หลังได้แต่มองมานาน ในที่สุุดก็มีโอกาศได้ลองสัมผัสใช้งานจริง ๆ แล้ว โดยมันคือจอ Monitor จาก Eizo แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น และเป็นแบรนด์เดียวที่สั่งผลิตโดยตรงจากญี่ปุ่น (Made in Japan) เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ไอทีที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ส่วนทำไมผมถึงได้แต่มองมานานนั้น ก็เพราะค่าตัวของมันที่แพงมาก ๆ ๆ ๆ (เสียงเอคโค่..) ของมัน ไม่รู้ว่าเพราะมัน Made in Japan หรือยังไง แต่ทราบแค่ว่าจอ Monitor แบรนด์ Eizo นั้น เป็นจอ Monitor ที่มีความเที่ยงตรงของสีสูงมาก และเป็นที่นิยมในหมู่ Production อย่างงานตัดต่อวิดีโอหรืองานกราฟฟิกดีไซน์เนอร์พอสมควร
เกริ่นซะยาว แต่เท่านี้ทุกคนน่าจะพอรู้จักแบรนด์ Eizo บ้างแล้ว และตัว Eizo FlexScan EV2450 ที่รีวิวนี้ก็คือจอ Monitor รุ่นเริ่มต้นของแบรนด์นี้เอง โดยเป็นจอซีรีย์ FlexScan ที่เหมาะสำหรับการใช้ในออฟฟิศหรือใช้งานทั่ว ๆ ไป โดยเป็นรุ่นลดสเปก เพื่อให้มีราคาเข้าถึงง่ายมากที่สุด เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ในแบรนด์ Eizo ถึงอย่างนั้นตัวจอก็ยังคงเป็น Eizo อยู่ และตามสไตล์คนญี่ปุ่น (ความเห็นส่วนตัวนะ) ที่ต่อให้เป็นของเริ่มต้นราคาถูกสุดก็จริง แต่ต้องไม่ให้เสียชื่อแบรนด์ !! ดังนั้นลองมาดูกันว่าจอ FlexScan EV2450 นี้ จะมีคุณภาพขนาดไหน
สเปกหลัก ๆ ของ Eizo FlexScan EV2450
Type : IPS
Backlight : LED
Size : 23.8″ / 60 cm (604 mm diagonal)
Native Resolution : 1920 x 1080 (16: 9 aspect ratio)
Viewable Image Size (H x V) : 527 x 296.4 mm
Pixel Pitch : 0.2745 x 0.2745 mm
Display Colors : 16.77 million
Viewing Angles (H / V, typical) : 178°, 178°
Brightness (typical) : 250 cd/m2
Contrast Ratio (typical) : 1000:1
Response Time (typical) : 5 ms (Gray-to-gray)
วัสดุและดีไซน์
แรกสัมผัส Eizo FlexScan EV2450 สารภาพตรง ๆ ว่า ตัวจอหน้าตาออกธรรมดาเกินคาด ไม่หวือหวาเท่าไรนัก (เมื่อเทียบกับรุ่นระดับบน ๆ ที่เคยเห็นมาของแบรนด์นี้) แต่สำหรับวัสดุและงานประกอบ จัดว่าเทียบเท่ากับจอ Monitor ระดับ Hi-End ของแบรนด์อื่น ๆ เลย เช่น Dell Ultrasharp เป็นต้น เป็นพลาสติกแข็งแรงทนทาน ข้อต่อกับข้อพับต่าง ๆ แน่นหนาไม่มีหลวม ส่วนขนาดหน้าจอของ EV2450 ก็อยู่ที่ 23.8 นิ้ว ขนาดมาตรฐานของจอ Monitor ในปัจจุบัน (อนึ่งตัวจอให้มีเลือกระหว่างสีดำและสีขาวด้วยนะ)
ด้วยความที่เป็นจอสำหรับใช้ในออฟฟิศ ตัวจอจึงสามารถปรับองศาหน้าจอได้แทบ 360 องศา หมุนจอแบบแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ และปรับจอขึ้นลงได้ตลอดเวลา โดยสูงสุดอยู่ที่ 140 mm เตี้ยสุดก็แทบติดขอบโต๊ะที่วางแล้ว (มีตัวล็อคเหมือนจอ Dell Ultrasharp) แต่ก็มีเสียนิด ๆ ตรงส่วนบานพับหน้าจอนั้น ต้องใช้แรงระดับหนึ่งเวลาดันจอให้เอียงลง
ตรงฐานวงกลมสำหรับวางจอก็มีกลไกเป็นวงแหวน ให้เราสามารถหมุนตัวจอไปมาได้อิสระ ไม่ต้องฝืนดันหรือยกจอให้รอยออกจากโต๊ะ
ปุ่มควบคุมตัวจอแบบ Touch Screen หรือปุ่มสัมผัส
มาดูด้านหลังบ้าง มีส่วนที่เป็น Hub อาทิ Audio Input และ Headphones แบบหัว Jack 3.5 mm กับ USB 3.0 x 2 ที่ต่อผ่านสาย USB Upstream ส่วนเชื่อมต่อหน้าจอก็มีช่อง D-sub, Displayport, HDMI และ DVI-D อย่างละช่อง และสุดท้ายช่องต่อไฟเลี้ยง ที่มีสวิตซ์เปิดปิดแบบ Power Supply ใน PC ด้วย ช่วยประหยัดพลังงานยามไม่ใช้งานได้อีก
ใช้เป็นจอสำหรับพรีเซ้นงานหรือประชุมแบบย่อม ๆ ก็ไม่เลว
ในส่วนนี้ก็ขอพูดถึง ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ซักหน่อย หลายคนน่าจะพอทราบว่าคนญี่ปุ่นค่อนข้างใส่ใจกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มาก ซึ่งผมก็ได้สัมผัสส่วนนี้จากตัวจอที่รีวิวนี้ไม่น้อย คือมันมีส่วนอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แบบที่ไม่คิดว่าจะมี อย่างตรงด้านหลังขาตั้งจอ มีส่วนสำหรับติดตั้งวงแหวนเล็ก ๆ (มีแถมในกล่อง) เอาไว้สำหรับมัดสายต่าง ๆ ให้ดูเรียบร้อยด้วย ส่วนฐานวงกลม หากแกะกล่องใหม่ ๆ มันจะแยกออกจากกันระหว่างตัวขาตั้ง เวลาประกอบก็ต้องเอา น็อตตัวจิ๋ว มายึดตรงฐานวงกลมและขาตั้งเพิ่มเติมด้วย ไม่ให้หลุดออกง่าย ๆ (ตรงนี้ผมแอบมึนไปพักใหญ่ ไม่รู้ว่าประกอบยังไงตอนแกะกล่อง) ส่วนด้านหลังจอตรงช่องระบายความร้อน ก็มีช่องช่วยยกตัวเครื่องยามขนย้านด้วย เพื่อป้องกันให้ไม่มือไปสัมผัสตัวหน้าจอโดยตรงนั้นเอง ญี่ปุ่นจริง ๆ
การใช้งาน
ฟีเจอร์เด่น ๆ ของตัวจอก็มี Ecoview Optimizer 2 โหมดปรับแต่งการใช้พลังงาน EcoView Sense เซ็นเซอร์วัดแสงจากภายนอก (หรือเรียกหล่อ ๆ ว่า Auto Brightness Control) ช่วยปรับแต่งหน้าจอให้เหมาะสมโดยวัดจากสภาพแวดล้อมจริงที่เรานั่งอยู่หน้าจอ และช่วยประหยัดการใช้พลังงานอีกทางหนึ่ง Clear View From All Angles ข้อดีของจอ IPS นั้นแล… และ Adjustable to Less Than 1% of Maximum Brightness จอดำแบบดำจริง ๆ แม้เปิดใช้งานอยู่ คือจะบอกตัวจอไม่ได้ใช้แสงช่วยส่องสว่างในตัวมันเองเยอะ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราปวดตา เวลาจ้องหน้าจอนาน ๆ Flicker-Free Images ช่วยลดภาพกระตุก และสุดท้าย Less Blue Light Reduces Eye Fatigue ช่วยลดแสงฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตาเรา
หน้าคำสั่งต่าง ๆ บนแผงปุ่มสัมผัส
สำหรับการตั้งค่าต่าง ๆ ต้องบอกเลยว่า ใช้งานง่ายพอควร คือมันแทบไม่มีหัวข้อปรับแต่งอะไรแบบย่อย ๆ ให้ชวนงง ตัวจอเหมือนมีการรวบรวมการปรับแต่งต่าง ๆ ให้อยู่ในตัวเลือกเดียวเลย ไม่ต้องไปหาที่ไหน
โหมดการปรับแต่งอัตโนมัติ หลัก ๆ ก็มีเพียง 4 หัวข้ออาทิ sRGB, Paper, Movie, และ Dicom อีก 2 หัวข้อก็เป็นการปรับแต่งโดยเราเอง โดยสามารถเซพการปรับแต่งได้ 2 โปรไฟล์
ความแตกต่างระหว่าง sRGB, Paper, Movie, และ Dicom
หน้าปรับแต่ง Ecoview Optimizer 2 อยากรู้ว่าตอนนี้จอเรากินไฟขนาดไหน ก็ดูได้จากไอคอนรูปใบไม้เลย
ส่วนเซ็นเซอร์ EcoView Sense
คุณภาพ
มาถึงส่วนทดสอบคุณภาพแล้ว ต้องบอกก่อนว่าส่วนนี้จะไม่ได้ลงลึกหรือทดสอบแบบจัดเต็มมากนัก เนื่องจากผมมองว่า ตัวจอ EV2450 จากซีรีย์ FlexScan ที่กำลังรีวิว เป็นรุ่นใช้งานในออฟฟิศหรือทั่ว ๆ ไปมากกว่า คือมันไม่ได้เป็นรุ่นที่จัดจ้านในด้านความเที่ยงตรงของสี (ตามสไตล์ Eizo) หรือความเป็นเกมมิ่งแบบสุดทาง ดังนั้นจะทดสอบคุณภาพแบบพอเหมาะพอควรดังนี้
ลองเทสคุณภาพอย่างง่าย ๆ ผ่านหน้าเว็บด้วย Eizo Monitor Test ของทาง Eizo เอง
ทดสอบค่า Pattern หรือแถบสี ดูในภาพอาจเห็นไม่ชัด แต่ถ้าเอาจากสายตาผมเองที่ใช้งานตัวจอมาได้พักใหญ่ ก็ยอมรับว่าตัวจอแสดงสีสันได้สวยสดไม่น้อยเลย และที่สำคัญคือ จ้องสบายตามาก ๆ ๆ ๆ แต่สำหรับความเที่ยงตรงของสีนั้น เอาตรง ๆ ผมยังมองไม่ออกว่ามันแตกต่างจากจออื่นยังไง ไว้มีโอกาสได้เทสตัวจอรุ่นอื่นของ Eizo ที่ชูโรงว่าสีเที่ยงตรงจริง ๆ จะลองเอาเครื่องมือมาวัดเพื่อดูค่าสีไปเลยครับ
สำหรับฟีเจอร์ Adjustable to Less นั้น ตรงนี้ขอชมเลยว่า ดำสนิทจริง แม้จะเปิดหน้าจออยู่ก็ตาม ทว่าต้องตั้งค่าในโหมด Ecoview Optimizer 2 ก่อนนะ โดยพยายามให้ตัวจออยู่ในสภาพที่ประหยัดไฟมากที่สุด จึงจะเห็นว่ามันดำจริง ๆ แต่แลกกับเวลาเปิดใช้งานยามปกติ จอจะมืดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ถึงขั้นมืดจนใช้งานไม่ได้
ตัวอย่างการแสดงผลอื่น ๆ โดยปรับโหมดตามค่าเริ่มต้น (default) ตรงนี้จะเห็นเลยว่า ขอบจอมีความบางเป็นพิเศษไม่น้อย เอาไปต่อ 2 หรือ 3 จอติดกันได้สบาย
สรุป
ข้อดีใหญ่ ๆ ของ Eizo FlexScan EV2450 ก็มี 1.ปรับองศาได้หลากหลาย 2.แข็งแรงทนทาน 3.หน้าจอมีฟีเจอร์ช่วยถนอมสายตามากมาย ช่วยให้จ้องหน้าจอได้นาน ๆ โดยไม่ปวดตา เรียกได้ว่านี้คือจอสำหรับชาวออฟฟิศอย่างแท้จริง 4.ส่วนอำนวยความสะดวกที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ 5.เป็นสุดยอดอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าแต่ ‘รักโลก’ ตัวหนึ่งเลย คือฟีเจอร์สำหรับช่วยประหยัดพลังงานนั้น ไม่รู้จะเยอะไปไหน เยอะยิ่งกว่าฟีเจอร์ถนมสายตาซะอีก ใครสายประหยัดไฟ ลองดูจอตัวนี้เลย แนะนำอย่างยิ่ง
กล่าวข้อดีไปเยอะแล้ว ลองดูข้อสังเกตกันบ้าง หนึ่งเลยคือมันเป็นจอทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เด่นในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ คือแม้ Eizo จะได้ชื่อว่าเป็นจอที่มีความเที่ยงตรงของสีมากเป็นพิเศษ แต่ในรุ่น EV2450 นี้ ยังไม่ได้ถึงขั้นเห็นความแตกต่างชัดเจนนัก ขณะมองด้วยตาเปล่า ถัดมาคือหน้าตาการออกแบบที่ธรรมดา ไม่โดดเด่นหรือสวยจนสะดุดตาเท่าไรนัก สุดท้ายค่าตัว Eizo FlexScan EV2450 สนนราคาอยู่ที่ 12,900 บาท จัดว่าสูงใช่เล่น เมื่อเทียบกับจอ 23.8 หรือ 24 นิ้วรุ่นอื่น ๆ แต่แลกกับชื่อ Eizo ติดอยู่ กับ Made in Japan เจ้าเดียวในโลก และประกันแบบ Onsite ระดับ 5 ปี !! แทนครับ