สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบไปในทิศทางไหน ความคิดของคนในชาติถูกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายชัดเจน และไม่มีฝ่ายไหนที่จะยอมรับความแตกต่างทางความคิดได้ แต่ถึงจะแตกต่างกันอย่างไรแอดมินก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี
วันนี้หลายคนคงสงสัยว่าจู่ๆเว็บข่าวไอทีมาเขียนเรื่องการเมืองทำไม ? และขอออกตัวก่อนเลยว่าเรื่องที่เขียนต่อจากนี้ ไม่ได้เป็นการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ย้ำให้อ่านประโยคที่ทำตัวหนานี้ หลายรอบก็ได้ครับ) เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นที่น่าจะเป็นความรู้มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะกับประชาชนบางกลุ่มที่แสดงเจตจำนงค์ในการใช้สิทธิ์ไปเลือกตั้งที่ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่าเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งสิ่งที่จะมาเป็นความรู้ นั่นคือการใช้ “Google” มาเป็นผู้ช่วยในการสืบค้นข้อมูลของเหล่าผู้ลงสมัครเลือกตั้งว่าแต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน และมีประวัติเป็นมาอย่างไร
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมองว่าเรื่องแบบนี้ใครจะไปสนใจ แต่อยากให้ท่านผู้อ่านลองตระหนักดูนะครับว่าทุกวันนี้การที่เราออกไป ณ เขตเลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเลือกเลือกผู้แทนเข้าสภา เราเคยรู้บ้างหรือไม่ว่าผู้สมัครนั้นๆที่เราเลือก เขาเป็นใครมาจากไหน มีประวัติอย่างไร? ซึ่งก็ต้องยอมรับล่ะครับว่าเรื่องลักษณะนี้น้อยคนนักที่จะลงทุนค้นหาข้อมูลของเหล่าผู้สมัครนั้นแอดมินเองก็ยอมรับครับว่าตอนมีเลือกตั้งก็ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นเลยว่าบุคคลที่เลือกมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
แอดมินเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงใช้อินเทอร์เน็ตจากหลายช่องทางเป็นอยู่แล้ว อาทิ คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ฉะนั้นวิธีการนั้นก็ไม่อยากครับ เพียงเปิด Google ขึ้นมา พิมพ์รายชื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งลงในช่องการค้นหา จากนั้นระบบของ Google จะแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นขึ้นมา ซึ่งข้อดีของการค้นหาลักษณะนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านทราบได้ว่าบุคคลนั้นที่ท่านกำลังจะไปใช้สิทธิ์นั้นมีประวัติ ประสบการณ์หรือผลงานเป็นอย่างไร? ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้พบ ได้อ่าน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถนำประกอบในการตัดสินใจได้ครับ
ในที่นี้แอดมินขอยกตัวอย่างเสิร์ชคำว่า พี่มิ้งค์ คอมทูเดย์ ซึ่งจากข้อมูลแสดงในหน้าแรกของ Google จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ แฟนเพจ หรือผลงานต่างๆ
โดยหากบุคคลที่ท่านตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์เลือกนั้น Google แทบจะไม่มีข้อมูลปรากฎให้เห็นเลย ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านล้วนมีวิจารณญาณในการตัดสินใจได้ว่าบุคคลคนนั้นควรหรือไม่ที่เราจะใช้สิทธิ์อันมีค่าไปเลือกเขาเหล่านั้น (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีข้อมูลแล้วไม่ให้เลือกนะครับ) ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก่อนจะใช้สิทธิ์ก็เห็นจะหนีไม่พ้นความเชื่อ ความน่าจะเป็น ที่ท่านผู้อ่านบางท่านอาจใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจนั่นเองครับ
นอกจาก Google แล้ว ช่องทางอื่นๆ ที่ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลของผู้สมัครรายนั้นๆ ได้แก่ Youtube และ Facebook ซึ่งวิธีการค้นหาก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับ Google ครับ
ตัวอย่างการใช้เว็บไซต์ Youtube ค้นหาวีดีโอที่เกี่ยวข้องกับบุคคล
อีกหนึ่งช่องทางการค้นหาด้วย Facebook
สุดท้ายนี้ แอดมินก็ย้ำอีกครั้งว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นเพียงเกร็ดความรู้ที่ต้องการนำเสนอเท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครับ
Credit ภาพ ”พี่เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ จาก siamdara ในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
ป.ล. แถมท้ายอีกนิด … สำหรับคลิปรายการ DigiTrend ของพี่มิ้งค์คอมทูเดย์ ตามไปดูกันว่าชาวไอทีอย่างเราพกอะไรไปชัทดาวน์กันครับผม!