[กำเนิดไซบอร์ก ?] ในหนัง Sci-Fi หลาย ๆ เรื่อง เราคงได้เห็นเทคโนโลยีแปลกใหม่มากมาย ที่ยังไม่มีในโลกจริง (และอยากให้มี) เช่น Biocomputer เทคโนโลยีคอมฯ ชีวภาพ ที่รวมสิ่งมีชีวิตเข้ากับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นสองสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ทว่าล่าสุดกำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว
จากนิตยสาร Nature Electronics พบกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Indiana ได้เผยความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี Hybrid Biocomputer โดยก้าวแรก สามารถนำเนื้อเยื่อสมองของมนุษย์ (ที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ) มาผสานเข้ากับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จนสร้างเป็นชิป AI ชีวภาพ ที่ประมวลผล Voice Recognition หรือการจดจำเสียงได้สำเร็จ
กลุ่มนักวิจัยได้ตั้งเทคโนโลยีนี้ว่า “Brainoware” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างออร์แกนอยด์ (organoids) หรือเซลล์จำลอง 3 มิติ ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ โดยในที่นี้คือเนื้อเยื่อสมองมนุษย์ ซึ่งมีการผสานรวมกับวงจรไฟฟ้า ผ่านจานที่มีอิเล็กโทรดหลายพัน สามารถสร้างเซ็นเซอร์จับการตอบสนองของเนื้อเยื่อดังกล่าว แล้วแปลงเป็นข้อมูล Pulse (พัลส์) หรือคลื่นสัญญาณไฟฟ้า พร้อมใช้ AI ช่วยถอดรหัส เพื่อประมวลผลการตอบสนอง
ในการทดสอบนั้น ทางทีมนักวิจัยได้นำไฟล์บันทึกเสียง 240 ไฟล์ จากผู้พูดทั้ง 8 คน มาให้ตัว Brainoware จดจำ แล้วดูการตอบสนองต่อแต่ละเสียงที่แตกต่างกันไป จนพบว่าสามารถจำแนกเสียงได้แม่นยำถึง 78%
Arti Ahluwalia วิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยปิซา ได้มองว่าเทคโนโลยีนี้ ช่วยให้มนุษย์มีความเข้าถึงเกี่ยวกับสมองได้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างแบบจำลอง ที่ช่วยให้ศึกษาความผิดปกติทางระบบประสาท หรือเพิ่มหนทางในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Brainoware จำเป็นต้องใช้ Organoids ที่คงสภาพได้นาน จนสามารถจำลองสถาปัตยกรรมหรือการทำงานของสมองได้แม่นยำขึ้น เพื่อนำไปสู่กับรักษาหรือพัฒนาเทคโนโลยีคอมฯ ชีวภาพในขั้นถัดไปได้ดีขึ้น เช่น Brain-Computer Interface หรือ BCI เชื่อมต่อสมองกับเครื่องคอมฯ ในอนาคต
ที่มา : Engadget