ทดสอบแล้ว โปรเจคโซล่าเซลล์​ระดับองค์กร จ่ายไฟเลี้ยงอาคารได้ทั้งหลัง

[Top Stories] แม้แสงอาทิตย์จะเป็นผลดีต่อโซลาร์เซลล์ แต่แสงอาทิตย์ก็มาพร้อมความร้อน ที่กลายเป็นผลเสียได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบ “Solar Floating” หรือระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่ช่วยให้การระบายอากาศและอุณหภูมิที่เย็นกว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบอื่น ๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น แต่ก็แลกกับต้นทุนที่มากกว่า

สำหรับ Solar Floating ก็นับเป็นหนึ่งในธุรกิจ “ระบบโซลาร์” ที่เปลี่ยนพื้นที่ดินหรือแม่น้ำข้างบริษัท ไม่ก็หลังคาโรงงานกับลานจอดรถขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เต็มระบบ สามารถจ่ายไฟเลี้ยงแก่อาคารหรือตึกสำนักงานได้ทั้งตึก จนช่วยประหยัดค่าไฟได้มหาศาล คิดเป็นปีละหลายล้านบาทกันเลย สำหรับระบบโซลาร์มีกี่ประเภท มีรูปแบบการติดตั้งอย่างไร รวมถึงช่วยผลิตไฟฟ้าและช่วยประหยัดค่าไฟบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน ลองมาดูบทความนี้กันครับ

ONNEX by SCG Smart Living

เมื่อช่วงเดือนต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทาง Techhub ได้รับเชิญจากทาง SCG หรือ ONNEX by SCG Smart Living พาไปชม Solar Farm ขนาด 47.5 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี โดยถือเป็นต้นแบบที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ภายใต้แนวคิด Smart Utilization – Smart Investment – Smart Flexibility และ Smart Monitoring ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับรู้ปริมาณการผลิตโซลาร์และการนำพลังงานสะอาดไปใช้อย่างเหมาะสม (เอาให้เห็นภาพก่อนสั่งซื้อ) ผ่านกลยุทธ์ EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ให้สามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายกลุ่ม ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบทางวิศวกรรม การขออนุญาตโครงการ รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างระบบแบบครบวงจรกันเลย คือเรียกได้ว่าเป็นที่ปรึกษาด้านระบบโซลาร์เต็มรูปแบบจากทาง SCG นั้นเอง

ครั้งนี้ทาง ONNEX ได้พาไปดูการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับองค์กร ที่มีรูปแบบการติดตั้งทั้ง 4 แบบด้วย อาทิ Solar Roof , Solar Floating , Solar Farm และ Solar Carport โดยแต่ละแบบก็มีข้อแตกต่างกันไปตามนี้

Solar Carport แผงโซลาร์เซลล์ในลานจอดรถ

เริ่มกันที่ Solar Carport หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในที่จอดรถ โดยบางบริษัทอาจมีการติดตั้งหลังคาช่วยกันความร้อน หรือมีพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ 3 ไร่ กว้างขวางพอที่จะจอดรถได้หลายร้อยคันก็มี จุดนี้เองหากเปลี่ยนจากหลังคาบังแดดให้กลายเป็นแผงโซลาร์เซลล์แทน ก็จะได้ทั้งที่จอดรถและระบบโซลาร์ที่ช่วยผลิตไฟฟ้าต่อปีได้ถึง 993,000 kWh ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 3,525,150 บาทต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวนี้มาจากพื้นที่ลานจอดรถขนาด 3 ไร่ของออฟฟิศ SCG สำนักงานใหญ่ เป็นหนึ่งในโครงการตัวอย่างของ ONNEX ที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดด้านการออกแบบและคุณภาพของแผงโซลาร์ขนาด 735 kWp โดยทาง ONNEX กล่าวเลยว่า จุดสำคัญในการติดตั้ง Solar Carport ก็คือการ “คืนพื้นที่” ให้กับทางออฟฟิศ SCG สำนักงานใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการก่อสร้างในพื้นที่จอดรถที่นานเกินไป เป็นการโชว์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการวางแผนการติดตั้งระบบโซลาร์ ซึ่งมีการก่อสร้างแผงโซลาร์เซลล์พร้อมโครงสร้างสำหรับติดตั้งจากโรงงานมาเลย ช่วยลดเวลาในการสร้างหรือติดตั้งได้อย่างมาก

Solar Roof แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน

นับเป็นวิธีติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี โดยเปลี่ยนพื้นที่หลังคาให้เป็นพื้นที่สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดย Solar Roof ก็นับเป็นระบบโซลาร์ที่ใช้งบลงทุนประหยัดที่สุดแล้วในบรรดาการติดตั้ง Solar Farm ทั้งหมด สืบเนื่องจากเป็นการติดตั้งกับหลังคาที่ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว จึงลดงบประมาณลงทุนในส่วนโครงสร้าง ลดอุปกรณ์ต่าง ๆ และการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาก็ทำได้ง่ายกว่าการติดตั้งในระบบอื่น ๆ

อนึ่งทาง ONNEX แอบกระซิบว่า ตัวโครงสร้างสำหรับติดตั้ง Solar Carport นั้น แพงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ซะอีก

สำหรับตัว Solar Roof ทาง ONNEX ก็มีตัวอย่างจากหลังคาบนโรงงานหินกองและหนองแค (ที่ผลิตกระเบื้อง SCG Ceramics) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 13 ไร่ เผยสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ได้ถึง 2,000 kWp ช่วยผลิตไฟฟ้าต่อปีได้กว่า 2,700,000 kWh และช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 9,585,000 บาทต่อปี

Solar Floating แผงโซลาร์เซลล์แช่น้ำ

ตามที่เกริ่นไป แสงอาทิตย์ก็เป็นผลเสียต่อแผงโซลาร์เซลล์ได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของ Solar Floating ระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นระบบแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าระบบโซลาร์อื่น ๆ ถึงประมาณ 5-20% เนื่องจากมีข้อได้เปรียบเรื่องการระบายอากาศและอุณหภูมิที่เย็นกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น ทว่าก็แลกมากับต้นทุนที่มากกว่าการติดตั้งระบบโซลาร์แอบอื่น ๆ พอควร เพราะต้องสร้างทั้งทุ่นลอยน้ำ และระบบยึดโยงทุ่นที่ต้องคำนวณเผื่อระดับการขึ้น-ลงของน้ำ ตามหน้างานที่เหมาะสมเพิ่มเติมด้วย

ทาง ONNEX ก็ได้พาไปชม Solar Floating ขนาด 999 kWp ที่โรงงานผลิตสุขภัณฑ์สยามซานิทารีแวร์ (COTTO) เผยสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปีได้ที่ 1,350,000 kWh ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 4,792,500 บาทต่อปี

Solar Farm ทุ่งโซลาร์เซลล์

ปิดท้ายด้วย Solar Farm ซึ่งถือเป็นการติดตั้งระบบโซลาร์ในอุดมคติเลย เนื่องจาการติดตั้งรูปแบบนี้ มักทำในพื้นที่ดินที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ทำให้ได้การติดตั้งระบบโซลาร์ที่ครบวงจรมากที่สุด ทั้ง Inverter ที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระเเสสลับ กับ Energy Storage จุดทำหน้าที่สำรองไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ใช้ในระบบโซลาร์ในที่เดียว

โดยทาง ONNEX ก็พาไปชม Solar Farm ขนาด 7.2 MWp ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 47.5 ไร่ จ่ายไฟฟ้าให้โรงงานได้ถึง 2 แห่ง อาทิ โรงงานหนองแค 1 SCG Ceramics และโรงงานหนองแค 2 Sosuco Ceramics โดยพื้นที่ Solar Farm จากทาง ONNEX นี้ ก็โชว์การติดตั้งแผงโซลาร์ในจุดที่เหมาะสม ทั้งยังติดตั้ง Energy Storage ขนาด 200 kWh ด้วย ซึ่งช่วยเก็บไฟฟ้าในช่วงค่าไฟ Off Peak มาใช้ในช่วงค่าไฟ On Peak (Energy Arbitrage) และยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ อาทิ Peak Shaving ที่จะจ่ายพลังงานออกมาจากแบตเตอรี่ ในช่วงเวลาที่มีการใช้โหลดไฟฟ้าสูงสุด เพื่อลดภาระค่า Peak Demand จากการไฟฟ้า

สำหรับ Solar Farm ขนาด 7.2 MWp นี้ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปีได้มากถึง 9,723,600 kWh ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 34,518,780 บาทต่อปี

ท้ายนี้ขอทิ้งท้ายเป้าหมายใหญ่ของทาง ONNEX by SCG Smart Living โดยคุณดุสิต ชัยรัตน์ Smart Home Living Solution Director ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ด้วยแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งด้วยนโยบายจากภาครัฐและจากความต้องการของลูกค้าในการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งในระยะหลังมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นจากผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและมีความผันผวนต่ำในระยะยาว ทาง ONNEX by SCG Smart Living ได้จัดให้มีบริการ EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งด้านการออกแบบทางวิศวกรรม การขออนุญาตโครงการ รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างระบบแบบครบวงจรอยู่แล้ว เพื่อขยายตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จึงได้เตรียมกลยุทธ์ EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มในระบบโซลาร์ ที่จะช่วยสร้าง ecosystem ให้แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ให้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ส่งผลดีให้กับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดว่า EPC+ Business Model จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งในระบบพลังงานโซลาร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี”