นวัตกรจากงาน Smart Energy Hackathon คิดค้นทางออกด้านพลังงานกว่า 16 ผลงาน 79 แฮกเกอร์ 16 ทีม 33 ผู้ให้คำแนะนำเพื่อ 1 ภารกิจ

หลังทุ่มเทเขียนโค้ดโปรแกรมกันต่อเนื่องกว่า 29 ชั่วโมง แต่ละทีมก็ได้คิดค้นทางออกด้าน Smart Energy ในรูปแบบดิจิตอลที่สร้างสรรค์ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SolarPi ที่ได้พัฒนาระบบการบันทึกข้อมูลการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เขียนลงใน blockchain แล้วใช้ข้อมูลนี้ในการรับเหรียญ solarcoins ซึ่งเป็นเงินตราดิจิตอลชนิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ สมาชิกทีม SolarPi เจอกันครั้งแรกและรวมทีมกันในช่วงกิจกรรมการหาทีมในคืนพิธีเปิด นายโรบิน คลาร์ท ประธานด้านเทคโนโลยี (CTO) ของ OmiseGO ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทยและเป็นกรรมการในงานกล่าวว่า “น่าทึ่งมากที่ทีม SolarPi ซึ่งเพิ่งรวมตัวกันเมื่อคืนวันศุกร์แล้วสามารถนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และโดดเด่นในเชิงนวัตกรรมที่สุด”

ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ทีม Hive ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Solar Monkey ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มีการเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการออกแบบระบบ การคัดเลือกผู้ติดตั้งรวมถึงทางเลือกในการลงทุนที่มีอยู่ในประเทศไทย ในลักษณะเดียวกันกับทีมอื่น ๆ ทีมนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างกรอบความคิด ออกแบบและผลิตชุดสาธิตการทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากเหล่าผู้ให้คำแนะนำซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยง ผู้ให้คำปรึกษาเหล่านี้หลายคนได้เดินทางมาจากภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมนี้และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของงาน “เราอยากมาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้นำแนวคิดและทางออกมาใช้ในตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่างประเทศ การผสมผสานที่ลงตัวของความคิด การสนับสนุนและทุนจะช่วยให้เราสามารถเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่ทางเลือกด้านพลังงานที่ชาญฉลาดและสะอาดมากยิ่งขึ้น” นายยัน-ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้ง BluGreen Energy ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้คำแนะนำได้กล่าวไว้

งาน Smart Energy Hackathon เป็นพาหนะทางนวัตกรรมที่ค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดทีมที่มีความสามารถและมีแนวคิดที่ใช้ได้จริงไปสู่การจัดตั้งบริษัท ในงานได้มีตัวแทนจากโครงการผู้บ่มเพาะและเร่งรัดธุรกิจเทคโนโลยีอย่าง  KX, Techgrind และ Startup Bootcamp ที่มาเฟ้นหาทีมที่มีศักยภาพ ผู้บ่มเพาะและเร่งรัดธุรกิจเทคโนโลยีสามารถให้การสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษา ทุนและการฝึกอบรมสำหรับสตาร์ทอัพ และนับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศด้านพลังงานในภูมิภาค นอกจากนั้นในงานยังมีบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ทอัพซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเข้าร่วมด้วย นายนิโอ ลิยานาจ ผู้อำนวยการบริษัท Nest Venture Capital และหนึ่งในกรรมการของงานซึ่งเคยร่วมงาน Hackathon มาหลายครั้งได้กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากกับคุณภาพและความหลากหลายของงานที่ส่งเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมารวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ การนำไปต่อยอดในทางธุรกิจและการนำเสนอนั้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สูง ซึ่งสร้างความลำบากใจอย่างมากในการคัดเลือกผู้ชนะ”  หนึ่งในทีมที่ได้รับรางวัลซึ่งมีแนวทางที่ชัดเจนแล้วยังได้บอกว่า “พวกเราตื่นเต้นกับชัยชนะนี้และจะนำไปพัฒนาต่อยอดอย่างแน่นอน ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องหาเงินทุนประมาณหนึ่งล้านบาท (30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปให้ได้”

งาน Smart Energy Hackathon นับเป็นการเปิดโครงการ New Energy Nexus Southeast Asia (Nexus SEA) อย่างเป็นทางการซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนิเวศด้านพลังงานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Nexus SEA จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการด้านพลังงาน การสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร และการสนับสนุนการลงทุนด้าน Smart energy ด้วยแนวทางจากล่างขึ้นบน โครงการนี้มุ่งเชื่อมโยงนิสิตนักศึกษา เหล่า co-working space ศูนย์บ่มเพาะและเร่งรัดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงการหาทางออกให้กับพลังงานในรูปแบบดิจิตอลพร้อมทั้งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ Nexus SEA จะเน้นดำเนินโครงการใน 3-4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นจึงจะขยายผลไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีดิจิตอลด้าน Smart Energy

งาน Smart Energy Hackathon ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่มีวิสัยทัศน์อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท Engie, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), บริษัท Lykke, บริษัท Whapow บริษัท Blue Solar และ Mint Coworking Space ในส่วนของผู้จัดงานประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), TechGrind, CalCEF/New Energy Nexus, ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) และ เคเอ็กซ์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (Knowledge Xchange for Innovation: KX)