SIPA, ม.สงขลานครินทร์ และจังหวัดภูเก็ต ประกาศความพร้อมจัดแข่งขัน ACM-ICPC World Final 2016 ตั้งแต่ 15 – 20 พฤษภาคม 2559

ในปี 2559 ประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับอุดมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ ในรายการ ACM-ICPC World Final 2016 ซึ่งการแข่งขันจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 – 20 พฤษภาคม 2559 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจังหวัดภูเก็ต รับหน้าที่จัดการแข่งขันครั้งนี้

a11

ซึ่งการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มี พลเอกโสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA, ศ. ดร. บิล เพาเชอร์ ผู้อำนวยการ ICPC มหาวิทยาลัยเบเลอร์ สหรัฐอเมริกา, ดร. ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ คณบดีคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.วราวุธ วิสุทธิ์เมธางกูร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมประกาศความพร้อมการจัดแข่งขัน ACM-ICPC World Final 2016 ตั้งแต่วันที่ 15 – 20 พฤษภาคม 2559

ศ. ดร. บิล เพาเชอร์ ผู้อำนวยการ ICPC มหาวิทยาลัยเบเลอร์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จากการลงความเห็นของคณะกรรมการ ICPC ทั่วโลก เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รับหน้าที่จัดการแข่งขัน ACM-ICPC World Final 2016 ระหว่างวันที่ 15 – 20 พฤษภาคม 2559 เนื่องจากเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมต่อการจัดแข่งขัน ประกอบกับการเป็นพาร์ทเนอร์ในการจัดแข่งขันเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษา ACM-ICPC ทั้งในระดับประเทศ และระดับเอเชีย มาก่อนหน้านี้แล้ว

ทางด้าน พลเอกโสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA กล่าวว่า ในการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นความภาคภูมิใจของเด็กไทย ที่มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ACM-ICPC World Final 2016 ซึ่งจากการคัดเลือกทั้งหมดกว่า 200 ทีม ทำให้ได้ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยของไทย จำนวน 2 ทีม เข้าแข่งขัน ร่วมกับทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกอีกกว่า 130 ทีม ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มั่นใจว่าประสบการณ์ที่ได้รับจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจและศึกษาด้านไอทีกันมากขึ้น พร้อมสร้างโอกาสในการประกอบวิชาชีพในสายงานไอทีให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

a12
พลเอกโสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA

โดยในปีนี้ SIPA มีความพยายามให้การสนับสนุนบริษัทประเภท Startup มากขึ้น เนื่องจากมองว่าเด็กไทยยุคใหม่หันมาประกอบธุรกิจด้วยตนเองและทำสิ่งที่ตนเองชอบมากขึ้น โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม และการสนับสนุนที่ดีอาจนำมาซึ่งรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ตลอดจนเป็นการจูงใจให้เด็กไทยหันมาสนใจอาชีพทางด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ พลเอกโสภณ ยังให้ความเห็นต่อเรื่องที่เด็กไทยที่เรียนสายไอที แต่จบมากลับไม่ได้ประกอบอาชีพในสายไอที ว่า ขอยกตัวอย่างเด็กที่เรียนสายไอทีออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง เด็กที่มีฐานะ พื้นฐานทางครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งครอบครัวสามารถสนับสนุนการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ประกอบการมีธุรกิจของครอบครัว ทำให้เด็กเหล่านี้เลือกที่จะกลับไปทำงานกับครอบครัวเมื่อเรียนจบ

ขณะที่อีกประเภท เป็นเด็กที่มีความสนใจทางด้านไอทีจริงๆ แต่ประสบปัญหาเรื่องฐานะทางการเงิน ซึ่ง SIPA มีความตั้งใจในการจัดหาทุน ริเริ่มโครงการ จัดหาหลักสูตร เพื่อช่วยเหลือทางด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันสายงานไอทีที่กำลังมีความต้องการอย่างยิ่ง อาทิ Digital Content รวมไปถึงงานด้าน Animation ซึ่งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดให้ความสนใจในการให้คนไทยได้นำความรู้ ความสามารถมาช่วยในการผลิต Animation

ทั้งนี้ พลเอกโสภณ ทิ้งท้ายว่า จากการสนับสนุนที่ดีจะช่วยให้เด็กไทยเมื่อเรียนจบ สามารถทำงานได้ทันที หากเป็นบริษัท Startup ก็จะต้องมีงานต่อเนื่อง ถ้าเก่งด้านเขียนโปรแกรม จะต้องมีเงินทุนเพื่อต่อยอดโครงการในระยะต่างๆ และสุดท้ายสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศต่อไป

ขณะที่ ดร. ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแข่งขัน  ACM-ICPC World Final 2016 นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ของการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก ซึ่งคนภูเก็ตเอง รวมไปถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเฝ้ารอคอยให้การแข่งขันในรายการนี้เกิดขึ้น นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนจากทั่วโลกจะได้มาเห็นสิ่งดีๆ ของภูเก็ต ได้มาเห็นความพร้อมของสถานที่แข่งขัน ที่พัก อาหารการกิน และที่สำคัญที่สุดคือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล ชายหาด เกาะแก่งต่างๆ พร้อมเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทำให้ทั่วโลกได้ร่วมเก็บความประทับและนำไปบอกต่อๆ ถึงสิ่งที่ดีๆ ที่พวกเขาได้มาที่จังหวัดภูเก็ต

a10
(กลาง) ดร. ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

นอกจากเรื่องของการท่องเที่ยว การจัดแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะเด็กท้องถิ่นที่ให้ความสนใจด้านเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม ได้มีส่วนร่วมและได้สัมผัสกับการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลกที่มีโอกาสเกิดขึ้นในบ้านเราไม่บ่อยนัก อีกทั้งยังเป็นกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจเทคโนโลยีและไอทีกันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับอุดมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ ในรายการ ACM-ICPC World Final 2016 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 20 พฤษภาคม 2559 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่ง ICPC, IBM, SIPA และสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ร่วมให้การสนับสนุน โดยพิธีเปิดและการแข่งขันจะจัดขึ้นภายในสนามกีฬาจังหวัดภูเก็ต, ศูนย์กีฬาสะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ต

ซึ่งในระหว่างจัดการแข่งขันจะมีการจัดกิจกรรมและการประชุมต่างๆ หลากหลายรูปแบบ อาทิ Symposiums and Meetings การประชุม เสวนา คณะกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค (RCD Symposiums) กิจกรรมการพบปะและประชุมในส่วนของคณะกรรมการ ICPC และผู้จัดงานในระดับภูมิภาคจากทั่วโลก รวมทั้ง Staff ฝ่ายวิชาการและเทคนิคต่างๆ มีการจัดการเสวนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบแข่งขันและการเรียนรู้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here