เผยข้อมูลลับจากอวกาศ รวมจุดที่ห้ามพลาดในงาน Space Journey Bangkok ที่ไบเทค

[Top Story] สัมผัสประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับงานนิทรรศการระดับโลก Space Journey Bangkok ที่จัดขึ้นครั้งแรกในเอเชีย ขนทั้งแบบจำลองที่หาชมได้ยาก และมีชิ้นส่วนกระสวยอวกาศพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ของทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่ผ่านการใช้งานจริงแล้วกว่า 600 ชิ้น มาจัดแสดงให้เห็นอย่างใกล้ชิด เผยให้เห็น “ข้อมูลลับ” อย่างที่ไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อนด้วย

ส่วนข้อมูลที่ว่า ก็มีปรากฏให้เห็นในห้องต่าง ๆ ของนิทรรศการ โดยเป็นชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น หรือยังไม่รู้ข้อมูลเบื้องลึกมาก่อนด้วย ลองมาดูในบทความ ‘รวมจุดที่ห้ามพลาดในงาน Space Journey Bangkok ที่ไบเทค’ นี้กันครับ

Dreams And Vision เริ่มจากความฝัน

เริ่มจากทางเข้างานก่อนเลย ที่แสดงให้เห็นถึง ‘ความฝัน’ เชื่อว่ามนุษย์ในยุคสมัยก่อนนั้น คงมีความฝันอยากขึ้นไปดวงจันทร์มานานแล้ว เพราะเห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นไปยังไง

Jules Verne ผู้จุดประกาย

จนกระทั่ง Jules Gabriel Verne หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Jules Verne” นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ (หรือ Sci-Fi) ในสมัยแรก ๆ เจ้าของผลงาน From the Earth to the Moon ปี 1865 นับเป็นผลงานวรรณกรรมชิ้นแรกเลย ที่เล่าถึงการเดินทางไปยังดวงจันทร์นั้นเอง ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจในการเดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ ในอีก 100 ปีต่อมา

Cinema โรงหนังอวกาศ

ถัดจากห้อง Jules Verne ก็เป็นห้องชมหนังสั้น ที่บอกเล่าเรื่องราวของการสำรวจอวกาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แนะนำให้รับชม เพื่อเพิ่มความอินในการชมนิทรรศการหลังจากนี้เอง

Sputnik 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลก

ในช่วงทศวรรษ 1950 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็เข้าสู่ช่วง ‘จัดระเบียบ’ นำโดยสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ได้เกิดการแข่งขันกันทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยี (โดยเฉพาะอาวุธ) จนเกิดเป็นสภาวะความตึงเครียดอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันว่า “สงครามเย็น” ต่อมาในปี 1957 สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกอย่าง Sputnik 1 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ โดยสามารถโคจรเหนือโลก พร้อมเสียงปี๊ป ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ผู้ร่วมชมงาน Space Journey จะได้ยินกันด้วย พร้อมชมตัวแบบจำลองขนาดเท่าของจริงที่กำลังลอยอยู่เหนือหัว

ทั้งนี้ Sputnik 1 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจอวกาศที่แท้จริง เพราะต่อมาในปี 1960 ก็มี Yuri Gagarin นายทหารยศพันตรีจากกองทัพอากาศสหภาพโซเวียต ที่ได้กลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก ผู้นำยาน Vostok 1 ขึ้นสู่อวกาศต่อจาก Sputnik 1 และ Sputnik 2 (ที่มีเจ้า Laika สิ่งมีชีวิตแรกของโลกขึ้นไปด้วย) ได้สำเร็จ และกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้ทางสหรัฐฯ เข้าสู่วงการอวกาศด้วยเช่นกัน

Laika

ซากประตูเข้ายาน Vostok 1

หนึ่งในความพิเศษของงาน Space Journey ก็มีการนำซากประตูเข้ายาน Vostok 1 ของจริง ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ถูกนำมาจัดแสดงให้เห็นอย่างใกล้ชิดสุด ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอควร แต่รู้หรือไม่ว่า ยาน Vostok 1 มีที่นั่งให้นักบินอวกาศแค่คนเดียวเท่านั้น

แผงควบคุมยาน Vostok 1

แม้ตัวยานจะมีนักบินอวกาศอย่าง Yuri Gagarin นั่งไปด้วย ทว่าว่าระบบขับเคลื่อนตัวยานนั้น กลับเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งถูกควบคุมการบินจากฐานภาคพื้นดินนี้เอง ทำให้ตัวแผงควบคุมยานหรือควรเรียกว่าหน้าปัด SIS-2-3 KV ของยาน Vostok 1 จึงมีแต่หน้าปัดบอกสถานะต่าง ๆ และบอกตำแหน่งจากโลกแทน

Mercury Friendship 7 ยานอวกาศพาทัวร์รอบโลก (USA)

ย้อนกลับไปในปี 1958 ทางฝั่งสหรัฐฯ ได้มีการจัดตั้งโครงการ Mercury เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศโดยเฉพาะ กระทั่งหลังสหภาพโซเวียตได้ส่ง Sputnik 1 และ Vostok 1 พร้อมสร้างประวัติศาสตร์โดยมี Yuri Gagarin ที่ได้รับชื่อนักบินอวกาศคนแรกของโลก แน่นอนว่าทางสหรัฐฯไม่อยู่เฉย จนในปี 1961 จึงได้ส่งยานอวกาศ Freedom 7 จากภารกิจ Mercury-Redstone 3 ที่มี Alan Shepard ที่ได้กลายเป็นนักบินอวกาศ​คนแรกของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในงาน Space Journey ก็มีการโชว์แบบจำลองของยาน Mercury Friendship 7 ด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาคต่อของ Freedom 7 ที่มีความคืบหน้าโดยการเดินทางโคจรรอบโลกได้ถึง 3 รอบ โดยได้วุฒิสมาชิก John Herscell Glenn หรือ John Glenn เป็นผู้บังคับยาน และยังกลับมาอย่างปลอดภัยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1962

สามารถส่องภายในยาน Mercury Friendship 7 ได้ด้วย โดยแม้จะเป็นแบบจำลอง ก็ภายในก็มีความละเอียดมาก ๆ จนนึกว่าเป็นของจริงกันเลย อนึ่งอาจเป็นเพราะมีการใช้ชิ้นส่วนต้นฉบับบางส่วน มาช่วยสร้างด้วยนั้นเอง

Enos จากหมาสู่ลิง

ในฝั่งสหภาพโซเวียตมี “Laika” สุนัขท่องอวกาศตัวแรกของโลก ในปี 1961 ทางฝั่งสหรัฐฯ ก็มีการนำลิงชิมแปนซีหรือเจ้า “Enos” มาทดสอบการเดินทางในอวกาศด้วย สืบเนื่องจากมีโครงสร้างภายในที่คล้ายคลึงกับมนุษย์นั้นเอง ซึ่งได้เดินทางไปกับยาน Mercury MA-5 อนึ่งกรณีของ Laika เกิดเสียชีวิตเนื่องจากระหว่างเดินทาง เนื่องจากมีอุณหภูมิที่สูงเกินไป ทางสหรัฐฯ จึงพยายามทำให้การทดสอบนี้ ไม่คร่าชีวิตเจ้า Enos จึงมีการติดตั้งทั้งอุปกรณ์ช่วยควบคุมอุณหภูมิ ตรวจจับการเต้นของหัวใจ และสร้างแคปซูลที่ช่วยรักษาตำแหน่งให้อย่างดี ซึ่งทั้งหมดก็ช่วยชีวิตเจ้า Enos ได้สำเร็จ สามารถโคจรรอบโลกได้ 2 รอบ

หน้าตาแคปซูลป้องกันของ Enos

Apollo Program ก้าวแรกสู่ดวงจันทร์

ในปี 1968 โลกได้จารึกอีกประวัติศาสตร์สำคัญ นั้นคือตอนที่ Neil Armstrong นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่จากโครงการ Apollo นี้เอง ที่มีภารกิจมุ่งสู่ดวงจันทร์โดยเฉพาะ และชื่อโครงการที่โลกจดจำเป็นพิเศษก็คือ Apollo 11 ที่มี Neil Armstrong และมีนักบินอวกาศอีก 2 คนที่ชื่อ Michael Collins และ Edwin E. Aldrin Jr เริ่มเดินทางไปด้วยนั้นเอง

สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จของ Apollo 11 นั้น ก็ต้องขอบคุณ Saturn V จรวดขนส่งขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งมีการโชว์แบบจำลองขนาด 1:10 ให้เห็นในงานด้วย โดยตามประวัตินั้น ตัวจรวดถูกปล่อยทั้งหมด 13 ครั้ง และมีอยู่ 9 เที่ยวบิน ที่พามนุษย์หรือนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ได้ถึง 24 คน

History of all Apollo

นอกจาก Apollo 11 แล้ว ในงาน Space Journey ยังได้จัดแสดงชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากโครงการ Apollo ทั้งหมดด้วย สามารถไปดูเพิ่มเติมกันได้

Lunar Rover แบบจำลอง 1:1 ของยานสำรวจดวงจันทร์ ที่ใช้ใน Apollo 15 , 16 และ 17

ถุงเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์จากโครงการ Apollo 15

ชุดสุขอนามัยของโครงการ Apollo

กล้อง Hasselblad 500C รุ่นดัดแปลงพิเศษ สำหรับถ่ายภาพบนดวงจันทร์โดยเฉพาะ ทว่าขาไปมี 15 ตัว ขากลับเหลือเพียง 3 ตัวเท่านั้น โดยอีก 12 ตัว ต้องทิ้งไว้บนดวงจันทร์ เนื่องจากยานมีน้ำหนักเกิน เพราะต้องขนตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับไปด้วย

Soyuz Project ว่าด้วยโครงการโซยุซ

กลับมาที่ฝั่งสหภาพโซเวียตกันบ้าง สำหรับ Soyuz Project ก็เป็นโครงการอวกาศที่มีมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก โดยมีตั้งแต่ปี 1960 มาจนถึงสมัย “รัสเซีย” ในปัจจุบัน ซึ่ง Soyuz นั้น ก็มีครอบคลุมตั้งแต่ตัวยานอวกาศและตัวจรวดขนส่งกันเลย อนึ่งตัวยานอวกาศ Soyuz ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย โดยใช้ขนส่งลูกเรือขาไปและกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS นั้นเอง

ห้องน้ำอวกาศจาก Soyuz ใช่ครับดูไม่ผิด มันคือ Space Toilet หรือห้องน้ำตามชื่อเลย

Space Station LIFE IN SPACE MIR space station (1:1)

ถือเป็นไฮไลท์เด็ดของงาน Space Journey ครั้งนี้กันเลยกับสถานีอวกาศ MIR แบบ 1:1 หรือแบบจำลองที่ใหญ่เทียบเท่ากับของจริง ให้สัมผัสกันเลยว่าเหล่านักบินอวกาศอยู่กันอย่างไร ภายในมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง

และอีกไฮไลท์เด็ดก็มีห้องควบคุมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย โดยเป็นแบบจำลองขนาด 1:1 อีกเช่นกัน ซึ่งเผยให้เห็นแผงควบคุมและหน้าปัดบอกสถานะต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด และส่วนคันบังคับก็มีไว้เพื่อควบคุมด้วยมือ เผื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

Deep Space ปัจจุบันและอนาคต

ปิดท้ายด้วยห้องจัดแสดงความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศในปัจจุบัน รวมถึงการสำรวจในอนาคต โดยในห้องนี้ก็มีจัดแสดงรายละเอียดโครงการใหญ่ ๆ กำลังดำเนินการอยู่ นอกเหนือจาก NASA และ Soyuz ก็มีทั้ง SpaceX ของ Elon Musk , Blue Origin ของ Jeff Bezos , Rocketlab ของ Peter Back , Virgin Galactic ของ Michael Colglazier และอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงอนาคตของการสำรวจอวกาศหลังนี้ได้เป็นอย่างดี…อนึ่งในห้องนี้มี ‘ของพิเศษ’ บางอย่างจัดแสดงเอาไว้ด้วย

หากใครสนใจ สามารถมาดูได้ที่ Space Journey Bangkok ณ ไบเทคบุรี ฮอลล์ ES97 เวลา 10.00-20.00 น. โดยจัดตั้งแต่วันนี้ ยาว ๆ ไปจนถึงวันที่ 16 เมษายน 2568 ส่วนค่าบัตรก็อยู่ที่ 650 บาทต่อคน หากมา 4 คน ก็มีราคาพิเศษแบบกลุ่มที่ 2,400 บาทครับ