรียกความสดชื่น ก่อนเริ่มภารกิจในวันที่สอง โดยภารกิจวันที่ 18 พฤษภาคม วันที่สองในจังหวัดภูเก็ต เป็นการเข้าร่วมรับทราบข้อมูลจาก IBM อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ในการจัดแข่งขัน ACM-ICPC โดยที่แอดมินไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล เพราะจัดขึ้นในโรงแรมที่พักนั่นเอง อิอิ
ซึ่งแอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด โดยคุณภาวศุทธิ เล่าว่า การสนับสนุนของ IBM ในการแข่งขัน ACM-ICPC เริ่มตั้งแต่ระบบลงทะเบียน ระบบสำหรับการเขียนโปรแกรม การตรวจสอบคำตอบ ระบบการกำหนดเวลา และระบบการให้คะแนน หรืออาจจะเรียกได้ว่าระบบในการแข่งขันสนับสนุนจาก IBM ทั้งหมด นอกจากทีมงาน IBM ประเทศไทยแล้ว ยังมีทีมงานจาก IBM สำนักงานใหญ่ ร่วมเดินทางมาติดตามการแข่งขัน ACM-ICPC ที่จังหวัดภูเก็ตด้วย พร้อมกับทีมงาน HR ที่เข้ามาสังเกตการณ์ โดยหวังว่าเวทีการแข่งขันเขียนโปรแกรมครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการค้นพบนักศึกษาที่มีพรสวรรค์และความสามารถที่เหมาะสมเพื่อเข้าร่วมงานกับ IBM ในอนาคตด้วย
สิ่งที่ IBM คาดหวังกับการแข่งขันเขียนโปรแกรมในครั้งนี้ คุณภาวศุทธิ เล่าว่า อยากให้เป็นจุดเริ่มที่ให้เด็กไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน ACM-ICPC สามารถคิดที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร ซึ่ง IBM มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กไทย โดยแผนการที่ IBM ประเทศไทย จะเริ่มขึ้นในอนาคต เป็นการนำระบบค็อกนิทิฟอินเทลลิเจนซ์บรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ตามมหาวิทยาลัยที่ IBM ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อยกระดับหลักสูตรให้มีความเป็น Advance มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนในด้านนี้ได้มีทักษะในเรื่องการตามเทคโนโลยีให้ทัน พร้อมมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ จนนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจากโรงแรมที่พัก ก็ได้เวลาเดินทางต่อด้วยรถตู้ไปยังโรงแรมเลอ เมอริเดียน หนึ่งในสถานที่รับรองทีมผู้เข้าแข่งขัน แต่ก่อนจะไปยังโรงแรมดังกล่าว แอดมินได้มีโอกาสแวะสักการะหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง หนึ่งในวัดชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นจึงเดินทางมุ่งสู่โรงแรม เลอ เมอริเดียน ตลอดการเดินทางเส้นทางค่อนคดเคี้ยว เป็นทางขึ้นเขา แถมยังมีรถสัญจรไปมาค่อนข้างคับคั่ง ทำให้แอดมินถึงกับมึนไปพักนึงเลยทีเดียว
เมื่อถึงโรงแรมเลอ เมอริเดียน ก็เป็นช่วงเย็นพอดี ซึ่งวันนี้แอดมินจะต้องรับประทานมื้อค่ำกันที่นี่ด้วย แต่ก่อนจะไปทานอาหาร ความสวยของโรงแรม แถมยังติดหาดกะรนน้อย ทำให้แอดมินต้องขอเก็บบรรยากาศสักเล็กน้อยก็จะลงมื้อทานมื้อค่ำครับ
หลังจากทานมื้อค่ำเสร็จเรียบร้อย แอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ จากทีม FEDEX นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในทีมไทยที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันเขียนโปรแกรม ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals โดยทั้ง 3 คน ประกอบไปด้วย นายธนาพล อนันตชัยวณิช, นายอาริฟ วารัม และนายณภัทร ว่องพรรณงาม
น้องๆ เล่าว่า ก่อนการแข่งขันรอบ World Finals รู้สึกกดดัน เนื่องจากในรอบชิงแชมป์โลกต้องเผชิญกับตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นทีมที่มีความสามารถผ่านการคัดเลือกในแต่ละทวีป แต่ละประเทศมาแล้ว ทำให้รู้สึกกดดันพอสมควร
ในด้านทักษะความสามารถของแต่ละคน น้องๆ เล่าว่า ในการแข่งขันจะมีทั้งหมด 3 คน โดยในทีมจะแบ่งหน้าที่เป็นคนเขียนโปแกรม 2 คน และอีกคนเป็นคนตีโจทย์ปัญหาที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ซึ่งน้องที่เขียนโปรแกรมนี้เคยผ่านการแข่งขันของค่าย สอวน. มาแล้วเมื่อสมัยเรียน ม. ปลาย ทำให้ความสามารถด้านการเขียนโปรแกรม แถมยังได้รางวัลเหรียญทองแดงมาด้วย
ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการจัดตั้งชมรมการเขียนโปรแกรมเพื่อการแข่งขัน ACM-ICPC ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาที่เคยผ่านการแข่งขัน ACM-ICPC มาแล้ว มารวมกลุ่มกันเพื่อช่วยฝึกฝนเพื่อนๆ หรือรุ่นน้องๆ ที่มีความสนใจอยากเข้าแข่งขัน ACM-ICPC พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ในภาควิชาเดียวกันนี้ มาช่วยติว ช่วยแนะนำหลักวิธีคิดเพื่อแก้โจทย์ปัญหาในลักษณะต่างๆ
สิ่งที่ได้จากการแข่งขันตั้งแต่ระดับประเทศ จนถึงระดับเอเชียที่ผ่านมา น้องๆ บอกว่า มันคือความสนุกในการแก้ปัญหา เพราะแต่ละปัญหาล้วนมีความยากง่ายแตกต่างกันไป การได้คิด การได้ค้นหาวิธีแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละการแก้ปัญหาไม่ใช่คิดอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอ นอกจากนี้ยังการได้ฝึกฝนในเรื่องของภาษาอังกฤษ การทำงานกันเป็นทีม การแบ่งหน้าที่ตามความเหมาะสม
สำหรับเป้าหมายชีวิตหลังจากเรียน ป.ตรี จบ น้องๆ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเรียนต่อ เพื่อต่อยอดความรู้ เพราะจากประสบการณ์การแข่งขัน ACM-ICPC ที่ผ่านมา ตลอดจนการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทีมที่เข้าแข่งขันระดับโลก ทำให้ตัวเองอยากมีความรู้ อยากเก่งมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ต่อไปในอนาคต
การพูดคุยกับเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากต้องให้เวลาน้องๆ ได้ไปพักผ่อน เพื่อเตรียมตัวแข่งขันในรุ่งเช้าของวันถัดไป ก่อนกลับที่พักแอดมินได้แวะไปยังบริเวณที่เรียกว่า Chill Zone จุดที่ทีมงานจาก IBM จัดบูธเแสดงเทคโนโลยี หนึ่งในบูธจัดแสดงได้โชว์การควบคุมเจ้าหุ่น BB-8 แต่ความไม่ธรรมดาของมัน เป็นการใช้เสียงสั่งงานแทนการควบคุมจากสมาร์ทโฟน ซึ่งเกิดจากการนำ API ของ IBM มาผสมผสานกับเทคโนโลยีเดิม จนสามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ในระยะไกลสุด 100 เมตร
หลังจากเดินชมสักครู่ ก็ได้เวลากลับที่พักกันแล้ว ถือเป็นการพักผ่อนที่ภูเก็ตคืนสุดท้าย ก่อนที่วันถัดไปจะเป็นวันแข่งจริงของ ACM-ICPC 2016 รอบ World Finals และต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ภายในวันเดียวกันเลย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไว้แอดมินมาเล่าต่อในตอนไปนะครับ