แก้ถนนพัง ยางมะตอยซ่อมตัวเองได้ ไอเดียใหม่ ช่วยรัฐประหยัดงบ

ยางมะตอยซ่อมตัวเอง

ปัญหาหลุมบ่อบนถนนเกิดขึ้นแทบทุกที่ ไม่เพียงสร้างความเดือดร้อนให้คนใช้รถใช้ถนน แต่ยังเปลืองงบประมาณซ่อมแซมมหาศาล

นักวิจัยจาก King’s College London และ Swansea University ได้ร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ในชิลี พัฒนา แอสฟัลต์ที่สามารถซ่อมตัวเองได้ โดยเลียนแบบการฟื้นตัวของพืชและสัตว์บางชนิด เพื่อลดการเกิดรอยแตกและยืดอายุการใช้งานถนน

(แอสฟัลต์ (Asphalt) เป็นวัสดุก่อสร้างผิวทางที่เกิดจากการผสมระหว่างหินหรือกรวด (Aggregate) กับบิทูเมน (Bitumen) ซึ่งเป็นสารยางมะตอยที่เหลวหรือกึ่งแข็ง)

โดยทั่วไป แอสฟัลต์มักเกิดรอยแตกจากการออกซิไดซ์ของบิทูเมน (bitumen) ทำให้เนื้อสารแข็งและเปราะ นำไปสู่การแตกร้าวขยายเป็นหลุมบ่อเมื่อรับแรงกดจากรถ นักวิจัยจึงมองหาวิธีย้อนรอยกระบวนการนี้ให้บิทูเมนสามารถกลับคืนสภาพนุ่มและเชื่อมตัวได้เอง

หัวใจของเทคโนโลยีนี้คือการผสมสปอร์พืชขนาดจิ๋ว บรรจุน้ำมันรีไซเคิลเข้าไปในแอสฟัลต์ เมื่อถนนถูกกดทับหรือเริ่มมีรอยร้าว สปอร์จะปล่อยน้ำมันออกมา เพื่อช่วยให้บิทูเมนเชื่อมรอยแตกและซ่อมแซมตัวเองเหมือนการเย็บแผลจากภายใน

จุดเด่นอีกอย่างคือการใช้ AI และ Machine Learning มาวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลของบิทูเมนอย่างละเอียด ซึ่งช่วยให้ทีมนักวิจัยเห็นภาพการก่อตัวของรอยแตกและได้แนวคิดในการสังเคราะห์สารต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการซ่อมแซม บางส่วนก็ใช้แนวทางคล้ายงานวิจัยด้านการออกแบบยาเลยทีเดียว

แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่ผลลัพธ์ก็ชี้ชัดว่ามีศักยภาพจะนำไปใช้งานจริงได้ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงในระยะยาว และเป็นอีกก้าวของความยั่งยืนในอุตสาหกรรมก่อสร้างถนน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นถนนสายใหม่ที่เยียวยาตัวเองได้จริง ๆ จนปัญหาหลุมบ่อกลายเป็นแค่ตำนาน

ที่มา
https://www.techspot.com/news/106684-researchers-develop-self-healing-asphalt-repairs-cracks-stops.html