ใกล้ถึงวันหยุดยาวสงกรานต์ หลายคนคงวางแผนพักผ่อนหรือเดินทางกันเต็มที่ แต่ก่อนจะทิ้งบ้านไปหลายวัน อย่าลืมสละเวลาสักนิดมาเช็กเรื่องสำคัญอย่างระบบไฟฟ้าในบ้าน กันนะครับ เพราะสถิติชี้ว่าสาเหตุหลักๆ ของเหตุอัคคีภัยในบ้านและอาคาร มาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดหรือไม่ได้รับการตรวจสอบนี่แหละครับ
จากสถิติไฟไหม้บ้านและตึกส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเพราะอุปกรณ์เก่าหรือไม่ได้เช็กกันเลย หากไม่อยากให้วันหยุดหมดสนุกเพราะเรื่องนี้ Techhub อยากพาทุกคนมาดู 7 ทริคง่ายๆ สไตล์จับมือทำ เช็คระบบไฟ ที่ชไนเดอร์อิเล็คทริคแนะนำให้เราเป็นยอดนักสืบ เช็กไฟบ้านเบื้องต้นกันเองได้เลยครับ
ทริค 1 ส่องตู้ไฟหลักและเบรกเกอร์
ให้เราเดินสำรวจรอบบ้าน ไฟติดครบทุกดวงไหม มีจุดไหนไฟดับแปลกๆ หรือเปล่า ลองไปดูที่ตู้ไฟหลัก (ตู้เมน) กับสายไฟเก่าว่า มีชำรุดบ้างไหม เบรกเกอร์อยู่ในตำแหน่ง ON ดีหรือเปล่า มีตัวไหนเด้งไป OFF ไหม โดยที่เราไม่ได้ปิดเองไหม หากเจอสายไฟเปื่อยๆ หรืออุปกรณ์ดูไม่โอเค ก็รีบสับสวิตช์ใหญ่ลงทันที ถ้าเบรกเกอร์เด้งไป OFF อัตโนมัติ อย่าเพิ่งรีบดันขึ้น ลองหาสาเหตุก่อนว่าทำไมมันตัด ซึ่งอาจมีเครื่องใช้ไฟฟ้าช็อตอยู่
ทริค 2 เงี่ยหูฟังเสียงแปลกปลอม ดมกลิ่นดู
ให้เราลองตั้งใจฟังปลั๊กไฟ สวิตช์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใกล้ ๆ ดู หากมีเสียงจี่ๆๆ เหมือนไฟช็อตไหม หรือได้กลิ่นเหม็นไหม้แปลกๆ หรือเปล่า หากถ้าได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นตุๆ รีบปิดสวิตช์ไฟตรงจุดนั้น หรือถ้าไม่แน่ใจ ปิดเบรกเกอร์คุมโซนนั้นไปเลย แล้วโทรหาช่างไฟด่วน อย่าปล่อยไว้เด็ดขาดครับ
ทริค 3 สังเกตสายไฟและ เต้ารับ-เต้าเสียบ

ให้เรากวาดตามองสายไฟต่างๆ ทั้งสายเครื่องใช้ไฟฟ้า สายชาร์จ มีรอยขาด เปื่อย บวม หรือเปลือกยางหุ้มแตกไหม แล้วดูที่เต้ารับกับเต้าเสียบมีรอยร้าว บิ่น แตก หรือหลุดโยกเยกจากถ้าเจอสภาพแบบนี้ เลิกใช้ทันที อย่าฝืนเสียบต่อ อันตราย อาจทำให้เกิดการสปาร์คได้ง่าย ๆ
ทริค 4 เช็ก สายดินฮีโร่ ปกป้องชีวิต
ลองมองหาสายเขียวๆ หรือสายที่ต่อจากเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดิน (ถ้ามีระบบสายดิน) มันยังเชื่อมต่อดีอยู่ไหม มีรอยขาด หลุด หรือดูไม่แข็งแรงหรือเปล่า ถ้าเจอสายดินหลุดหรือขาด รีบเรียกช่างมาซ่อมด่วน อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะตัวนี้ช่วยชีวิตเราจากไฟดูดได้เลย
ทริค 5 อุปกรณ์เปียกน้ำห้ามแตะ
ช่วงสงกรานต์อาจมีน้ำสาด หรือฝนตก ถ้าเห็นปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ หรือแช่อยู่ในน้ำ ห้ามเอามือไปจับเด็ดขาด หากเจอ ให้เรารีบไปสับเบรกเกอร์ใหญ่ลง เพื่อตัดไฟทั้งบ้านก่อน แล้วค่อยเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาจัดการครับ
ทริค 6 เช็ก UPS และเครื่องปั่นไฟ (ถ้ามีนะ)
ใครมีเครื่องสำรองไฟหรือเครื่องปั่นไฟ เช็กหน่อยว่ามันยังทำงานได้ปกติไหม แบตเตอรี่ UPS ยังมีไฟไหมอยู่หรือเปล่า โดย UPS บางยี่ห้อหากแบตเสื่อม ก็จะมีเสียงเตือนตลอดเวลาครับ เครื่องปั่นไฟมีน้ำมันเชื้อเพลิงพอหรือเปล่า แต่คำถามคือ ทำไมต้องเช็ก เพราะบางบ้านต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าสำคัญไว้ เช่น ระบบความปลอดภัย กล้องวงจรปิด รวมทั้งระบบที่ใช้เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เช่น ตู้ปลา หากไฟดับช่วงไม่อยู่บ้าน แล้ว UPS ไม่ทำงานล่ะแย่เลย
ทริค 7 เรียกช่าง ชัวร์สุด
ถ้าเช็กๆ ดูแล้วรู้สึกไม่มั่นใจ มีจุดไหนดูแปลกๆ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร หรือซ่อมเองไม่ได้ ให้เราเรียกช่างมาดูดีกว่านะ ช่วยเซฟตัวเราไปด้วย ถ้าช่างยังไม่ว่าง ก็หยุดใช้งานไฟในจุด ๆ นั้นก่อน แล้วให้ช่างมาดูทีหลังได้
สำหรับอาคารใหญ่ หรือใครที่อยู่ตึกใหญ่ คอนโด หรือโรงงาน และกังวลเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์พิเศษ (เช่น แผ่นดินไหวที่อาจกระทบโครงสร้าง) ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เขาก็มีบริการตรวจเช็กเชิงลึกอย่างระบบรางไฟฟ้าแรงดันสูง (Busduct/Busway) ด้วยนะ
โดย ชโนเดอร์ มีทีมผู้เชี่ยวชาญไปตรวจให้ถึงที่ ทั้งความแน่นของจุดต่อ การติดตั้ง ค่าความเป็นฉนวนต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟปลอดภัยและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะเข้าตรวจสอบความถูกต้องของการเชื่อมต่อและโครงสร้างทางกายภาพ, ตรวจสอบตำแหน่งการติดตั้ง ตัวรองรับบัสเวย์และจุดปิดที่เหมาะสม, ตรวจสอบแรงขัน (Torque) และความแน่นของจุดเชื่อมต่อไฟฟ้า รวมถึงตรวจสอบค่า Insulation Test เพื่อให้มั่นใจว่า Busway มีการติดตั้งและใช้งานอย่างถูกต้อง
ทั้งหมดนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ช่วยให้การส่งจ่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มความน่าเชื่อถือในระบบ Busway ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ลดความเสี่ยงการหยุดทำงานของระบบ