หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ปูรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต คือแนวคิดและหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ซึ่งนักพัฒนาและนักคิดชั้นนำเห็นร่วมกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และแนะนำให้ประชาชนศึกษาและน้อมนำหลักพุทธศาสนามาเป็นหลักในการใช้ชีวิตและร่วมกันลดภาระที่มีต่อโลก
สตีเฟ่น ยัง ผู้อำนวยการอาวุโสของ Caux Round Table for Moral Capitalism ชาวอเมริกันที่อยู่ในประเทศไทยมานานถึง 63 ปี กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นหลักการที่มีความเป็นสากลมาก สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ทั้งในระดับภาพกว้างและการปฏิบัติในส่วนบุคคล
“ผมเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2510 นานถึงชั่วโมงครึ่ง พระองค์ตรัสเรื่องพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งและใช้หลักนี้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นี่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้มานานหลายสิบปีแล้ว และพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
สตีเฟ่น กล่าวต่อว่า หลักแห่งความพอเพียง อาจยากที่จะอธิบายให้คนต่างชาติที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนาเข้าใจได้ เพราะเป็นหลักคิดที่ซับซ้อน ไม่สามารถอธิบายในคำเดียวได้ว่าคืออะไร เพราะแนวคิดนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องตรรกะที่เป็นเรื่องของสมองซีกซ้ายอย่างเดียว หรือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นการทำงานของสมองซีกขวา แต่เป็นเรื่องของความสมดุล อยู่ในจุดกึ่งกลางที่ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
เมื่อนำหลักคิดของศาสนามาใช้ในการอธิบายเรื่องของโลก ก็เหมือนกับเรามองว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องของการไปวัด การทำบุญ การทำทาน แต่เป็นเรื่องของการบรรลุธรรม รู้แจ้งในความจริง เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้ในบริบทของความยั่งยืนคือ ต้องรู้แจ้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมในองค์รวมว่าจะต้องสร้างความสมดุล นอกจากนี้ เราต้องมีความแน่วแน่ที่จะสร้างความสมดุลจึงจะพัฒนาตัวเองได้ เป็นคนที่ดีขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโลกที่ดีกว่า “คนไทยใช้ ‘ใจ’ อยู่แล้ว ถ้าเราทุกคนปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ใส่ใจ ใช้ใจของเราเต็มที่ เราจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้” สตีเฟ่น กล่าว
ศาสตราจารย์เทตสุโนริ โคอิซูมิ ผู้อำนวยการสถาบัน International Institute for Integrative Studies ผู้เชี่ยวชาญด้านทุนนิยมและความยั่งยืน กล่าวว่า แนวคิดทุนนิยมฟังดูย้อนแย้งกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่สองเรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะมีผลกระทบและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมองในองค์รวม และเน้นความเชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ส่วนแนวคิดทุนนิยม เกิดจากพื้นฐาน 3 ข้อของอคติ 4 (รัก โลภ โกรธ หลง) เพราะการจะประสบความสำเร็จในโลกทุนนิยม เราต้องอาศัยความโลภเพื่อสร้างผลกำไร ต้องอาศัยความโกรธเพื่อเอาชนะและควบคุมความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง และต้องอาศัยความหลง ซึ่งเป็นความหลงผิดว่ามีทรัพยากร มีศักยภาพในการเติบโตที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
“แต่ในโลกนี้ไม่มีการเติบโตอย่างไร้ที่สิ้นสุด ไม่มีทางจะเป็นไปได้” ศ.โคอิซูมิ กล่าว “ดังนั้น เราต้องมองโลกในแง่มุมใหม่ ต้องใช้ ‘สติ’ รู้ตัว รู้ทันความเป็นไป ต้องรู้จักบริหาร ‘สันนิวาส’ หรือความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และรู้จักรักษา ‘ความสันโดษ’ คือการรู้จักพอ รู้จักความพอเหมาะพอดี” แบรนด์ดอยตุง เป็นหนึ่งในตัวอย่างโครงการพัฒนาท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติได้ ด้วยการใช้หลักศาสนาและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และผู้บริหารแบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคม “ดอยตุง” เล่าว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในท้องถิ่น และให้ทางเลือกด้านอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ สามารถนำตนเองให้พ้นจากความยากจนได้ด้วยตนเอง แม่ฟ้าหลวงมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นโครงการในพระราชดำริ ปัจจุบันเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการยกย่องในวงกว้าง สามารถยืนได้ด้วยตนเอง มีความมั่นคงทางรายได้ สามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผลิตและจำหน่ายสินค้าหลากหลายในประเทศและต่างประเทศ โมเดลการพัฒนานี้ถูกประยุกต์ใช้ในหลายประเทศที่ยังประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยเคยเผชิญเมื่อ 30-40 ปีก่อน
“เราเชื่อว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสำคัญมาก และเป็นทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องมองไปข้างหน้าให้เห็นว่าปัญหาที่จะเกิดกับคนรุ่นใหม่ในอนาคตคืออะไร จะวางรากฐานในการแก้ปัญหาอย่างไร เราต้องทำให้คนมีศักยภาพ ต้องสร้างการเติบโตจากราก และขยายผลให้กว้างขวางต่อไป ซึ่งนี่คือหลักของพุทธศาสนาที่เริ่มจากการพัฒนาตัวเราให้เป็นคนที่ดีขึ้นก่อน จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อคนอื่น ต่อองค์กร เปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนโลกได้” ม.ล. ดิศปนัดดา กล่าว
ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวสรุปว่าองค์กรต่าง ๆ สามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดในการบริหารความเสี่ยง ทุกคนต้องตระหนักในหน้าที่ และมีความมุ่งมั่นที่จะลดการใช้ทรัพยากร เราต้องบริหารและลดความ “โลภ” เพื่อให้องค์กรมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน