เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ส่งสัญญาณถึงผู้ใช้ iPhone ทั้งหลาย แต่ยังส่งสัญญาณไปถึงทุกคนว่า เรากำลังจะโบกมือลายุค “มีสาย” กันอย่างสมบูรณ์แบบ
หูฟัง เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใกล้ชิดร่างกายมนุษย์เรามายาวนาน ตั้งแต่หูฟังตัวใหญ่ที่ใช้ในวงการบันทึกเสียงมืออาชีพ จนมาถึงหูฟังตัวเล็กที่แถมกับเครื่องเล่นเพลงพกพา ซึ่งสมัยก่อนเราจะเรียกว่า “ซาวด์อะเบาท์” (Sound About) หรือ ชื่อใหม่ที่ Sony ตั้งให้ว่า Walkman กระทั่งมาถึงยุคโทรศัพท์มือถือ หูฟังก็เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่มีมากับโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่น
ย้อนไปในยุคก่อน iPhone ราว 10 ปีก่อน ในยุคที่มือถือแข่งกันทำขนาดเล็ก ๆ แจ็กหรือตัวเสียบต่อหูฟังที่ใช้กับมือถือนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าหูฟังทั่วไป
ก่อนจะไปกันต่อ เรามาทวนขนาดของ “แจ็ก” หูฟัง
แจ็กหูฟัง รุ่นใหญ่ ขนาด 6.35 มิลลิเมตร
แจ็กหูฟัง รุ่นเล็ก ขนาด 3.5 มิลลิเมตร
แจ็กหูฟัง รุ่นเล็กมาก ขนาด 2.5 มิลลิเมตร
และในแต่ละรุ่นก็ยังมีแบ่งด้วยว่ามีกี่ช่องสัมผัส
ลองดึงหูฟังของคุณมาดูสิครับว่ามีกี่ขีด ? แต่ละขีดนั้นเป็นตัวคั่นหน้าสัมผัสที่แตกต่างกัน
ในสายหูฟังมาตรฐานทั่วไป เรียกว่า สายแบบสเตอริโอ คือ สามารถนำพาเสียงมาได้ 2 ช่อง ออกมาเป็นเสียงที่แตกต่างกันในหูซ้ายและหูขวา ในสายหูฟังจะมีสายไฟเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ 3 เส้น ประกอบด้วย สายสัญญาณเสียงช่องซ้าย สายสัญญาณเสียงช่องขวา และสายกราวด์ ทำให้ แจ็กหูฟังแบบนี้ มี 3 ส่วน ถูกแบ่งคั่นด้วย 2 ขีด แต่สำหรับหูฟังโทรศัพท์มือถือ จะมีสายไฟเล็ก ๆ 4 เส้น คือ มีเพิ่มมาอีกเส้นหนึ่งสำหรับไมโครโฟนรับเสียงส่งกลับเข้าไป แจ็กของหูฟังที่ใช้กับมือถือจึงเพิ่มมาอีกขีด เป็น 3 ขีด แบ่งคั่น 4 หน้าสัมผัส
ดูเพิ่มเติมได้จากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Phone_connector_(audio)
กลับมาที่เจ้าแจ็กที่เล็กมากขนาด 2.5 มิลลิเมตรนี่เองที่เป็นที่นิยมในหมู่โทรศัพท์มือถือหลายรุ่นในยุคนั้น เพื่อทำให้มือถือมีขนาดเล็ก ๆ ขณะที่หลายเจ้าก็พยายามสร้างมาตรฐานเป็นหัวต่อเฉพาะของตัวเองขึ้นมา
แล้วทุกอย่างก็พังทลายลงในช่วง iPhone หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เมื่อเครื่องฟังเพลง MP3 เริ่มผนวกรวมกับโทรศัพท์มือถือ มือถือจำเป็นต้องใช้ช่องเสียบหูฟังที่ได้มาตรฐาน สามารถเอาหูฟังทั่วไปที่มีคุณภาพเสียงดี ๆ มาเสียบฟังเพลงได้ เท่ากับว่าโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ต่ออายุขัยให้แจ็กหูฟังขนาดเล็กแบบดั้งเดิมที่เคยใช้กันมากับ “ซาวเบ๊า” (เรียกแบบวัยรุ่นยุคนู้นนน) ได้อีกกว่า 10 ปี
ปัจจุบันนี้มือถือไม่ได้แข่งที่ความเล็ก แต่แข่งที่ความบาง ซึ่งถ้าเราหยิบมือถือขึ้นมาดู เราจะพบว่าสิ่งที่หนาที่สุดรองจากตัวเครื่องก็คือ ช่องเสียบหูฟัง นั่นเอง หลายรุ่นตัวเครื่องแทบจะติดขอบช่องเสียบหูฟังอยู่แล้ว ดังนั้น หนทางที่จะทำให้มือถือบางลงได้อีก นั่นคือต้องทำอะไรบางอย่างกับช่องเสียบหูฟัง
ถ้าเป็นในอดีต เราก็คงจะเห็นการออกแบบช่องเสียบแบบใหม่ที่บางลง-เล็กลง แต่ในปัจจุบัน หนทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาทำให้ช่องเสียบหูฟังเล็กลง คือ “เอามันออกไป” แล้วใช้ “ระบบไร้สาย” มาแทนที่
เรื่องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานชิ้นส่วนต่าง ๆ Apple มักเป็นผู้ที่เห็นแนวโน้มเหล่านี้และตัดสินใจเป็นหัวหอก นำร่อง เสี่ยงลงมือทำก่อนคนอื่น พร้อมทัดทานกับกระแสก่นด่า แต่ด้วยความมั่นใจว่าเลือกทางเดินที่ถูกแล้ว ตั้งแต่ยุคการเลิกใช้ช่องเสียบแผ่นดิสก์ มาใช้ USB มาจนถึงการเลิกใช้ USB รุ่นเดิมใน MacBook จึงไม่แปลกอะไรที่ Apple จะเอาช่องเสียบหูฟังออกไปจาก iPhone
ภาพ mockup iPhone 7
คำถามที่ตามมาคือ แล้วจะฟังเพลง จะคุยมือถือยังไง ?
คำตอบ คือ ใช้หูฟังไร้สายบลูทูธ
แล้วถ้าอยากจะเสียบสายล่ะ ?
คำตอบ ก็ใช้หูฟังที่เสียบช่องเดียวกับช่องเสียบชาร์จ (Lightning) นั่นแหละ ซึ่ง Apple อาจจะแถมหูฟังที่มีหัวเสียบแบบใหม่มาให้ หรือไม่ก็แถมสายต่อแปลงหัวเสียบจากแบบเดิมไปเป็นแบบใหม่
งี้แบตใกล้หมดก็ฟังเพลงไม่ได้สิ แล้วถ้าอยากจะฟังไปด้วย ชาร์จไปด้วยล่ะ ?
คำตอบ อีกไม่นานระบบชาร์จก็จะเป็นไร้สายแล้วนะ
แล้วจะมีอะไรดีขึ้นมา ?
คำตอบ
1. Apple ลดจำนวนช่องเปิดของมือถือ ทำให้ iPhone รุ่นใหม่นี้จะกลายเป็น iPhone รุ่นแรกที่ประกาศว่ากันน้ำกันฝุ่น
2. เสียงที่ส่งผ่านบลูทูธ หรือ เสียบในช่อง Lightning เป็นเสียงระบบ Digital ที่ให้รายละเอียดของเสียงได้มากกว่าหูฟังแบบเดิม
3. จากพื้นที่ของช่องเสียบหูฟัง จึงเปลี่ยนมาเป็นลำโพง ทำให้ iPhone รุ่นใหม่มีลำโพงระบบสเตอริโอ
4. Apple ทำมือถือให้บางลงได้อีก
5. Apple เตรียมพร้อมสู่ระบบชาร์จไร้สาย เมื่อได้ครบแล้ว มือถือจะกลายเป็นอุปกรณ์ไร้สายที่สมบูรณ์แบบ คือ แทบไม่ต้องเสียบอะไรเข้าไปในตัวมันอีก
ส่วนสิ่งที่เราจะเสียไป ก็เป็นดังคำถามที่ผมตั้งไว้ กับงานใหม่ที่จะ “งอก” ขึ้นมา นั่นคือ นอกจากมือถือ คอมพิวเตอร์ นาฬิกา กำไลข้อมือฟิตเนสแล้ว ถึงเวลาที่คุณจะต้องเตรียมปลั๊กไว้เสียบชาร์จหูฟังไร้สาย เพิ่มอีกชิ้นหนึ่งแล้วละ
เมื่อนึกถึงยุคนั้นในอนาคต ผมคงจะคิดถึงหูฟังแบบเสียบสายนี้จับใจทีเดียว
เรียบเรียงโดย @yoware