กระดูกเทียมสั่งตัด ฝีมือคนไทย ใช้ AI และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

ไม่ไกลเกินเอื้อม คนไทยสร้างกระดูกเทียมใช้งานได้จริง หนึ่งในความสำเร็จของ Health Tech Innovation เมื่อการพัฒนานวัตกรรมก้าวข้ามผ่านความท้าทายเรื่องความปลอดภัย จนได้รางวัลการันตีจากต่างประเทศ

Techhub insight พาไปคุยกับผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ จำกัดผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตรผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ออกแบบให้เข้ากับสรีระของผู้ป่วย เป็นกระดูกเทียมสั่งตัด ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก


:
จุดเริ่มต้นนวัตกรรม

ก่อนหน้านี้การรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุให้รอดชีวิตด้วยอวัยวะเทียม จำเป็นต้องนำเข้าวัสดุเทียมจากต่างประเทศ ที่เป็นไซส์มาตรฐานของชาวต่างชาติมารักษาผู้ป่วย อย่างแผ่นปิดกระโหลกเทียม ที่ใช้เป็นวัสดุทดแทนให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าเปิดกระโหลกศีรษะ แต่ตอนนี้คนไทยสามารถพัฒนากระดูกเทียมขึ้นเองได้ แถมยังเป็นกระดูกเทียมเฉพาะบุคคล ที่ออกแบบให้เข้ากับสรีระของคนไข้ได้มากที่สุด

ผศ.ดร.เชษฐา เล่าว่า นวัตกรรมกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลเกิดขึ้นตั้งแต่ 7 ปีก่อน จากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโลหะไทเทเนี่ยมในรูปแบบผง มาจนถึงการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างเป็นกระดูกเทียม ที่แข็งแรงและปลอดภัย

“เริ่มจากเคสแรกคือการผ่าตัดรักษาส่วนของนิ้วหัวแม่มือให้กับผู้ป่วย จากวันนั้นเราก็มีการเอาเทคโนโลยีนี้ไปช่วยอีกหลายๆ ส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะ แผ่นปิดกะโหลกเทียม ซึ่งคนไทยเราเองมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม หรือว่าเส้นเลือดในสมองแตก คุณหมอมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเอากะโหลกเดิมออกและไม่สามารถเอากระโหลกเดิมมาปิดได้” ผศ.ดร.เชษฐา กล่าว

ความสำเร็จของนวัตกรรมเกิดขึ้นจากองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและการทำงานร่วมกับคุณหมอ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัยสามารถใช้งานได้จริงแล้วก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนไทยให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น


: จากต้นแบบสู่การใช้จริง

ขั้นตอนการสร้างกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นที่สุด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีช่วยให้คุณหมอสามารถสร้างกระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยได้ใน 7 วัน

“ตอนนี้เราสามารถรับข้อมูลภาพถ่าย CT SCAN กระดูกของผู้ป่วย มาเปลี่ยนเป็นกระดูกที่ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์และ AI นำไปผลิต ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ และส่งมอบให้โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องรอนานกว่า 2 เดือน” ผศ.ดร.เชษฐา กล่าว

จากศาสตร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมกับศาสตร์ทางการแพทย์ การทำงานร่วมกันระหว่างคุณหมอและนักพัฒนานวัตกรรม ทำให้ได้วัสดุเทียมที่มีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับ จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้อยู่ในสิทธิ์ของการเบิกจ่ายประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ์บัตรทอง ช่วยให้คนไข้เข้าถึงการรักษากระดูกเทียมเฉพาะบุคคล ได้แบบไม่ต้องเสียเงิน

“การที่เราสามารถพัฒนานวัตกรรมเป็นของเราเองได้ จะช่วยลดการนำเข้า และระหว่างทางยังเกิดการพัฒนากระบวนการการผลิตให้แม่นยำ และรวดเร็ว สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นในอนาคต” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ กล่าวและย้ำว่า จากจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม จนถึงวันนี้กระดูกเทียมสั่งตัดได้ ได้ช่วยคนไทยไปแล้วมากกว่า 1,800 ราย และกำลังขยายไปช่วยคนทั่วโลก

ติดตามเบื้องหลังของ เมติคูลี่ สตาร์ทอัพไทย หนึ่งใน Health Tech Innovation ที่กำลังเป็นที่จับตามอง กับรายการ Techhub Inspire ได้ทาง Social Media ของ Techhub