จากข่าวลือช็อกโลก สู่การเปิดตัวที่ทำให้โลกต้องสะเทือน เมื่อทาง Facebook ประกาศเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ของตัวเอง ชูโรงเรื่องความคงที่ ความปลอดภัย และเชื่อถือได้
ก่อนอื่นมาพูดถึงเรื่องของสกุลเงินดิจิตอลกันหน่อย เชื่อว่าหลายคนรู้จัก Bitcoin มากกว่าคำว่า Cryptocurrency ซะอีก จริง ๆ แล้ว Bitcoin คือ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิตอลชนิดหนึ่ง ซึ่งมียังอีกหลายขนิด อาทิ Ethereum, Litecoin ฯลฯ แต่ Bitcoin คือสกุลเงินดิจิตอลยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก มันจึงกลายเป็นชื่อเรียกแทนของสกุลเงินดิจิตอลไปปริยาย
โอเค กลับมาที่สกุลเงินดิจิตอลอีกครั้ง จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ ไม่มี ‘ส่วนกลาง’ เข้ามาควบคุม คือปกติธุรกรรมออนไลน์ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ จะมีธนาคารเป็นตัวกลาง คอยจัดการข้อมูลทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยแลกกับการค่าธรรมเนียมต่างราคากันไป แต่สกุลเงินดิจิตอลไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่ต้องใช้การยืนยันตัวตนอะไรมากมายนัก ทำเกิดเป็นระบบธุรกรรมออนไลน์อีกทางเลือก สำหรับใครที่ไม่อยากฝากทุกอย่างไว้กับธนาคารนั้นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีกลับกลายเป็นผลเสีย เมื่อสกุลเงินดิจิตอลกลายเป็นช่องทางสำหรับการ ‘ฟอกเงิน’ ที่ดีเยี่ยมไปซะงั้น อีกทั้งมูลค่าของสกุลเงินดิจิตอล ยังแกว่งไปแกว่งมา หาความแน่นอนไม่ได้เลย อย่าง Bitcoin ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าสูงถึง 20,000 เหรียญฯ แต่วันหนึ่งกลับตกลงมาเหลือเพียง 3,000 เหรียญฯ (จนเป็นที่มาของคำว่า “เหมืองแตก”) ภายในเวลา 2 ปีเท่านั้น
จากข้อเสียดังกล่าวนี้เอง ทาง Facebook เลยเอามาเป็นจุดแข็งของ Libra ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูงอย่าง Visa, Mastercard, PayPal, Uber Technologies และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ Libra สามารถมีผู้ใช้ระดับพันล้านคนได้ !! ไม่ใช่แค่ 5 – 6 ล้านคนแบบใน Bitcoin เพราะมีหน่วยงานระดับโลกรับรอง และหน่วยงานเหล่านี้ก็มีระบบที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้หลายคนอยู่แล้ว (และต่อไปจะเข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่านี้ด้วย หลังมี Libra เข้ามา)
แล้วทำไมหน่วยงานเหล่านี้ถึงกล้ารองรับ นั้นก็เพราะ Libra สามารถแปลงเป็นสกุลเงินดั้งเดิมตามอัตราแลกเปลี่ยน หรือก็คือ มันมีเงินจริง ๆ มาค้ำประกันอยู่นั้นเอง ไม่เหมือน Bitcoin ที่ไม่มีอะไรมาค้ำมูลค่าของมันเลย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า Libra จะมีมูลค่าคงที่ ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้นแน่นอน
ทั้งนี้ Libra จะมีการตั้งหน่วยงานอิสระที่ชื่อ Libra Association เป็นหน่วยงานที่เกิดจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายหน่วยงาน ร่วมกับ Visa, Mastercard, PayPal และ Calibra หรือบริษัทลูกของ Facebook ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลส่วนสกุลเงิน Libra โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม Visa, Mastercard และ PayPal แม้จะดังและผู้ใช้เพียบ แต่มันก็ไม่สามารถเข้าผู้ใช้ที่อยู่ในบางประเทศได้ดีนัก เช่น ประเทศด้อยพัฒนา ที่ประชาชนหลายคนไม่สามารถยืนยันตัวตนกับทางธนาคารได้สะดวก แต่เชื่อไหมว่าคนเหล่านี้ กลับมี ‘สมาร์ทโฟน’ กันเกือบทุกคน จุดนี้เองทาง Facebook จึงเอามาใช้เป็นประตูสู่การเชื่อมต่อ โดยการส่ง Libra ที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับ Bitcoin เข้ามาช่วยเป็นตัวกลาง ให้สามารถเข้าถึงธุรกรรมออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ขอแค่มีสมาร์ทโฟน และแอพฯ Calibra เท่านั้น
แอพฯ Calibra คือไม้ตายของทาง Facebook อย่างแท้จริง เพราะมันคือแอพฯ หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ (Wallet) ที่สามารถใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Messenger และ WhatsApp ได้ด้วย ทั้งนี้ตัว Calibra จะเป็นแอพฯ แยกต่างหาก โดยใช้บัญชีแยกต่างหากกับบัญชี Facebook เลย ไม่ต้องกลัวว่า ‘วันหนึ่งบัญชี Facebook บิน เงินก็บินไปด้วย…’
ในอนาคต Calibra จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้กันทั่วโลก ชนิดที่ตามร้านขายของชำหรือธุรกิจเล็ก ๆ ก็สามารถจ่ายเงินผ่านแอพฯ นี้ได้ และอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่แรก Libra เป็นสกุลเงินออนไลน์ มีคุณสมบัติคล้าย Bitcoin คือ ไม่ต้องยืนยันตัวตนกับธนาคาร จึงมั่นใจได้ว่า Libra จะไม่ถูกควบคุมโดยธนาคารแน่นอน แต่สำหรับค่าธรรมเนียมนั้น อาจจะมีบ้าง แต่ก็มีน้อยมาก ๆ หรือฟรีไปเลย
สุดท้ายนี้ต้องยอมรับเลยว่า Mark Zuckerberg มาไกลจริง ๆ จากบริการ Social Media ก้าวสู่การเงินออนไลน์ระดับโลก และยังมี Internet.org หรือโครงการอินเทอร์เน็ต Free สำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก ซึ่งเชื่อว่าเฮีย Mark จะเอามาช่วยสำหรับส่วนบริการ Libra ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ Facebook ก็ถูกตั้งคำถามเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของผู้ใช้อยู่บ่อย ๆ ต้องรอดูกันต่อว่า Facebook จะกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาอย่างไร ก่อนจะเริ่มใช้ Libra อย่างจริงจังในปีหน้าครับ
ที่มา : Techspot , NewsroomSpotify , NewsroomFaceBook