มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ดำเนินโครงการ “1 กล้อง 1 สถานประกอบการ” สร้างเครือข่ายชุมชนดูแลชุมชนนำร่องในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ดำเนินโครงการ “1 กล้อง 1 สถานประกอบการ” สร้างเครือข่ายชุมชนดูแลชุมชนนำร่องในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ โดยมหาวิทยาลัยได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและผู้นำชุมชนในอำเภอบางพลี ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรบางพลี องค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง กำนันตำบลบางโฉลง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และสถานประกอบการนำร่องรอบมหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ซึ่งได้ปรับมุมกล้องวงจรปิดไปยังถนนสาธารณะ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านธวัชชัย นามสมุทร นายอำเภอบางพลี และ รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ภายหลังจากลงนามความร่วมมือมหาวิทยาลัยได้ประกาศผลและมอบรางวัล “วินหมวกทองคำ” ครั้งที่ 3 แก่วินจักรยานยนต์สาธารณะที่ผู้ใช้บริการให้คะแนนสูงสุดในด้านความปลอดภัยและการให้บริการที่ดีจาก 16 วินรอบมหาวิทยาลัยในโครงการสวมหมวกนิรภัย 100% ขยายผล ไปยังจักรยานยนต์รับจ้าง “การเข้าถึงหมวกนิรภัยกลาง : คลุมก่อนสวม” เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องโถง ชั้น 4 อาคารอำนวยการ มฉก.
รศ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดี ได้กล่าวถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติไม่มีใครเป็นเจ้าของ มหาวิทยาลัยเป็นของขวัญที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบให้ชุมชนโดยเฉพาะชุมชนของจังหวัดสมุทรปราการและภาคตะวันออก เพื่อสร้างผู้มารับใช้สังคม และเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน มหาวิทยาลัยติดตั้งกล้อง CCTV ตั้งแต่ปี 2549 เราตรวจดูกล้องทุกวัน ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เมื่อติดตั้งแล้วลดการทำผิด ไม่ซื่อสัตย์ หรือการขโมย เป็นประโยชน์ช่วยเหลือบ้านเมืองและสถานีตำรวจในการค้นหาคนร้าย เรามุ่งมั่นที่จะช่วยสังคม ไม่ต้องการเป็นภาระสังคม การดำเนินโครงการสวมหมวกนิรภัย 100% ก็เช่นกัน เป็นการป้องกันการเสียชีวิต เราต้องการให้สังคม ของเราทั้งหมดลดภาระให้หน่วยราชการ สังคม ประเทศชาติ วินจักรยานยนต์สาธารณะรอบมหาวิทยาลัยขอให้ช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันดูแล จะเป็นสิ่งที่ดีมากครับ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้ร่วมมือกัน มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าจะร่วมมือกับท่านทั้งหลายทำให้สังคมดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปครับ” นอกจากนี้ พ.ต.อ.รักศักดิ์ เมฆจินดา รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรบางพลี ได้ให้เกียรติกล่าวถึงประโยชน์ ของการติดกล้องวงจรปิดต่อสวัสดิภาพของชุมชนว่า “ทุกคดีหัวใจสำคัญของความสำเร็จมาจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมาก เป็นหลักฐานชั้นดี ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติมีโครงการดี ๆ ที่เป็นบุญ เช่น การกำหนด Zoning ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขรอบสถาบัน และโครงการนี้ 1 กล้อง 1 สถานประกอบการซึ่งตรงกับความคิดของผมคือ 1 กล้อง 2 ถนน เพียงแค่หันกล้องส่องถนนนิดเดียวแต่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากมาย ทุกวันนี้เราสำรวจกล้องวงจรปิดประมาณ 7-8 พันตัว และนำมากำหนดจุดบน Google Map เราแบ่งภารกิจเพื่อประชาชนเหนื่อยไม่เป็นไร ถ้าหยุดจะติดตามยาก ไม่ขออะไรมากครับขอแค่หันกล้องวงจรปิดไปส่องถนนก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่สามารถพิชิตคดีได้ ขอขอบคุณโครงการดี ๆ ในวันนี้ครับ” และโครงการนี้ไม่อาจสำเร็จได้ถ้าปราศจากสถานประกอบการซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 18 แห่งรอบมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.หอพักเอกอารี 2.บริษัท เตียกุ่ยฮวดลิฟวิ่งเพลส จำกัด 3.กิตตินคร รีสอร์ท 4.บริษัท ดีซีเค แลนด์ จำกัด 5.The Impress 6.ร้านกับข้าวธนพร 7.โรงแรม H5 8.ตึก Emtee Room 9.บริษัท ศิริสมัย จำกัด 10.หอพัก U-House 11.ตลาดจันทร์เจริญ 12.ร้าน 59 ขจรกิตต์ 13.ร้านกฤช ฮาร์ดแวร์ 14.ร้านข้าวสารเอกชีวิน 15.ร้านทองศรีวารี 16.ตึกนายโจ 17.ตลาดแก้ววรรณะ และ18. ร้านทองพันชั่ง หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือมหาวิทยาลัยได้ประกาศผลและมอบรางวัล “วินหมวกทองคำ” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับวินจักรยานยนต์สาธารณะที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กิจกรรมนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยผู้ใช้บริการประเมินให้คะแนนเกี่ยวกับความสะอาดและมาตรฐานของหมวกนิรภัยเสื้อวินต้องตรงกับบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียน ความพึงพอใจด้านความปลอดภัยและการให้บริการที่ดี โดยวินจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีคะแนนสูงสุดได้รับรางวัลหมวกทองคำ เกียรติบัตร ป้าย “วินหมวกทองคำ” และหมวกคลุมผมอ่อนสำหรับสวมก่อนสวมหมวกนิรภัยสำหรับบริการผู้โดยสาร ผลการมอบรางวัลชนะเลิศแก่วินจักรยานยนต์สาธารณะ 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 คือ วินเฉลิมพระเกียรติ และครั้งที่ 2 คือ วินเที่ยงธรรม และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 คือ วินปากซอยวัดศรีวารีน้อย
การดำเนินงานโครงการทั้งสองของมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอำเภอบางพลี สถานีตำรวจภูธรบางพลี กำนันตำบลบางโฉลง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กองร้อยรักษาความสงบอำเภอบางพลี และองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง มหาวิทยาลัยขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะเป็นรากฐานของ “การร่วมมือกันของชุมชนเพื่อชุมชน” เสริมกำลังใจและเชิดชูการทำความดีของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายการทำความดีให้เข้มแข็ง และขยายออกไปในวงกว้าง