ปัญหาสุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในสถานการณ์ปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสุขภาพและความยั่งยืนเริ่มที่หน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว และมีความจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีทักษะในการเลี้ยงดูเด็กที่ดีเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องในระดับประเทศและระดับโลก สร้างความสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคลและทางด้านเศรษฐกิจ
ทางโรงพยาบาลศิริราชได้ตระหนักถึงปัญหาด้านนี้มานาน และได้คิดสร้างโมเดลเพื่อสร้างพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีทักษะเลี้ยงเด็กในเชิงบวก โดยมี รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำอุดมการณ์มาทำให้เป็นจริง ในโครงการชื่อ “NET PAMA” (Pa มาจาก Parents และ Ma มาจาก Management) ซึ่งคุณหมอได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ โดยมุ่งหวังสร้างคน สร้างสังคม สร้างเจนใหม่ที่มีคุณภาพ
“สถาบันต่างๆ ที่รายล้อมเด็กในปัจจุบันมีความเสื่อม นับจากครอบครัว โรงเรียน สังคม ในฐานะจิตแพทย์เด็ก ผมทนเห็นภาพนั้นไม่ได้ เลยลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ ผมทำเน็ตป๊าม๊า (NET PAMA) นำความรู้มาจัดตั้งห้องเรียนพ่อแม่ สมัยนั้นยังไม่มี ถือว่าศิริราชเป็นที่แรกที่อบรมผู้ปกครองให้มีทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก” รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศ.นพ.อภิชาต อัครมงคล เปิดสัมมนาในหัวข้อ “ต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพชุมชนเชิงรุกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีการหยิบประเด็นการส่งเสริมสุขภาพชุมชนเชิงรุกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กเล็กที่จะเป็นประชากรประเทศในอนาคต
สำหรับโครงการ NET PAMA เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2544 โดยในช่วงแรกสามารถอบรมผู้ปกครองที่สนใจ ณ โรงพยาบาลศิริราช ได้ปีละ 5 รุ่น รุ่นหนึ่งรับได้จำนวน 30 คน “พอครบ 20 ปี เราอบรมผู้ปกครองไป 3,000 คน และเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ยังมีผู้ปกครองคนอื่นอีกมากมาย ทั้งที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาล และในต่างจังหวัดที่น่าจะได้รับการอบรมเช่นกัน สิ่งที่เราฝันคืออยากให้พ่อแม่มีทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก และเราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากเลี้ยงให้ดี ไม่อยากทุบตี หรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก แต่อาจไม่รู้เทคนิคและวิธีการ”
“จากการสำรวจเรื่องสุขภาพจิต การวิจัยล่าสุดในประเทศไทย พบ 75% ของเด็กเคยถูกตีและดุด่าอย่างรุนแรง”
โครงการเน็ตป๊าม๊าต้องการเป็นคัมภีร์เลี้ยงลูกที่แตกต่างจากที่มีอยู่ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน และพ่อแม่ได้ฝึกลงมือทำ มีกรณีศึกษา มีการบ้านให้ฝึก และมีการจุดประกายจาก รศ.นพ.ชาญวิทย์ โดยผนึกกำลังจิตแพทย์เด็กประเทศไทย นำประสบการณ์ความรู้มาที่ตกตะกอน และทุนสนับสนุนจาก สสส. ทำการขยายการอบรมโดยใช้การเรียนออนไลน์ได้ ซึ่งใช้เวลาผลิต 2 ปี และเปิดตัว 2 ปีที่แล้ว ในวันแม่เดือนสิงหาคม เพื่อให้ผู้ปกครองได้ใช้และกดเข้าไปเรียนได้ฟรี เป็นการอบรมพ่อแม่ทางออนไลน์ครั้งแรกของไทย (First Internet-based parent management training in Thailand) ในเวลา 2 ปีมีผู้สนใจเข้าชมเว็บไซต์ [https://www.netpama.com] แล้วกว่า 200,000 คน มีผู้เข้าฝึกอบรมเรียนไปแล้ว 16,000 คน และเนื้อหาบนเฟซบุ๊กมีการเข้าถึงผู้คนกว่า 2 ล้านราย
แต่เมื่อเปิดตัวและทำการประเมิน คุณหมอลงพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี เชียงราย สุราษฎร์ธานี และถามถึง NET PAMA คำตอบคือไม่มีใครรู้จักเลย ส่วนคนที่รู้จักบางคนก็บอกว่าสมาร์ทโฟนเป็นแบบเน็ตเติมเงิน ไม่สามารถดูคลิปได้ ปัญหาจึงนำมาสู่ Net Pama Delivery ห้องเรียนเน็ตป๊าม๊า (Net PAMA Classroom) เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ทางคุณหมอมีการจับมือกับสหวิชาชีพ และเทรนด์คนไปประจำห้องเรียนเพื่อเข้าถึงชายขอบ นอกจากนี้ ยังมีการให้ทุนการศึกษา และขยายห้องเรียนเน็ตป๊าม๊าไปแล้ว 27 จังหวัด นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การอบรมกระจายเป็นวงกว้างและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม แม้แต่ชนกลุ่มน้อยที่มีอุปสรรคด้านภาษา
รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า NET PAMA สร้างเครือข่ายเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงยุติธรรม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายของ สสส. ฯลฯ พัฒนาหลักสูตร Certified Parent Trainer เพื่อเพิ่มจำนวน Net PAMA Facilitators และก้าวต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างรายได้ให้โครงการเลี้ยงตัวเองได้และจะช่วยในการขยายผล
“โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ศิริราชคิดถึงคนไทยที่จะเข้ามาถึงศิริราชยาก โดยมีการใช้ความรู้กับเทคโนโลยี และเงินทุนจาก สสส. สร้างนวัตกรรมให้คนต่างอาชีพมาทำงานร่วมกับหมอ และขยายการเข้าถึงชุมชนโดยเท่าเทียม เพราะเรื่องสุขภาพจิตและการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วน ในปัจจุบันทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 16.5 พันล้าน หรือ 3.3% ของ GDP” ศ.นพ.อภิชาต กล่าวทิ้งท้าย