ภาพดี ๆ อย่าเก็บไว้คนเดียว (แล้วแบบไหนคือภาพที่ดี ?) “ภาพสต็อก” (Stock Photo) หรือธุรกิจขายภาพออนไลน์ อีกหนึ่งวิธีหารายได้ผ่านอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมไม่น้อย อาจเป็นเพราะความง่ายของมัน ที่มีขั้นตอนเพียงแค่ นำภาพถ่าย ภาพวิดีโอ และภาพ Vector ของเรา ไปฝากขายผ่านเว็บ “Microstock” ทั้งหลาย จากนั้นก็รอรับตังค์ชิวๆ ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก แม้ฟังดูเหมือนง่ายแต่ถ้าถามกลับว่า “ภาพแบบไหนล่ะลูกค้าถึงซื้อ” และ “ทำยังไงมีคนซื้อเยอะ ๆ ” อย่าว่าแต่ลูกค้าเลยครับ ทางเว็บจะเอาผลงานเราไปขายไหม นี้ก็แทบจะ 1 ใน 100 แล้ว (แม้เดี๋ยวนี้จะปรับให้ง่ายขึ้นก็ตาม) จึงเรียกได้ว่า การขายภาพออนไลน์ไม่หมูอย่างที่คิด แต่เราเรียนรู้ได้ !!
ธุรกิจขายภาพออนไลน์คืออะไร
ธุรกิจขายภาพออนไลน์ หรืออาจเรียกสั้นๆได้ว่า Stock Photo คือ แหล่งซื้อ-ขายรูปภาพออนไลน์ สำหรับนำไปใช้เชิงพาณิชย์ หรือใช้ประกอบการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทางผู้รวบรวมจะถูกเรียกว่า Microstock หรือพวกเว็บไซต์ฝากขายภาพ ส่วนเราก็เลือกได้ว่าจะเป็นลูกค้าหรือผู้ขายก็ได้ จุดสำคัญคือ เราแทบไม่ต้องออกแรงโปรโมทหรือเสียเวลาทำสัญญาอะไรเลย เพียงแค่เอาผลงานไปลงในเว็บ ก็จะมีลูกค้าเฉพาะทางมาดูงานของเราโดยตรง แถม “ภาพ Stock Photo สามารถทำเงินได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากรูปๆ เดิม” (จำประโยคนี้ไว้นะครับ) ซึ่งถ้าเรามีรูปคุณภาพในปริมาณมากและเป็นรูปที่มีความต้องการของตลาด ก็จะสามารถทำเงินให้กับเราได้อย่างมากทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของเว็บนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งเว็บมีชื่อเสียงมาก ความยากในการสอบและพิจารณา (เพื่อขอนำผลงานขาย) ก็จะยากขึ้นด้วย
Microstock คืออะไร
Microstock คือเว็บไซต์ที่รวบรวมรูปภาพจากช่างภาพทั่วโลก แล้วนำมาขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการโดยตรง ทางเว็บจะมีลูกค้า 2 แบบคือ ช่างภาพ และ ผู้ซื้อ หลัก ๆ คือ ช่างภาพทั้งมือใหม่และมืออาชีพ จะนำภาพที่ถ่ายได้มาอัพโหลดขึ้นเว็บหลังผ่านการพิจารณาแล้ว ทางเว็บก็จะนำภาพนั้นมาแสดง ซึ่งแยกตามหมวดหมู่ตามที่ช่างภาพกำหนดไว้ เมื่อมีคนซื้อ ทางเว็บก็จะจ่ายค่าตอบแทน (คอมมิชชั่น) กับช่างภาพนั้นเอง ส่วนอัตราราคาที่ได้ก็จะแตกต่างออกไปตามประเภทของการซื้อ-ขายนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่า “ขาย” แต่จริง ๆ ควรเรียกว่า “การให้เช่าใช้สิทธิ์” เพราะลูกค้าที่ซื้อไปไม่ได้เป็นเจ้าของภาพซะทีเดียว แต่สิทธิในการเป็นเจ้าของภาพยังคงเป็นของช่างภาพอยู่ดี ส่วนลูกค้าก็ได้สิทธิในการนำภาพไปใช้ในงานต่างๆ โดยต้องไม่ละเมิดข้อบังคับบางอย่างของเว็บ Microstock นั้น ๆ ไป เช่นนำไปประกอบบทความได้ แต่เอาไปดัดแปลงหรือขายต่อไม่ได้ เว้นแต่ช่างภาพจะกำหนดให้ภาพนั้นเป็น Commercial Use หรือ Enhanced License ลูกค้าก็สามารถนำภาพนั้นไปใช้ได้อย่างอิสระเต็มที่
สำหรับรายละเอียดส่วนนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ richwithphoto.com
Microstock มี 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
- ภาพถ่าย
หรือภาพนิ่งที่เกิดจากกล้องถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นภาพสิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติ ทิวทัศน์ สังคม บุคคล และทั่วไป แต่ภาพที่ถ่ายนั้นต้องเหมาะกับเว็บ Microstock หรือเป็นรูป Stock โดยหลัก ๆ คือ ภาพต้องมีความคมชัดสูง มีวัตถุประสงค์ของภาพชัดเจน อธิบายความหมายของภาพได้ และที่สำคัญภาพนั้น ๆ ต้องสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายทาง
- ภาพวิดีโอ
หากเป็นวิดีโอในเว็บ Microstock จะเรียกอีกอย่างว่า “Footage” คือภาพวิดีโอที่ถ่ายบันทึกดิบแบบ ๆ ไม่มีการตัดต่อตัดแต่งอะไรทั้งสิ้น เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาซื้อ สามารถนำไปต่อเรื่องราวเอาเองได้ ส่วนลักษณะวิดีโอที่ถ่าย แน่นอนว่าต้องคมชัด มีเรื่องราว มีความหมายแฝง
- ภาพเว็กเตอร์
สำหรับใครที่เป็นกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ต้องรู้จักคำนี้ดีแน่นอน มันคือไฟล์ภาพชนิดหนึ่งที่เกิดจากงานกราฟิกดีไซน์ หรือโปรแกรมคอมพ์ คุณสมบัติสำคัญคือ ไฟล์ชนิดนี้เวลาจับขยายภาพแล้วจะไม่แตก ต่างจากไฟล์ภาพแบบราสเตอร์ (บางคนเรียก Bitmap) ที่หากขยายแล้วจะเห็นเป็นภาพแตกออก เห็นจุดพิกเซลเป็นตารางสี่เหลี่ยม ๆ ฃัดเจน ส่วนเวกเตอร์ (หรือ Illustrator) จะอาศัยการคำนวนทางคณิตศาสตร์ในสร้างภาพ เอาเป็นว่าต่อให้เราขยายยังไง ความละเอียดของภาพยังคงเดิม เพราะงั้นภาพเวกเตอร์จึงเหมาะสำหรับออกแบบโลโก้ สิ่งพิมพ์ ภาพการ์ตูน และไอคอนต่างๆ จนต่อมาก็ถูกนำมาขายผ่านเว็บ Microstock นี้เอง
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับธุรกิจขายภาพออนไลน์
- กล้องถ่ายภาพ
หากเป็นเมื่อก่อน กล้องที่ต้องใช้ถ่ายภาพ Stock Photo จะต้องเป็น DSLR เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้กล้องรุ่นเล็กสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกล้อง DSLR ขึ้นมาก อย่างกล้องมือถือ กล้อง Compact และ กล้อง Mirrorless ที่ปัจจุบันสามารถสร้างภาพที่มีความคมชัดและความละเอียดผ่านเกณฑ์ของเว็บ Microstock ได้สบายๆ (4 – 6 ล้านพิกเซลขั้นต่ำ) แต่ส่วนตัวแนะนำว่าใช้กล้อง DSLR จะดีกว่า เนื่องจากประสิทธิภาพที่เหนือกว่า และจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ขายภาพได้มากกว่าด้วย แต่ถึงอย่างไรแล้ว ก็ขึ้นอยู่ที่ความชอบและความถนัดของแต่ล่ะคน
- ขาตั้งกล้อง
แนะนำว่าให้ซื้อเลยครับ เพราะจะช่วยลดภาพสั่นที่ส่งผลต่อความคมชัดของภาพได้ดีมากๆ ซึ่งพวกเว็บ Microstock จะเน้นตัวโตๆเลยว่า “ถ่ายภาพต้องมีความคมชัดสูงเท่านั้น” ตัวขาตั้งกล้องนี้เอง จะช่วยในส่วนนี้ได้มากทีเดียว
- คอมพิวเตอร์ + โปรแกรมแต่งภาพ + อุปกรณ์เก็บข้อมูล
ส่วนนี้อาจเป็นอะไรที่หลายๆคนมีกันหมดแล้ว แต่หากจะเข้าวงการนี้ แนะนำว่าควรใช้คอมพ์ที่มีสเปกสูง เพื่อช่วยให้เราสามารถเปิดดูไฟล์รูปภาพความละเอียดสูงได้รวดเร็ว และช่วยให้ใช้งานโปรแกรมแต่งภาพได้ดียิ่งขึ้น ส่วนอุปกรณ์เก็บข้อมูลแนะนำเป็นอย่างยิ่งเลยว่า ควรใช้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุสูงสุดเท่าที่จะหาได้เลยครับ และอาจต้องใช้อีกตัวสำหรับทำ Backup ด้วย จะได้ไม่เสียใจภาพหลัง เวลาไฟล์งานที่อุตสาทุ่มเทมาดันหายนั้นเอง
– บัญชี Paypal
ส่วนนี้ห้ามขาดเลยครับ สำหรับใครที่อยากมีรายได้ในธุรกิจนี้ ทางเว็บ Microstock แทบทุกเว็บเลย จะใช้ช่องทางนี้ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของภาพ เนื่องจากมันเป็นบัญชีวงเงินออนไลน์ที่ใช้กันทั่วโลก แต่ก่อนสมัคร เราควรมีบัตรเครดิต/เดบิต (VISA) ด้วยจะดีมาก เพื่อเอาไว้ผูกบัญชี Paypal กับบัญชีธนาคารของเรา ทางโน่นจะได้โอนเงินมาให้เราได้
5 เว็บไซต์ Microstock ยอดฮิต
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มขายภาพออนไลน์ หรือมีความสนใจโดยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านขายภาพมาก่อน ก็ขอให้เริ่มต้นกับเว็บ 1 ใน 5 นี้กันก่อน (พวกมีประสบการณ์หรือสายตรงจะมีเว็บพวกนี้เป็นสิบ ๆ ) แต่ทั้ง 5 เว็บนี้ ก็ถือเป็นเว็บ Microstock ยอดฮิตติดอันดับของโลก และเป็นเว็บที่มีการซื้อ – ขายภาพเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้นความยากในการส่งภาพขายจะมีความเข้มงวดอยู่พอควร แต่เพราะอย่างนี้เองจึงให้เริ่มกับ 5 เว็บนี้ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทาง และเอาไว้ขัดเกลาฝีมือ ส่วนแต่ล่ะเว็บมีลักษณะอย่างไร มีข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง รายละเอียดก็มีดังนี้
Shutterstock
ปัจจุบัน เว็บ Shutterstock ยังคงเป็นขวัญใจช่างภาพหรือกราฟฟิกดีไซน์หลาย ๆ คน (ช่างภาพสต็อก) เพราะแทบจะไม่มีเว็บ Microstock ไหนดีไปกว่านี้แล้ว ทั้งการสอบที่ง่ายกว่าเดิมอย่างมาก (เมื่อก่อนแทบหืดจับ) และค่าตอบแทนที่ให้ราคาดี มียอดดาวน์โหลดอยู่เรื่อยๆ ตัวเว็บก็ยังเหมาะทั้งมืออาชีพและมือใหม่ด้วย เพราะทางเว็บให้โอกาสทั้งภาพที่ถ่ายจากกล้อง Compact หรือภาพจากกล้อง DSLR ที่ถ่ายด้วยเลนส์ KIT ธรรมดาๆ ขึ้นอยู่ที่ช่างภาพว่าจะสามารถถ่ายมันออกมาให้ได้คุณภาพสูงพอจะผ่านเกณฑ์ได้หรือไม่
iStockphoto
สำหรับเว็บนี้ ถือเป็นเว็บที่มีความเก่าแก่มากที่สุด เพราะเป็นเว็บ Microstock แห่งแรกของโลก เป็นที่สุดในหลายๆด้านของธุรกิจนี้ แต่ชื่อเสียงในหมู่ของช่างภาพ Stock คือ เป็นเว็บที่เขี้ยวและเข้มงวดเรื่องการสอบและพิจารณาเป็นอย่างมาก คุณภาพไฟล์รูปภาพที่จะได้ขายในเว็บนี้ ต้องเป็นที่สุดจริง ๆ จึงจะเห็นได้เลยว่า ภาพในเว็บนี้แต่ล่ะรูปจะสวยเป็นพิเศษทีเดียว แต่ปัจจุบัน ก็เช่นเดียวกับเว็บ Shutterstock คือ มีความง่ายขึ้น ไม่เช้มเหมือนเมื่อก่อน อย่างการสอบของเว็บ เขาจะให้ช่างภาพสต็อกไปคัดเลือกภาพที่คิดว่าดีที่สุดมา 3 ภาพ ฟังดูเหมือนน้อย แต่การคัดเลือกจะอยู่ในขั้นสูงสุดสุด ห้ามมีตำหนิหรือจุดบกพร่องแม้แต่นิดเดียว จะถูกตัดสินให้ไม่ผ่านทันที (ขอคารวะให้กับคนที่สอบผ่านในยุคแรก ๆ เลย) ดังนั้นผู้ที่จะผ่านการสอบของ iStockphoto ได้จะต้องมีความรู้ด้านเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพระดับดีมาก เอาเป็นว่า ใครที่สามารถสอบผ่านในเว็บนี้ได้ ถือว่ามีฝืมือในระดับหนึ่งแล้วครับ
Dreamstime
ใครที่เบื่อการสอบก่อนรับภาพเพื่อพิจารณาให้ขาย เว็บนี้จัดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเลย เพราะทางเว็บไม่มีการจัดสอบเพื่อทดสอบฝืมือ แต่เราสามารถส่งรูปภาพให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ (Inspector) ภาพพิจารณาได้ทันที การตรวจไม่เข้มงวดมาก ถ้าผ่านก็ขึ้นขายเลย ถ้าไม่ผ่านก็ส่งใหม่ แต่ยังไงก็ตาม แม้ทางเว็บมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ อยู่ก็จริง แต่ยอดขายยังน้อยกว่า 2 เว็บก่อนหน้าพอควร ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเป็นเว็บที่เหมาะมากสำหรับมือใหม่หัดเข้าวงการอยู่ดี
Fotolia
อีกเว็บ No Test หรือเว็บไม่มีการสอบการเข้า เว็บนี้ก็จัดเป็น Microstock ระดับหัวแถว มีระดับความยากง่ายในการตรวจสอบก่อนขึ้นขายเหมือน ๆ กับเว็บ Dreamstime แต่มีบางคนบอก เว็บนี้ให้อารมณ์แบบ “คุณครูคอยตรวจการบ้าน” ไม่รู้ว่าคิดแบบเดียวกันหมดหรือเปล่า ส่วนยอดขายก็ ยังเทียบไม่ได้กับเว็บ Shutterstock และ iStockphoto เหมือนกัน
123RF
สุดท้ายสำหรับเว็บนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นม้ามือ หลังจากที่หนึ่งมียอดขายตก แต่ต่อมาก็กลับมีเพิ่มขึ้นไม่น้อย แม้ยังไม่สามารถสู้เว็บ Shutterstock และ iStockphoto อีกเช่นเคย แต่จุดเด่นจริง ๆ ของเว็บนี้เลยคือ การส่งภาพขึ้นขายที่ง่ายมากๆ ทำให้มือใหม่หรือมือสมัครเล่น สามารถส่งผลงานให้กับที่นี้ได้ไม่ยากเย็น มีผลงานไปโชว์ให้คนอื่นเห็นได้ง่าย ถือเป็นกำลังใจสำหรับการเริ่มต้นขายภาพออนไลน์ครั้งแรกได้เป็นอย่างดี
วิธีสมัครขายภาพออนไลน์กับเว็บ Shutterstock
มาถึงหัวข้อสำคัญกันแล้ว ใน Microstock ทุกเว็บ ใช้ว่าจะเอารูปไปอัพโหลดขึ้นขายได้เลย ก่อนที่ภาพของเราจะไปวางโชว์ในเว็บนั้น ภาพของเราจะต้องผ่านการพิจารณาจากทางเว็บเสียก่อน ถึงจะขายได้ แต่ยังมีส่วนที่ยากกว่านั้น คือ “การส่งภาพสอบ” ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการสอบของเว็บ Shutterstock เป็นหลัก เพราะถือเป็นเว็บ Microstock ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี สำหรับการส่งภาพสอบของเว็บนี้ เราจะต้องคัดภาพที่ดีที่สุดของตัวเองด้วยกันทั้งหมด 10 ภาพ ความละเอียดของภาพต้องอยู่ที่ 4 ล้านพิกเซลขึ้นไป ส่วนขั้นตอนการสมัคร ในเว็บจะมีการแยกหน้าลงทะเบียนของผู้ซื้อภาพกับผู้ขายภาพ (หรือช่างภาพ) ออกจากกัน โดยช่างภาพจะมีหน้าเว็บต่างหากเลยคือ “Contributor” ส่วนขั้นตอนก็มีดังนี้
1.เข้าไปที่ http://submit.shutterstock.com จากนั้นให้คลิกที่ปุ่ม “Sign up now”
2.กรอกชื่อจริง, ชื่อไอดี, E-mail และรหัสสำหรับเข้าระบบให้ครบ
3.ไปที่หน้า Inbox ของ E-mail ตามที่กรอกไป ก็จะเจอกับลิงค์ยืนยันตนคำว่า “Please cilck here to verify your email.” ให้กดคลิกเข้าไปเลย
4.หลังยืนยันอีเมล์เสร็จแล้ว ในลิงค์ที่เรากดยืนยัน มันจะพาเรามาในหน้ากรอกรายละเอียดที่อยู่ ซึ่งจะยุ่งยากนิด ๆ ตรงที่เราต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย (ใครมีเตรียมไว้แล้วก็สบายไป)
4.จากนั้นจะมีตัวเลือกประเภทของผลงานที่ต้องการส่ง ก็จะมีให้เลือกระหว่าง ภาพถ่าย ภาพวิดีโอ และภาพเวกเตอร์ แต่ในที่นี้เราจะเน้นไปที่ภาพถ่าย ให้กดคลิกปุ่ม Photos เลยครับ
5.กรอกที่อยู่เสร็จแล้ว ระหว่างนี้ใครมีภาพ Stock เตรียมไว้แล้ว ให้กดที่ปุ่ม ‘อัพโหลดภาพ’ ต่อเลย
6.ก่อนเข้าสู่หน้าอัพโหลดภาพ ทางเว็บจะมี Pop-Up แจ้งกติกาการอัพโหลดภาพคร่าว ๆ อย่างอัพโหลดไฟล์ JPEG ขนาดความคมชัดอย่างน้อย 4 ล้านพิกเซลขึ้นไป รวมไปถึงการอัพโฟล์วิดีโอกับไฟล์ Vector และการขออนุญาตอัพโหลดภาพบุคคล จุดนี้ใครที่จะอัพไฟล์รูปภาพ (ที่ไม่มีหน้าบุคคล) อย่างเดียว ก็กด ‘เข้าใจแล้ว’ ต่อเลย
7.เลือกภาพที่ต้องการ จากนั้นก็โยนใส่ในนี้และรอสักครู่
8.อัพโหลดเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่หน้า Submit หรือส่งเนื้อหา ในหน้านี้ถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายภาพของเราเลยคือ จะขายออกไหม คือภาพสวยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องค้นหาง่ายด้วย จากการใส่ข้อมูล Description, Category และ Keyword เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาให้ขายออกได้ง่าย ๆ นั้นเอง หลังส่งเสร็จ ก็รอผลตรวจประมาณ 1 – 2 วัน ผ่านทาง E-mail ที่สมัครไว้ต่อไปครับ
ขั้นตอนการส่งเนื้อหา (Submit) ของเว็บ Shutterstock
สำหรับใครที่จะขายภาพออนไลน์บนเว็บ Shutterstock ในหน้าส่งเนื้อหา หลายคนได้คลุกอยู่หน้านี้เป็นเวลานาน หรืออาจทั้งวันกันเลย ยิ่งใครที่อัพโหลดภาพเป็นจำนานมาก ก็ยิ่งใช้เวลาในการกรอก Description, Category และ Keyword เยอะเท่านั้น เพราะเราต้องกรอกมันทีละภาพ ส่วนความหมายของทั้ง 3 คำ ก็มีดังนี้
- Description : ตั้งชื่อภาพเป็นภาษาอังกฤษ และควรตั้งให้ตรงกับตัวภาพ เช่นรูปคนดำน้ำในสระ ก็ตั้งชื่อประมาณว่า “Underwater” หรือ “Underwater view of athletic swimmer”
- Keywords : ใส่คำที่สื่อถึงภาพนั้น ๆ เพื่อเวลาลูกค้าค้นหาภาพที่ต้องการจะได้เจอภาพของเราได้ง่าย ๆ เช่นเราอัพรูปคนดำน้ำในสระ ก็ใส่ Keywords เข้าไปอย่างน้อย 7 คำดังนี้ swim, swimsuit, swimwear, blue, pool, active, fitness เป็นต้น
- Category : ตั้งหมวดหมู่ภาพของเรา ในช่องมันจะมีให้เลือก 2 หมวด เราต้องกำหนดอย่างน้อยหนึ่งหมวด แต่ถ้าสองเลยจะยิ่งดี
เทคนิคการส่งภาพสอบให้ผ่าน และผ่านการพิจารณา
ในขั้นตอนส่งรูปภาพ 10 รูป อย่างที่กล่าวไปคือ ภาพต้องคมชัด ความละเอียดสูง และต้องสวยที่สุดเท่าที่เรามี แต่ในปัจจุบัน การสอบไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ที่สมัยก่อนต้องส่ง 10 ภาพ แต่ต้องผ่าน (Approved) อย่างน้อย 7 ภาพขึ้นไป ทว่าเดี๋ยวนี้แค่ภาพเดียวก็พอแล้วครับ แต่เพื่อความไม่ประมาท เผื่อมีโอกาส “ไม่ผ่าน (Rejected) เลยสักภาพ” หรือต่อให้สอบผ่าน ก็ต้องเจอด่านพิจารณาภาพก่อนขายของเว็บอยู่ดี เราลองมาดูกันว่า พวกเว็บ Microstock ชอบภาพแบบไหนกัน
1.ภาพต้องสื่อความหมายได้
อย่างที่เน้นยำมาตลอดว่า ภาพใน Microstock ต้องมีจุดประสงค์ มีความหมาย อาจมีบางคนส่งภาพ “Snapshot” (ภาพถ่ายที่ถ่ายอย่างรวดเร็ว) ไป ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เว็บเค้าจะไม่ค่อยรับภาพแนวนี้เท่าไรนัก เพราะภาพประเภทนี้ เขาถือว่า “เหมือนเป็นภาพถ่ายเล่นๆ หาความหมายไม่ได้” เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ลองดูภาพเปรียบเทียบนี้ดูครับ
ภาพ Snapshot
ภาพ Stock
จะเห็นได้เลยว่า ภาพแรก “หมาหลับ” เราแทบสื่อความหมายไม่ได้เลย แต่พอเป็นภาพที่สอง “น้องหมา” ชื่อนี้ผุดขึ้นในหัวทันที เพราะภาพมันสื่อความหมายถึงความน่ารักของหมาตัวนี้ออกมาโดยอัตโนมัติ ภาพแบบนี้แหล่ะที่ Microstock ต้องการ
2.ภาพต้องคมชัด
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องซีเรียสเป็นพิเศษ นั้นคือความคมชัด แต่ความคมชัดในที่นี้ ต้องในระดับที่ซูมดูระดับหนึ่งภาพยังชัด ดังนั้นถ้าอยากให้ภาพออกมาชัดเป็นพิเศษนี้ สิ่งที่เราควรมีเลยคือ “ขาตั้งกล้อง” เพราะร้อยทั้งร้อย เวลาเราถือกล้อง มือทุกคนจะสั่น แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลให้ภาพมีความคมชัดน้อยลงอย่างมาก ถัดมาก็ควรปรับใช้ Auto fucus ดีกว่าใช้ Manual focus ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ล่ะคนไป จึงบอกไม่ได้ให้ใช้ตามนี้เป๊ะๆ แต่ ขาตั้งกล้อง กับ Auto fucus ควรมีครับ
3.แสงต้องไม่เพี้ยน
หมายถึงแสงของภาพต้องมีความพอดี ดูเป็นธรรมชาติ คือต้องไม่มืดหรือสว่างเกินไป ทั้งนี้นอกจากแสงต้องไม่เพื้ยนแล้ว สภาพเงาสะท้อนต้องไม่แข็งด้วยคือ ภาพที่ถ่ายต้องมีความนุ่มนวลในระดับหนึ่ง ส่วนนี้อาจใช้โปรแกรมเข้ามาช่วยได้ตามความเหมาะสม
4.องค์ประกอบรูปต้องพอดี
การจัดวางองค์ประกอบของภาพ ส่วนมากมักจะใช้พวกทฤษฎี เส้นนำสายตา เส้นทแยงมุม จุดตัดเก้าช่อง กฎสามส่วน ฯลฯ จุดนี้คงแนะนำอะไรไม่ได้มาก แต่เดาได้ว่า ทางเว็บน่าจะต้องการ “รูปภาพที่มีความพอดี” เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อ เขาต้องการภาพที่ใช้เป็นวัตถุดิบกับงานอื่น ๆ หมายความว่า ภาพต้องมีช่องว่าง ให้ลูกค้าสามารถใส่รายละเอียดอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น โลโก้ ข้อความ ตัวอักษร เป็นต้น
5. Noise ไม่ควรมี เป็นไปได้อย่ามีเลย
Noise ที่ทำให้ภาพดูมีตำหนิไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดการเราไปตั้ง ISO สูงเกินไป หรือเกิดจากการใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำในขณะถ่ายภาพ ไม่ก็ตอนปรับแต่งภาพ เราเพิ่มความสว่างมากเกินไป จุดนี้ก็ขอให้ระวังพอควร เพราะหากภาพมี Noise เมื่อไร ทางเว็บจะ Rejected อย่างไวเลยครับ
6.ห้ามถ่ายติดเครื่องหมายการค้าใดๆ
เช่นเวลาเราจะถ่ายคนนั่งเล่นโน็ตบุ๊ต แต่ดันไปถ่ายติดโลโก้หรือแบรนด์ของเครื่องเข้าอย่างจัง ตรงนี้ทางเว็บจะไม่รับเลย เพราะถือว่าเป็นการโฆษณา ดังนั้นการถ่ายภาพส่งเว็บ Microstock ควรตรวจสอบให้ดี ๆ ว่า มีโลโก้หรือชื่อแบรนด์อะไรติดมาหรือไม่
7.อย่าเพิ่งส่งภาพสิ่งก่อสร้างหรือภาพบุคคลไป
หากเราส่งภาพสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สถานที่สาธารณะ หรือภาพบุคคลเพื่อขอสอบ เราจะต้องมีเอกสารการยินยอมไปด้วย คือถ้าถ่ายภาพคนแบบเห็นหน้าชัด ๆ มีต้องเอกสารเซ็นยินยอมจากคน ๆ นั้นไปให้ด้วย เช่นเดียวกับภาพก่อสร้างต้องมีเอกสารเซ็นยินยอมจากเจ้าของ ต้องบอกเลยว่า มันเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก หากเพิ่งเริ่มต้นขายภาพออนไลน์ ควรส่งภาพแบบอื่นที่ไม่ใช่แนวนี้ไปก่อนครับ
8.ไม่แต่งภาพจนเกินงาม
ในภาพถ่าย เราอาจปรับแสงหรือสีของภาพได้ แต่อย่าได้ตัดแปะภาพอย่างอื่นลงไป เช่นทำกรอบในภาพ ทางเว็บไม่รับงานแบบนี้แน่นอน ดังนั้นเอาแค่ปรับแสงสีของภาพให้พอดีก็พอแล้ว แต่ก็ต้องไม่ปรับจนเวอร์เกินไปด้วยนะ
แบบไหนถึงขายได้ (และขายได้ตลอด)
ถ่ายภาพไม่ยาก ถ่ายให้สวยก็ไม่ยากมาก แต่ถ่ายให้ขายได้ แบบไปจนตลอด อันนี้ยาก… จากหัวข้อที่แล้ว เราได้เรียนรู้เทคนิคการส่งภาพสอบของเว็บ Shutterstock ไปแล้ว ก็เรียกได้ว่าไม่ยากนัก แต่หากเป็นขั้นตอนขายแล้ว มันจะอีกแบบหนึ่งเลย ผมเคยบอกไปว่า “ภาพ Stock Photo สามารถทำเงินได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากรูป ๆ เดิม” มันฟังดูดีก็จริง แต่อย่าลืมว่า ในเว็บ Microstock ยังมีภาพให้เลือกอีกนับล้าน ๆ ภาพ เท่ากับว่าเรามีคู่แข่งนับไม่ถ้วน ในวัน ๆ หนึ่งจะมีรูปภาพใหม่ ๆ เข้ามาขายโดยตลอด ดังนั้นเลิกหวังได้เลยว่า ภาพเดียวของเราจะขายได้ตลอดกาล ฉะนั้นเราจะมาว่าด้วยวิธีการขายภาพ Stock Photo ให้ขายออกโดยไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ต้องขายได้เรื่อย ๆ
1.ขายภาพครั้งแรกควรจัดหนัก
ทุก ๆ ครั้งที่มีการอัพโหลดภาพขึ้นขายในเว็บ Microstock ส่วนที่เพิ่งมาใหม่นั้น จะไปปรากฏอยู่ในส่วนหน้าแรก ตรงจุดนี้เอง สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ ถือเป็นนาทีชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นโอกาสเดียวที่ลูกค้าจะเห็นงานของเราแบบไม่เจาะจงมากนัก เราจะได้แจ้งเกิดหรือไหมก็ตรงนี้ มีคนเคยบอกว่า มันจะมีลูกค้าหลายคนคอยรอดูภาพใหม่ ๆ ในหน้านี้ คนไหนเห็นภาพนั้นสวยก็จะซื้อเลย โดยแทบไม่ต้องคิด ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นมือใหม่ หลังสอบผ่านแล้วให้ “จัดหนัก” กระหน่ำอัดภาพรัว ๆ ในช่วงนี้เลยครับ (บางคนส่งทีเป็น 100 รูปเลยก็มี) เพื่อให้ภาพของเราได้มีโอกาสไปเข้าตาลูกค้าบางคน ให้มาสนใจผลงาน Port ของเราที่รูปยังน้อยอยู่ คนติดตามผลงานยังไม่มีนี้เอง เราจะได้มีลูกค้าประจำไงครับ
2.ขยันส่งภาพใหม่ ๆ อยู่เสมอ
หลังจากจัดหนักในข้อแรก จนเรามีคนติดตามผลงาน และมีภาพใน Port เยอะ ๆ ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ มันเคยมีเหตุการณ์ “ช่วงแรกดี ช่วงหลังกร่อย” คือตอนแรกขายดี มียอดดาวน์โหลดเรื่อยๆ แต่หลัง ๆ ยอดกลับลดลง บางทีก็ลดฮวบ สาเหตุก็เพราะ “เราขาดความสม่ำเสมอ” ผมเคยบอกไปแล้วว่า วัน ๆ หนึ่ง มีคนส่งภาพใหม่ ๆ โดยตลอด ส่วนจำนวนภาพคงไม่ต้องเดา ดังนั้น เราควรมีผลงานใหม่ ๆ มาอัพเดตอยู่ตลอดว่า อย่าขาดช่วง ไม่งั้นโดนคู่แข่งคนอื่นแซงแน่ และสุดท้าย Port ของเราก็จะร้างในที่สุด…
3.ส่องดูภาพที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น
ในหน้าเว็บ shutterstock จะมีหน้า “การค้นหาภาพสต็อกยอดนิยม” ในส่วนนี้เราจะเห็นเลยว่า ปัจจุบัน Keyword ยอดฮิตของเว็บคืออะไร และภาพที่ส่งเข้ามาใหม่นั้นเป็นยังไง ให้เราลองไปดู เพื่อศึกษาแนวทางเลยครับ จากนั้นก็ส่งภาพประเภทเดียวกันของตัวเอง เข้าสู้เลยครับ เราจะได้มีลูกค้าเห็นผลงานของเรามากขึ้น แต่ยังไงก็อย่าลืม “แนวงานของตัวเอง” ดังข้อสุดท้ายนี้ด้วย
4.สร้างแนวงานของตัวเองให้เป็นที่จดจำ
ในหมู่ช่างภาพ Stock เอง แต่ล่ะคนก็จะมีภาพแนวถนัดหรือแนวผลงานเด่น ๆ ของตัวเองแตกต่างกันไป อย่าง Yuri Arcurs ช่างภาพขาวสวีเดนคนนี้เอง ก็จะเด่นเรื่องของการถ่ายภาพบุคคล มีลูกค้าประจำหลายคน ค่อยติดตามผลงานลักษณะนี้ของเขาตลอดเวลา ทำให้ภาพของเขาขายได้เรื่อย ๆ แทบจะไม่สิ้นสุด ดังนั้น หากเราอยากไปให้ถึงจุดนี้ได้ ก็อย่าลืมสร้างแนวผลงานเด่นของตัวเองให้เป็นที่จดจำ แต่ขอเตือนอีกนิด หากใครมาถึงจุดที่มีทั้งลูกค้าประจำและแนวงานเด่นเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดอยากเปลี่ยนแนวขึ้นมาซะงั้น ตรงนี้อย่าเปลี่ยนแบบกะทันหันเด็ดขาด ไม่งั้นลูกค้าประจำจะหายเอาได้ ถ้าอยากเปลี่ยนจริง ๆ ก็ให้ค่อย ๆ เปลี่ยน แต่ยังมีการผสมผสานกันไป เพื่อค่อย ๆ สร้างลูกค้าประจำใหม่โดยที่ลูกค้าประจำเก่ายังไม่หายไปไหน จนกว่าจะได้ลูกค้าประจำใหม่เต็มตัว
รายได้จากการขายภาพออนไลน์ (Shutterstock)
ในเว็บ shutterstock หลังจากที่เราอัพโหลดรูปลงขายแล้ว ทางเว็บก็จะจัดแจงแบ่งราคาแบ่งขนาดภาพของเราโดยอัตโมมัติ สิ่งที่มือใหม่หัดขายทุกคนต้องเจอคือ “$0.25” หรือประมาณ 8 – 9 บาทไทย นี้คือตัวเลขราคาขายภาพขั้นต่ำของเว็บต่อ 1 ภาพหรือต่อ 1 ดาวน์โหลด และจะเป็นตัวเลขที่เห็นบ่อยที่สุดในช่วงแรก ๆ แต่อย่าเพิ่งมองมันว่าน้อย หากเราส่งผลงานลงเว็บเรื่อย ๆ ก็จะมียอดดาวน์โหลดมากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น จนในที่สุดก็เลข $0.25 ก็จะขยับเป็น $0.33 > $0.36 > $0.38 หรือมากกว่านี้ ตามเงื่อนไขในรูปเลยครับ
สรุปคือเว็บ shutterstock จะแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามยอดขายที่เราได้คือ $500, $3000, $10,000 และ $1X,XXX ขึ้นไป เรียกได้ว่าเป็นบันไดที่รอให้ทุกคนก้าวข้าม โดยมีตัวช่วยอย่าง OD, EL และ SI ช่วยดันยอดขายให้มากขึ้น ฉะนั้นรออยู่ใย รีบไปสร้างผลงานใหม่ ๆ และรีบเอามานำเสนอให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกครับ