รูปแบบการท่องเที่ยวสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ และด้วยไลฟ์สไตล์ในโลกที่หลายคนเริ่มตระหนักรู้ (Self-Awareness) ถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยววิถี Low Carbon รูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกัน
หนึ่งในกลุ่มคนที่มีอิทธิพลด้านการตัดสินใจให้เราแพ็คกระเป๋าออกไปเที่ยวคือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) “อาสา พาไปหลง” ชาแนลด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักล้านคน นำโดย ว่านไฉ-อคิร วงษ์เซ็ง ร่วมพูดคุยแนวคิด “ท่องเที่ยววิถี Low Carbon ก็ชิลได้ เที่ยวสนุก โลกยั่งยืน” ในงาน Sustainability Expo 2023
ย้อนกลับไป 6 ปีก่อน อาสา พาไปหลง เริ่มต้นด้วยการนำเสนอรูปการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ถูกและดี มีสีสัน ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกสนานน่าติดตาม สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในช่วงปีที่ 3 โดยเริ่มเสิร์ฟคอนเทนต์การท่องเที่ยวที่ดีต่อตัวเรา ดีต่อชุมชน ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อโลก ในขณะที่เราเริ่มเห็นแล้วว่าผู้คนตระหนักรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบไหนดีต่อตัวเอง แบบไหนที่ดีต่อชุมชน ได้สนับสนุนผู้ประกอบการและดีต่อโลกใบนี้
“ในอดีตเราจะรู้สึกว่าท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและดูเฉพาะเจาะจง แต่ปัจจุบันผู้คนต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้ ทุกช่วงวัยเริ่มรับรู้แล้วว่าการท่องเที่ยวแบบ Go Green ไม่ใช่แค่การเที่ยวที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วจะเป็นแบบชุมชนจ๋า หรือแบบโอทอปอย่างเดียว แต่กลับรู้สึกว่าเป็นความเท่ที่ได้มีส่วนร่วมทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น” ว่านไฉ กล่าว
จุดเริ่มต้นของคอนเทนต์เที่ยวสนุก โลกยั่งยืน
ประเทศญี่ปุ่น เป็นจุดประกายความคิดที่ทำให้ต้องลงมือทำ ที่นั่นเรื่องของ Low Carbon ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสำหรับคนญี่ปุ่นแนวคิดรักษ์โลกคือดีเอ็นเอที่ถูกปลูกฝังมาให้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขณะ ทั้งเรื่องของการจัดการขยะ การแยกขยะที่เป็นนิสัย สไตล์การแต่งกายสไตล์แฟชั่นแบบนิปปอนบอย ที่มีความยูนีคเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น ผู้นำทางแฟชั่นที่ยั่งยืน การคมนาคมที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มาก ตลอดจนการเกษตรที่เน้นการปลูกพืชพรรณตามฤดูกาล ไม่เร่งผลผลิตนอกฤดู ลดการใช้ปุ๋ย ทั้งยังส่งเสริมชุมชนด้วยเทศกาลของดีประจำถิ่น เราจึงเห็นสินค้าเด่นประจำเมืองและของขึ้นชื่อระดับโลก เช่น มันม่วง กระเจี๊ยบเขียว มะระ หมูอากู ของเมืองโอกินาว่า ที่เราจะได้ชิมเฉพาะเมื่อได้ไปเยือนเมืองนั้นเท่านั้น
“การที่เราท่องเที่ยวแบบได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน สนับสนุนการใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนทั้งอาหาร เสื้อผ้า ข้อดีคือช่วยลดขั้นตอนการขนส่ง ไม่เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นี่แหละหนึ่งในการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ที่เราทุกคนทำได้ง่าย ๆ”
เที่ยวแบบมีเสน่ห์ ไม่สะดวก แต่อยู่สบาย
“เวลาจะเลือกสถานที่ท่องเที่ยว อย่ามองแต่ความสะดวกเพียงอย่างเดียว ให้มองด้วยว่าที่เที่ยวนั้นดีต่อชุมชน ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อเป็นคะแนนให้ผู้ประกอบการอยากพัฒนาชุมชนนั้นให้ดีขึ้นต่อไป” ว่านไฉ ในฐานะนักเที่ยวตัวยงฝากไว้ให้ได้คิด
ประเทศไทยเรามีชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะมีผู้นำความคิดที่เข้มแข็ง อย่าง “ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี” ตลาดในป่าไผ่ที่เริ่มจากการเอาพื้นที่ของตัวเองมาให้คนในชุมชนขายของโดยไม่เสียค่าเช่าเพื่อร่วมกันสร้างชุมชน ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสาร เราจึงเห็นรอยยิ้มที่เวลคัมเมื่อไปยล เป็นต้นแบบตลาดท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อีกที่คือ “เกาะพระทอง จ.พังงา” เกาะอันซีนที่เงียบสงบ ไม่มีไฟฟ้า ทั้งเกาะมีแค่โรงแรมเดียว ไม่มีแอร์ แม้ไม่สะดวกแต่อยู่สบาย กว่า 90% บนเกาะเป็นชาวมอร์แกนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ไม่ใช้พลาสติกเลย เราจึงเห็นนกเงือก ปูไก่ ค้างคาวแม่ไก่ และทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีเสน่ห์ ซึ่งทำให้การเที่ยวทะเลของเราก็มีความหมายมากขึ้น