Nokia เผยคู่มือเมืองอัจฉริยะ (The Smart City Playbook) รายงานกลยุทธ์ที่เก็บข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับเมืองอัจฉริยะ เป็นการรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของเมืองต่างๆ ให้มีความอัจฉริยะ มีความปลอดภัย และยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรายงานดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นโดย Machina Research ในนามของ Nokia
Machina Research ในนามของ Nokia สรุป 3 แนวทางหลักที่เมืองต่างๆ เลือกใช้ในการก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่
1. เปรียบได้กับการทอดสมอ โดยเมืองจัดทำแอปพลิเคชั่นหนึ่งตัว เพื่อนำมาจัดการปัญหาอย่างหนึ่งในเมือง เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด และภายหลังจึงเพิ่มแอปพลิเคชั่นอื่นๆ
2. เป็นการเริ่มต้นด้วยการสร้างแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอปพลิเคชั่นและบริการอัจฉริยะต่างๆ
3. ใช้ชื่อเรียกว่า Beta Cities เป็นวิธีการที่แตกต่างจากวิธีอื่นๆ โดยมีการนำหลายแอปพลิเคชั่นมาทดลองเป็นระบบนำร่อง ก่อนจะตัดสินใจนำมาปฏิบัติใช้ในระยะยาว
ในส่วนของกรุงเทพฯ ทาง Machina Research ในนามของ Nokia ได้แสดงข้อค้นพบที่สำคัญไว้ 2 ข้อใหญ่ ดังนี้
1. กรุงเทพฯ ใช้แนวทาง Beta Cities เพื่อขับเคลื่อนเป็นเมืองอัจฉริยะ แบ่งได้อีก 3 เรื่องย่อยได้แก่
a. กรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะที่รุดหน้าที่สุดในประเทศไทย แม้รัฐบาลจะประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะนำร่อง จากการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ ซึ่งทางกรุงเทพฯ เองนั้นได้มีการสร้างเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
b. กรุงเทพฯ ใช้แนวทาง Beta Cities ในการขับเคลื่อนโดยมีการทดลองแอปฯ ต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีและโมเดลทางธุรกิจมาปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ที่ชัดเจนในระยะสั้นและระยะกลาง ถึงแม้ว่าจะมีโครงการนำร่องที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องและเห็นผลเร็ว แต่ยังคงมีความท้าทายในการทำงานร่วมกันของโครงการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
c. บางตัวอย่างของโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ :
– Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ
– งานติดตามตรวจสอบสภาพแวดล้อม – ติดตั้งตัวเซนเซอร์ในการติดตามระดับเสียง อากาศ และคุณภาพน้ำเพื่อป้องกันการเกิดมลพิษ
– กล้องวงจรปิดตรวจตราความเรียบร้อยในพื้นที่่สาธารณะ – CCTV
– ระบบการขนส่งอัจฉริยะ – สัญญาณไฟจราจรในแยกใหญ่ๆ เพื่อตรวจสอบการจราจรและนำมาวางแผนเพื่อการพัฒนาปรับปรุงสภาพการจราจร
2. กรุงเทพฯ มีโอกาสที่จะรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในส่วนแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับความยั่งยืน แบ่งเป็น 2 เรื่องย่อย ดังนี้
a. การดำเนินสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพฯ ก้าวหน้าที่สุดในส่วนของความอัจฉริยะ ความปลอดภัย และมีความท้าทายในส่วนของความยั่งยืน กรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาพอร์ทัลเพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรและมลพิษทางอากาศ
b. กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ในเอเชีย จึงเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ความแห้งแล้ง ความปลอดภัยของอาหาร และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันกรุงเทพฯ ได้มีหลายวิธีในการบรรเทาผลกระทบและแผนการป้องกันต่างๆ ที่เตรียมไว้รองรับหรือกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการ
ฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ บริษัท Nokia เปิดเผยว่า กระบวนการในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้นความมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และมีการนำเสนอกลยุทธ์ที่แตกต่างกันจำนวนมากจนทำให้การเลือกแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างเมืองอัจฉริยะกลายเป็นความท้าทายมหาศาล เป้าหมายของ Nokia ในการจัดทำรายงานฉบับนี้โดย Machina Research คือการสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นกลยุทธ์ที่ให้ผลลัพธ์สำหรับเมืองทั้งหลายอย่างชัดเจน สำหรับประเทศไทย ทาง Nokia มีความมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้วิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะเป็นจริง และประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างสรรค์ชีวิตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้