ผลทดสอบชัด ใช้ AI ช่วยเขียนโค้ด ไม่ได้ช่วยลดภาระงาน

[เพราะอะไร] ปัจจุบันมีเครื่องมือ AI หลายประเภท มีวิธีใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่มักมีคล้าย ๆ กันคือ “การช่วยลดภาระ” จากการทำงานต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการใช้ AI ช่วยเขียนโปรแกรมด้วย ให้ผู้ใช้สามารถเขียนโค้ดได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และสะดวกกว่าเดิม ทว่าผลทดสอบล่าสุดกลับพบว่า ตัว AI ไม่ได้ช่วยอย่างที่หวังไว้

Uplevel บริษัทวิเคราะห์และแนะนำการเลือกใช้ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ เผยได้ติดตามนักพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 800 คน ลองใช้งาน GitHub Copilot เครื่องมือช่วยเขียนโปรแกรมอัตโนมัติเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม จากนั้นก็สังเกตความเปลี่ยนแปลง

Matt Hoffman นักวิเคราะห์จาก Uplevel เผยมีความคาดหวังให้ AI ช่วยนักพัฒนาให้สามารถเขียนโค้ดหรือทำงานได้มากขึ้น และหวังให้ช่วยลดข้อบกพร่องตอนตรวจงานด้วย คือหลังเขียนโค้ดสร้างโปรแกรมเสร็จ ก็จะต้องมีการ ‘ตรวจสอบ’ ข้อผิดพลาดก่อนส่งงานด้วยนั้นเอง ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือ AI ช่วยตรวจสอบแทนได้แล้ว

แต่ในความเป็นจริงนั้น Matt Hoffman กลับพบว่านักพัฒนาที่ใช้ Copilot เกิดข้อบกพร่องในการเขียนโค้ดมากถึง 41% แทน และไม่พบด้วยว่าการใช้ AI สามารถช่วยลดภาระหรือสภาวะเหนื่อยล้า (Burnout) ได้อย่างจริงจัง

ในช่วงเริ่มต้น พบการเขียนโค้ดใหม่เกือบ 30% มาจากความช่วยเหลือโดย AI และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็มองได้อีกประการคือ นักพัฒนาเริ่มพึ่งพา AI มากเกินไปแล้ว

Ivan Gekht ซีอีโอ Gehtsoft USA บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในสหรัฐฯ เผยได้มีการทดสอบที่คล้ายกัน ก็พบผลลัพธ์น่าตกใจว่า การแก้ไขโค้ดที่สร้างโดย AI นั้น จะเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายการเขียนโค้ดใหม่หมดตั้งแต่ต้น กลับทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขซะอีก

ทาง Ivan Gekht ได้กล่าวเสริมอีกว่า การเขียนโค้ดเพียงไม่กี่บรรทัด (ที่เหลือใช้ AI ช่วยเขียน) กับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเต็มรูปแบบเลยนั้น มีความแตกต่างกันมาก คือการ ‘เขียนโค้ด’ ก็เหมือนกับการเขียนประโยค ในขณะที่ ‘การพัฒนา’ ก็เหมือนกับการเขียนนวนิยายเลย

แม้จะมีรายงานผลทดสอบที่ไม่ดีนัก แต่ก็ยังมีบริษัทที่เห็นประโยชน์ในเครื่องมือดังกล่าวอยู่ โดยมี Innovative Solutions ซึ่งทาง Travis Rehl ที่เป็น CTO ของบริษัทกล่าวออกมาเผยเลยว่า ตัว AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนามากขึ้น 2 -3 เท่า

โดยเพิ่มประสิทธิภาพจนถึงขั้นที่จบโปรเจ็กต์ของลูกค้าได้ภายใน 24 ชั่วโมงเลย จากแต่เดิมอาจต้องใช้เวลามากถึง 30 วัน Travis Rehl กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนทางฝั่ง GitHub Copilot ยังไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการทดสอบเหล่านี้ แต่มีการชึ้ว่านักพัฒนาสามารถเขียนโค้ดได้เร็วขึ้นถึง 55% โดยใช้เครื่องมือดังกล่าว

ที่มา : Techspot