มทร. ธัญบุรี เปิดบ้านเจ้าภาพโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้ (RMUT KM+2) ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” (Knowledge Management : Innovative University) ระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี
มทร. ธัญบุรี เปิดบ้านเจ้าภาพโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้ (RMUT KM+2) ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” (Knowledge Management : Innovative University) ระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้ (RMUT KM+2) ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” (Knowledge Management : Innovative University) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นเจ้าภาพจัดในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรระหว่างเครือข่ายการจัดการความรู้และผู้สนใจ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อใช้ในการพัฒนาการทำงานของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เผยแพร่องค์ความรู้ของเครือข่ายการจัดการความรู้สู่สังคม เป็นแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัย สถาบัน ในเครือข่ายมุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยนวัตกรรม”
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ เปิดเผยว่า ในการจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม คือ การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การสร้างนวัตกรรม และการสร้างคนผลิตนวัตกรรมเข้าสู่สังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นหัวใจทางด้านการศึกษา และเป็นหัวใจต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม ทุกคนในมหาวิทยาลัยคิดและประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม โดยแบ่งการจัดการนวัตกรรม ออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ได้แก่ ภาคที่ 1 การสร้างนวัตกรรม หัวใจที่สำคัญที่สุด มหาวิทยาลัยต้องตั้งถามว่าในมหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมจำนวนเท่าไร เป็นนวัตกรรมที่มีการผสมผสานศาสตร์คณะกับคณะ และนวัตกรรมที่ได้ร่วมกับภาคเอกชน สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ภาคที่ 2 การสร้างบัณฑิตนวัตกร การเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษาคิด แก้ปัญหา และเป็นผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ผลงานวิจัย โปรเจค ต้องออกมาในเชิงนวัตกรรม โดยสิ่งเหล่านี้เป็นพันธะกิจของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายไปสู่มหาวิทยาลัยนวัตรรม สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย มีการคิดค้นควบคู่กัน ทำงานผสมผสานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและนอกประเทศ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องจบด้วยการสร้างงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อเป็นตัวส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งต่อไป
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลากหลายประเภทภายในงาน ได้แก่ การแสดงผลงานนิทรรศการ โปสเตอร์ แนวปฏิบัติที่ดี จากทุกสถาบัน หัวข้อ นิทรรศการงานวิจัย นวัตกรรมเด่นจากทุกสถาบัน “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” การบรรยายหัวข้อ “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี และการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดี ของอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา โดยมีผลงาน บทความกว่า 124 บทความ ผลงานโปสเตอร์ 90 โปสเตอร์เข้าร่วมประกวด และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี “ชุมชนนักปฏิบัติ” จำนวน 7 ชุมชนนักปฏิบัติ