เคยอัพโหลดวิดีโอกันไหมครับ? Youtube เป็นเว็บวิดีโอที่เปิดให้เราสามารถอัพโหลดวิดีโอขึ้นไปแชร์ให้คนทั่วโลกชมได้ฟรี ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น รวมถึงอัพโหลดจากอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนด้วย ทำให้เกิดความสะดวกมากมาย ก็อัพกันไป…
แต่จะมีใครรู้บ้างว่า นอกจากความสามารถในการอัพโหลดวิดีโอให้คนอื่นๆ ได้ชมกันแล้ว Youtube ยังมีเครื่องมือที่ใช้ในการตัดต่อวิดีโอมาให้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ในรูปแบบ Cloud หรือกรณีที่ถ่ายและอัพโหลดจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถตัดต่อได้ในตัว ก็สามารถเลือกตัดต่อด้วยเครื่องมือบน Youtube ได้เช่นเดียวกัน
การเรียกใช้งาน Youtube Editor
การใช้งาน Youtube Editor นั้นคุณจะต้องมีบัญชีของ Gmail หรือ Google เสียก่อนนะครับ แน่นอนว่าใครที่ใช้งาน Youtube ในการอัพโหลดวิดีโออยู่แล้วคงต้องมี ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถอัพโหลดไฟล์วิดีโอได้อยู่แล้ว ดังนั้นถือว่าทุกคนมีกันพร้อมอยู่แล้วนะครับ
1. เริ่มต้นให้เข้าไปที่เว็บ www.youtube.com/editor ได้เลย ซึ่งนี่เป็นลิงก์ตรงที่ไปสู่หน้าเว็บสำหรับการตัดต่อ (รูป 1)
2. หรือสำหรับคนที่อยู่ในหน้าอัพโหลดวิดีโอ ที่ด้านขวาของหน้าเว็บจะมีลิงก์ที่เชิญชวนให้คุณลองใช้เครื่องมือ Editor อยู่ ก็สามารถคลิกเข้าไปได้เช่นเดียวกัน (รูป 2)
3. ไม่ว่าจะเข้าด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็จะได้เข้ามาที่หน้า Editor ซึ่งจะคล้ายๆ กับโปรแกรมตัดต่อทั่วไป (รูป 3)
– พื้นที่สีดำด้านซ้ายคือพื้นที่พรีวิว ซึ่งวิดีโอที่เราตัดต่อแล้วจะมาแสดงพรีวิวในบริเวณนี้
– พื้นที่ช่องๆ ด้านซ้าย คือวิดีโอที่คุณเคยอัพโหลดไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณสามารถดึงมาตัดได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่นคลิปวิดีโอ เพลง และ Transition ด้วย
– แถบด้านล่างเป็น Timeline ที่ไว้ใช้นำคลิปต่างๆ มาร้อยเรียงกันให้เป็นคลิปใหม่ ซึ่งเหมือนกับโปรแกรมตัดต่อทั่วไป โดยแบ่งเป็น 2 บรรทัดคือคลิปกับเสียงแยกกัน
4. การใช้งานนั้นง่ายมาก เพียงแค่ลากคลิปวิดีโอจากพื้นที่ทางขวาที่เราได้อัพโหลดไว้เรียบร้อยแล้ว ลงมาที่ส่วนของ Timeline ในบรรทัดแรกที่ใช้สำหรับวางคลิปวิดีโอ (รูป 4)
5. เมื่อวางคลิปวิดีโอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พื้นที่ทางด้านซ้ายจะปรากฏภาพพรีวิวขึ้นมา ส่วนพื้นที่ทางขวาจะปรากฏแผงการตั้งค่าคลิปวิดีโอที่สามารถปรับแต่งวิดีโอได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน ความสว่าง การหมุนภาพวิดีโอให้ตรงตามแนวที่ถ่ายมา รวมถึงปรับระดับความเร็วในการเล่นคลิปวิดีโอได้ด้วย (รูป 5)
6. ในขณะเดียวกันที่เราเลือกคลิปไว้ จะสังเกตว่ามีแถบสีฟ้าปรากฏขึ้นมาที่สองข้างของคลิปใน Timeline ซึ่งคุณสามารถใช้ลากเพื่อกำหนดว่าจะตัดส่วนใดของคลิปมาใช้งานบ้าง (ตัดหัว ตัดท้าย เอาเฉพาะส่วนที่ต้องการ) (รูป 6)
7. จากนั้นก็ลากคลิปที่เหลือที่เราต้องการนำมาเรียงกันลงมาเรียงใส่ Timeline เรื่อยๆ โดยวางตามลำดับ และทำการตัดคลิปให้เรียบร้อยพร้อมปรับสีสันต่างๆ เตรียมเอาไว้จนได้ครบตามที่เราต้องการ โดยคุณสามารถลากคลิปเดิมที่เคยลากมาใส่แล้วลงมาใส่ซ้ำได้อีก โดยอาจจะเลือกช่วงของคลิปที่แตกต่างกันไป หรืออาจจะเลือกช่วงของคลิปเดียวกันเพื่อเล่นซ้ำก็ได้เช่นกัน (รูป 7)
8. นอกจากคลิปวิดีโอที่เราอัพโหลดไว้แล้ว ทาง Youtube ยังมีคลิปสวยๆ เตรียมไว้ให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคุณสามารถหยิบมาใส่ได้ โดยส่วนนี้จะเรียกว่า Creative Common หรือ CC แต่ต้องบอกก่อนว่าภาพใน Creative Common ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทั่วไปมากๆ ภาพวิว เหมือนถ่ายไปเรื่อยเปื่อย ทั้งนี้คุณสามารถนำมาใช้งานได้โดยไม่ติดเรื่องลิขสิทธิ์นะครับ (รูป 8)
9. ส่วนที่สำคัญอีกส่วนที่จะขาดไม่ได้สำหรับโปรแกรมตัดต่อวิดีโอก็คือ Transition นั่นเอง ซึ่งมันจะเป็นการเชื่อมคลิปวิดีโอ 2 ชิ้นเข้าหากันแบบเนียน โดยจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบให้เลือกเช่นเดียวกัน ถ้านึกไม่ออกว่าแต่ละแบบเป็นอย่างไรก็ลองเอาไปใช้ดูแล้วกันครับ (รูป 9)
10. วิธีการใช้งาน Transition ก็เพียงแค่ลากลงมาวางที่ Timeline เช่นเดียวกับคลิปปกติ แต่เวลาวาง เราจะต้องวางให้อยู่ระหว่างคลิป 2 คลิป เพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมคลิปเข้าด้วยกันนั่นเอง และสังเกตดูว่า Transition นี้จะมีแถบสีฟ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งคุณสามารถปรับระยะเวลาในการเชื่อมคลิปได้ด้วยว่าต้องการใช้เอฟเฟ็กต์นี้นานขนาดไหน (รูป 10)
11. การปรับแต่ง Transition จะมีไม่มากเท่ากับคลิป และจะแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบ ซึ่งคุณสามารถปรับเล่นดูได้ แต่ Transition บางแบบก็ไม่มีให้ปรับอะไรเลยเหมือนกัน (รูป 11)
12. สำหรับอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องเสียง ซึ่ง Youtube ได้เตรียมเสียงดนตรีประกอบไว้ให้เราด้วยเช่นเดียวกัน โดยจะเหมือนกับ CC คือเป็นดนตรีประกอบที่ฟังแล้วอาจจะไม่เข้าหูสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ไม่ติดเรื่องลิขสิทธิ์ และสามารถพอใช้เป็นดนตรีประกอบคลิปเบาๆ ได้เช่นเดียวกัน (รูป 12)
13. เนื่องจากเป็นเครื่องมือแบบ Cloud ซึ่งทุกอย่างอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ Youtube ทั้งหมด ดังนั้นการเซฟงาน ในกรณีที่เป็นผลงานที่ชิ้นใหญ่ที่อาจจะต้องใช้เวลาในการทำนานมาก ก็ไม่ต้องกังวล เพราะระบบจะทำการเซฟให้คุณโดยอัตโนมัติตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแฮงค์ เน็ตหลุด คอมพ์ดับ ฯลฯ งานที่ทำไว้ก็ยังคงอยู่ และคุณยังสามารถตั้งชื่อและเซฟแยกกันเอาไว้หลายๆ คลิปได้อีกด้วย (รูป 13)
14. สุดท้ายเมื่อตัดคลิปเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องนำออกมาเป็นคลิปวิดีโอเดียวให้คนอื่นได้ดูกัน โดยกดที่ปุ่ม Publish ที่อยู่มุมขวาบน ซึ่งขั้นตอนก็จะคล้ายๆ กับตอนอัพโหลดคลิปขึ้น Youtube นั่นแหละครับ เพียงเท่านี้คลิปก็พร้อมจะออกไปสูงสายตาประชาชนแล้ว (รูป 14)
นี่แหละครับคือเครื่องมือง่ายๆ จาก Youtube ที่สามารถจะให้คุณตัดต่อวิดีโอได้ตามต้องการ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเยอะ แต่ก็มีประโยชน์ในหลายๆ ด้านเหมือนกัน ยังไงลองนำไปใช้กันดูนะครับ