2017 ปีแห่งเทคโนโลยี “Live” สดทุกที่ ทุกเวลา และทุกคน

เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าทำได้อย่างรวดเร็ว และคงความ “สด” (Live) ถึงมือผู้บริโภคได้ โลกออนไลน์ก็ไม่ต่างอะไรกับโลกของความเป็นจริง นวัตกรรมดิจิทัลทุกวันนี้ ทำให้สิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยความ “สด” มากยิ่งขึ้น

คำว่า [LIVE] ที่มักโผล่ขึ้นบนจอทีวีเวลามีการถ่ายทอดสด เดิมทีต้องใช้เทคโนโลยีสุดอลังการที่จะทำให้การส่งข้อมูลข่าวสารไปถึงผู้รับได้ในแบบใกล้เคียงเวลาจริงที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่เราจะส่งนั้นมีรายละเอียดและปริมาณมากแค่ไหน

วิทยุกระจายเสียงหรือโทรศัพท์ก็เป็นเทคโนโลยีในการถ่ายทอดสดเหมือนกัน แต่นั่นเฉพาะเสียง แต่ถ้าพูดถึงการส่งภาพเคลื่อนไหวหรือถ่ายทอดสดวิดีโอนั้น มันมีความซับซ้อนและต้องใช้ศักยภาพสูงกว่ามาก เพราะต้องส่งทั้งภาพและเสียงไปยังปลายทาง โดยในแต่ละวินาทีต้องส่งให้ได้อย่างน้อย 24 ภาพ เพื่อให้ภาพนิ่งแต่ละภาพนั้นรวมกันแล้วดูเหมือนขยับเขยื้อนกลายเป็นภาพวิดีโอ นี่ยังไม่รวมการส่งเสียงที่ห้ามขาดหายตลอดเวลาเช่นกัน

ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต การส่งภาพวิดีโอแบบต่อเนื่องที่ผู้ชมดูได้ทันทีเกือบเท่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกลและความเร็วสูง เช่น สัญญาณดาวเทียม คลื่นไมโครเวฟ ส่งสัญญาณจากต้นทางไปยังสถานีศูนย์กลาง ก่อนจะแพร่ภาพออกไปตามปกติ ซึ่งพวกนี้ต้นทุนไม่ใช่ถูก ๆ จึงไม่ใช่ทำได้บ่อย ๆ

จะเห็นได้ว่า อย่างน้อย ๆ ในการถ่ายทอดสดแต่ละครั้ง ผู้ที่จะทำการถ่ายทอดสดจะต้องมี

  1. เนื้อหาหรือเรื่องราวที่จะถ่ายทอด
  2. อุปกรณ์การผลิตเนื้อหา เช่น กล้องวิดีโอ ไมโครโฟน อุปกรณ์ตัดต่อ
  3. อุปกรณ์ส่งสัญญาณ เช่น จานดาวเทียม
  4. เส้นทางการส่งสัญญาณ เช่น ดาวเทียม คลื่นความถี่วิทยุ
  5. ศูนย์กลาง สถานีฐาน แพร่ภาพสู่ผู้ชม

แต่ในยุคปัจจุบัน ปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง A) อุปกรณ์พกพาอย่างมือถือหรือแท็บเล็ต บวกกับ B) แอพพลิเคชันที่เหมาะสม และ C) อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถทดแทนข้อ 2) 3) 4) ได้อย่างเกือบสมบูรณ์แบบ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้นเรื่อย ๆ การส่งภาพวิดีโอแบบสด ๆ จึงเป็นไปได้จริง และมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ภาคของการส่ง แต่ฟากของผู้รับ ผู้ชม ที่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต ก็เข้าถึงความเร็วสูงขึ้น ทั้งไฟเบอร์ที่บ้าน และ 4G กับมือถือ และในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่ผู้รับมีนั้น สามารถพลิกบทบาทใช้เป็นอุปกรณ์ส่งได้ทันทีเช่นกัน

แม้จะได้ข้อ 2) 3) 4) มาอยู่ในมือแล้ว แต่ก็ยังไม่พอที่จะถ่ายทอดสดได้ เพราะเราไม่มีข้อ 5) ซึ่งเป็นตัวแพร่กระจายภาพสดนั้นสู่สายตาประชาชน แต่แล้วองค์ประกอบที่ 5) ก็เริ่มเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2558-2559 เป็นต้นมา ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Twitter, Google (YouTube) พร้อมใจกันหันมาทยอยเปิดให้บริการเป็นศูนย์กลางของการถ่ายทอดสดวิดีโอไปสู่สายตาประชาชนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และต้องขีดเส้นใต้คำว่า “ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก” แถมยัง “บ่อยแค่ไหน นานเท่าใด ก็ไม่มีต้นทุนเพิ่มเท่าใดนัก”

ประชาชนซึ่งมีเนื้อหา คือข้อ 1) อยู่แล้ว จึงไม่รีรอที่จะถ่ายทอดสดเรื่องราวของตนเองออกไปสู่สายตาประชาชนกันอย่างหนาตา ถือเป็นการเปิดฉากการถ่ายทอดสดแบบอิสระ โดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างเป็นทางการ พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ของการสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าดู และแน่นอนมาพร้อมสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด อย่างการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย ดังนั้น 2) 3) 4) 5) ที่เคยเป็นภูเขาอุปสรรคขนาดใหญ่ได้ถูกทลายลงแล้ว เปิดทางอย่างอิสระให้กับประชาชนทุกคนที่ใช้เงินทุนไม่กี่บาทต่อเดือน สามารถเข้าถึงระบบการถ่ายทอดสดได้ทัดเทียมกับสถานีโทรทัศน์

คำถามที่จะวนเวียนอยู่ในหัวของหลาย ๆ คน คือ “จะถ่ายทอดสดอะไร” “จะไลฟ์เรื่องไหน” “จะขายอะไร” รวมทั้ง “ถ่ายทอดสดแบบนี้ นี่มันเหมาะสมหรือไม่” Instagram บริษัทในเครือ Facebook ลงมารับไม้ต่อ ทำถ่ายทอดสดบ้างแล้ว Twitter ก็สู้ด้วยการฝังระบบถ่ายทอดสดในแอพฯ ส่วน YouTube ที่เคยจำกัดการถ่ายทอดสดเฉพาะคนดัง ก็กำลังจะเปิดให้ใครก็ได้มาถ่ายทอดสดกัน

ปี 2560 จะเป็นอีกปีที่ คำว่า LIVE หรือ “สด” จะอยู่บนมุมจอของใครหลาย ๆ คน จนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นชิน เมื่อมันหาความ “สด” กันง่ายขนาดนี้ คำถามคือ “สด” นั้น “สะอาด” และ “ถูกหลัก” หรือเปล่า ?

 

จากคอลัมณ์ “ทันดิจิทัล” ประจำ Comtoday ฉบับที่ 544 by @YOWARE