แว่นตาสุดล้ำ ซ้อนกล้องขนาดจิ๋ว ระบุตัวตนคนแปลกหน้าได้

[Beep Beep Beep] อาจเรียกได้ว่า “น่ากังวล” มากกว่า “ว้าว” หลังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พัฒนาแว่นตาวิเศษ สามารถระบุตัวตนของคนแปลกหน้าบนท้องถนนได้อย่างง่ายดาย บางรายเห็นได้ตั้งแต่ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ยันที่อยู่บ้าน

ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหลายตัวได้ไม่ยาก เพราะมีทั้งโปรแกรมสำเร็จรูป ทั้งฮาร์ดแวร์พร้อมประกอบ และบริการ AI ออนไลน์เสร็จสรรพ จึงไม่แปลกที่จะมี Gadget หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามมา เหมือนอย่างที่สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่าง AnhPhu Nguyen และ Caine Ardayfio ได้พัฒนาอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า “I-XRAY”

I-XRAY ถูกดัดแปลงมาจากแว่น Ray-Ban ของ Meta นี้เอง ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นแว่นตาทั่วไป แต่มีการซ้อนกล้องขนาดเล็ก เพื่อถ่าย Live ลง Instagram ทว่าสองนักศึกษาฮาร์วาร์ดได้นำ ‘เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน’ มาสร้างเป็นเครือข่ายสแกนใบหน้าแบบ Realtime ซะเลย โดยเริ่มจากการใช้ PimEyes บริการจดจำใบหน้า ที่สามารถใช้ภาพใบหน้าคนมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น ข้อมูลนักศึกษา หรือหน้าโปรไฟล์บนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีบอกข้อมูล (ส่วนตัว) ไว้พร้อมสรรพ

ตัวแว่นมีการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) หรือ AI ช่วยประมวลผลด้วย โดยจะนำข้อมูลที่ได้จาก PimEyes มาสรุปเป็นข้อมูลส่วนตัวทั้งชื่อ อาชีพ และรายละเอียดส่วนตัวอื่น ๆ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่บ้าน ยันข้อมูลความสัมพันธ์ในครอบครัว กระทั่งดึงข้อมูลรูปถ่ายในวัยเด็กของบุคคลนั้น ๆ ได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะแสดงผลผ่านจอสมาร์ทโฟนนั้นเอง

**อนึ่งตัวบริการ “PimEyes” นั้น จริง ๆ เอาไว้ใช้ค้นหาว่าเรามีภาพใบหน้าของตนเอง หลุดไปในเว็บหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไหนบ้าง ซึ่งไม่เพียงภาพใบหน้า แต่อาจมีด้วยข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ หลุดไปด้วย โดยหากพบเจอ ก็ทำการแจ้งให้เอาออกได้ภายหลัง**

เพื่อเป็นการยืนยัน สองนักศึกษาได้ถ่ายคลิปทดสอบการใช้งานลงใน X (หริอ Twitter เก่า) โชว์ให้เห็นเลยว่า ตัวแว่นสามารถบอกข้อมูลส่วนตัวของคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบเจอได้จริง อย่างการเข้าไปทักชื่อจริงบุคคลในที่สาธารณะ เข้าไปพูดคุยอย่างสนิทสนมเสมือนเป็นคนรู้จัก (ซึ่งแน่นอนว่าไม่รู้จัก) อีกรายก็บอกชื่อสถานที่ทำงานแล้วตีเนียนว่ามาจากที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตัวแว่นก็ไม่ได้บอกข้อมูลถูกต้องเสมอไป

เรียกได้ว่าเป็นแว่นตาอัจฉริยะที่ทั้งล้ำและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน โดยนาย AnhPhu Nguyen ออกมาบอกเลยว่า อาจมีบางคนนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นแอบค้นหาที่อยู่บ้านผู้หญิงในที่สาธารณะ จากนั้นก็แอบตามกลับบ้านด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอะไรที่อันตรายมาก รวมถึงรู้ดีว่าตัวอุปกรณ์ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวมากแค่ไหน จึงบอกเบื้องหลังแค่พอสังเขป ส่วนรายละเอียดการพัฒนาก็ปกปิดเอาไว้

ท้ายนี้ทั้ง AnhPhu Nguyen และ Caine Ardayfio กล่าวว่าทั้งสองไม่ได้มีเจตนาพัฒนาตัว I-XRAY มาใช้งานจริง แต่เพื่อเป็นการเตือนว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำแบบนี้ได้ และเข้าถึงได้ไม่ยาก (หากมีความเชี่ยวชาญพอ) ฉะนั้นสิ่งที่ควรระวังจริง ๆ คือ การเผลอ “ฝาก” ข้อมูลส่วนตัวในโลกโซเชียล

เช่น เขียนชื่อที่อยู่เบอร์โทร กับข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Instagram บางรายอาจถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่บนเว็บไซต์โดยไม่ยินยอมก็มี ซึ่งก็ต้องมาย้อนดูว่า เผลอไปสมัครบริการอะไรที่แปลก ๆ หรือไม่ จากนั้นก็แจ้งเตือนเว็บไซต์นั้น ๆ ให้รีบนำข้อมูลส่วนตัวของตนเองออกโดยไว ก่อนที่จะแจ้งความดำเนินกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ที่มา : Techspot