คิดว่าไง รถยนต์ไฟฟ้า VS สันดาป แบบไหน ปล่อยมลพิษ มากกว่า

ปล่อยมลพิษ

ตอนนี้มีประเด็นถกเถียงกันค่อนข้างกว้าง เกี่ยวกับเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์สันดาปแบบเดิม ว่าอะไรปล่อยมลพิษมากกว่ากัน

จริง ๆ เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นมานานพอสมควรแล้ว แต่มันบูมขึ้นมาจากเนื้อหาของ Youtube ช่องหนึ่งที่บอกว่า EV = Scam ทำให้หลายคนเข้ามาถกเถียงกันว่า รถยนต์แบบไหน มันสร้างมลพิษมากกว่ากัน Techhub ขอสรุปสั้น ๆ มาให้อ่านกันครับ

ซึ่งถ้าจะบอกว่า รถยนต์แบบใดสร้างมลพิษมากกว่า มันไม่สามารถบอกแค่เรื่องของการใช้งานในขณะขับ เพราะถ้าสรุปแบบนั้น ยังไง EV ก็กินขาด

แต่มันต้องมองถึงมลพิษตลอดวงจรชีวิต (Lifecycle) ของรถยนต์ ทั้งจากกระบวนการผลิต การใช้งาน การจัดหาพลังงาน และการจัดการซาก (End-of-life / Disposal) ซึ่งจากข้อมูลที่ผมอ่าน ก็ต้องยอมรับว่ารถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มสร้างมลพิษโดยรวม (Overall Emissions) น้อยกว่ารถยนต์สันดาปภายในแบบเดิม แต่ก็ต้องพิจารณารายละเอียดบางอย่างด้วย
คือ

1.กระบวนการผลิต (Production Phase)

รถยนต์สันดาปภายใน
– ในการผลิตรถยนต์สันดาป กำลังการผลิตและกระบวนการยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น CO₂) รวมถึงมลพิษบางส่วนจากการผลิตเครื่องยนต์และส่วนประกอบต่าง ๆ แต่ไม่ซับซ้อนเรื่องแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เหมือน EV อย่างไรก็ตาม การผลิตชิ้นส่วนโลหะ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ก็ต้องใช้พลังงานและวัตถุดิบจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีของเสียและการปล่อยมลพิษเกิดขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้า
– การผลิตแบตเตอรี่ (โดยเฉพาะลิเธียมไอออน) มีการใช้พลังงานและทรัพยากรวัตถุดิบมากกว่าการผลิตระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไป โดยเฉพาะวัสดุอย่างลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ ฯลฯ

– ขั้นตอนการสกัดแร่และการผลิตแบตเตอรี่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางน้ำ/ดินสูงกว่าการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปในหลายกรณี แต่ในอนาคต ซึ่งยกนี้ ต้องยอมรับว่า รถยนต์สันดาป สร้างมลพิษน้อยกว่าในเชิงกระบวนการผลิต แต่ในอนาคต กำลังมีการพัฒนาแบตเตอรี่ ที่ส่งผลเสียหาสิ่งแวดล้อม น้อยลงเรื่อย ๆ

สรุปเบื้องต้นคือ รถยนต์ไฟฟ้าสร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิตสูงกว่ารถยนต์สันดาปในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตและการขนส่งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ แต่ก็มีแนวโน้มลดลงตามเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

2.การใช้งาน (Usage Phase)

Air pollution from vehicle exhaust pipe on road

รถยนต์สันดาปภายใน
– การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันเบนซิน/ดีเซล) ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษโดยตรงออกสู่ท่อไอเสีย เช่น CO₂, NOx, PM2.5, และสารพิษอื่น ๆ มลพิษโดยตรงเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ สุขภาพ และยังเป็นก๊าซเรือนกระจกเพิ่มภาวะโลกร้อน

รถยนต์ไฟฟ้า
– ระหว่างการขับขี่ รถยนต์ไฟฟ้าแทบไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศออกจากตัวรถเลย (Zero Tailpipe Emission) แต่มลพิษทางอากาศจะถูกย้ายไปยังแหล่งผลิตไฟฟ้าแทน (Power Plants) ถ้าไฟฟ้าที่ใช้ ชาร์จไฟจากพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก เช่น ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ก็ยังมีการปล่อย CO₂ และมลพิษอื่น ๆ อยู่ แต่สิ่งนี้จะเกิดที่โรงไฟฟ้า ไม่ได้อยู่ที่ตัวรถ โดยที่โรงงาน จะมีการติดตั้งเครื่องกรอง/ดักจับ (Scrubbers) หรือเทคโนโลยีควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง และมีการกำกับดูแลค่อนข้างเข้มงวดมากกว่า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าหลายแห่ง ยังมีการผสมผสานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยลดการปล่อย CO2 มากขึ้นไปอีก

– ถ้าไฟฟ้ามาจากแหล่งพลังงานสะอาด (Renewable) เช่น โซลาร์ วินด์ หรือพลังงานน้ำ มลพิษรวมในภาพการใช้งานยิ่งต่ำลงไปอีก

สรุปคือในระยะการใช้งาน รถยนต์ไฟฟ้าปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์สันดาปแน่นอน โดยเฉพาะด้านมลพิษทางอากาศและมลพิษที่เป็นพิษต่อสุขภาพ

3.ระบบพลังงาน (Fuel/Energy Supply)

– รถยนต์สันดาปภายใน ต้องพึ่งพาการขุดเจาะ ปรับสภาพ (Refining) และขนส่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ กระบวนการทั้งหมดล้วนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสีย นอกจากนี้ โลกยังคงเผชิญปัญหาปริมาณสำรองน้ำมันที่จำกัด รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ขุดเจาะ หรือการขนส่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยที่เรามักเห็นข่าวน้ำมันรั่วในทะเลบ่อย ๆ ซึ่งอันนี้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก

-รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ต้องใช้น้ำมันโดยตรง แต่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ซึ่งอาจมาจากแหล่งพลังงานหลากหลาย ถ้าประเทศหรือพื้นที่นั้นมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมาก รถ EV ก็ยิ่งลดการปล่อยมลพิษได้มาก และหากยังต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ก็ต้องคำนึงถึงมลพิษที่โรงไฟฟ้า แต่โดยรวมแล้ว มีข้อมูลหลายแห่งบอกว่า แม้ใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิล รถ EV ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถสันดาป แต่จะคุ้มกว่า ถ้าโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด

4.การจัดการซากและการย่อยสลาย (Disposal / End-of-life)

– รถยนต์สันดาปภายใน โครงสร้างและเครื่องยนต์สามารถถอดแยกรีไซเคิลบางส่วนได้พอสมควร เช่น โลหะ ส่วนที่เป็นพลาสติก ยาง ส่วนของเหลว (น้ำมันเครื่อง น้ำยาหล่อเย็น ฯลฯ) อาจก่อให้เกิดมลพิษในการกำจัดหากไม่จัดการอย่างถูกต้อง

– รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการรีไซเคิลหรือการกำจัด เนื่องจากมีส่วนประกอบของโลหะหายากและสารเคมีที่อาจเป็นอันตราย

ปัจจุบันเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถดึงลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ ฯลฯ กลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น และลดของเสียอันตราย แต่หากแบตเตอรี่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดมลพิษจากสารเคมีมากกว่าในรถยนต์สันดาปเสียอีก..

สรุปเบื้องต้นคือการกำจัดซากรถยนต์ไฟฟ้าอาจดูซับซ้อนกว่าตรงส่วนของแบตเตอรี่ หากไม่มีระบบจัดการที่ดี มันก็จะสร้างมลพิษมากว่า แต่ปัจจุบัน เริ่มมีการให้ความสำคัญกับการกำจัดแบตเตอรี่ที่ดีขึ้น รวมถึงแนวทางการรีไซเคิลที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ในอนาคต แนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้า จะมีอนาคตที่สดใสมากกว่า

ทำไมผมถึงมองว่า EV สะอาดกว่าในระยะยาว

– ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในโรงงาน ยังดีกว่าการเผาไหม้ที่เครื่องยนต์เล็ก ๆ ทีละคัน โดยมาตรการควบคุมมลพิษที่โรงไฟฟ้า ทำได้เข้มข้นกว่า (ระบบ Scrubber, Capture) และโอกาสเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าสะอาดในอนาคต มีสูงมาก เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงของรถสันดาป

– เหตุผลด้านสุขภาพและมลพิษในเขตเมือง การไม่มีไอเสียจากรถ EV ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นทันทีในเมืองใหญ่ (ลด PM2.5, NOx) เป็นผลดีต่อสุขภาพ

แน่นอนว่า คนที่ใช้รถ ICE คงหาเหตุผลมาเห็นแย้งผมเรื่องนี้แน่ๆ ถึงแม้จะมองว่ารถไฟฟ้าดี แต่ผมยังไม่ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้านะ ก็ยังใช้ Hybrid อยู่ ตามโจทย์ของตัวเอง เพียงแค่สรุปตามข้อมูลที่มีเท่านั้น

กุญแจของเรื่องนี้ อยู่ที่พลังงานไฟฟ้าที่สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ โดยหากโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ในประเทศมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้น (เช่น โซลาร์ วินด์ พลังงานน้ำ) รถ EV ที่วิ่งอยู่จะปล่อย CO₂ ลดลงโดยอัตโนมัติตามความสะอาดของไฟฟ้า ตรงข้ามกับรถสันดาปที่ต้องเผาไหม้น้ำมันตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสสะอาดขึ้นได้มากนัก

เราอย่าเพิ่งมาขิงกันว่า รถแบบใดดีกว่ากันเลย เลือกตามโจทย์ที่ตัวเองดีกว่า สะดวกแบบใด ก็ใช้แบบนั้นไปก่อน ถึงเวลาสะดวก ก็ค่อยเปลี่ยน ค่อยเป็นค่อยไป ตามเงินกระเป๋าหรือปัจจัยที่ตัวเองควบคุมได้… คนที่ใช้ ICE ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักษ์โลก แต่อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นเองครับ

ว่าจะเขียนสั้น ๆ เอาซะยาวเลย ขออภัยครับ ฮ่า ๆ …

แหล่งข้อมูล
https://theicct.org/publications/global-LCA-passenger-cars-jul2021
https://www.iea.org/reports/global-ev-outlook-2023
https://www.eea.europa.eu/en/analysis/publications/electric-vehicles-from-life-cycle