สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นตบเท้าร่วมงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โชว์ศักยภาพนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมการทำเกษตรกรรมให้ยั่งยืน ลดการระบาดของโรคพืช ลดการใช้ปุ๋ย เพิ่มผลผลิต พร้อมใช้สาหร่ายเป็นตัวช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์
นายอามาเนะ คิมูระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอลจี ไบโอ (Algae Bio) จำกัด ผู้วิจัยเทคโนโลยีสะอาดจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ในปัจจุบันมนุษย์เราบริโภคทรัพยากรมากกว่าที่ผลิตได้ในแต่ละปีมากถึง 1.7 เท่า จึงจำเป็นที่เราจะต้องหาแหล่งทรัพยากรใหม่ และหาทางลดปริมาณของเสียที่เราสร้างขึ้น “เรามองว่าสาหร่ายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสาหร่ายสามารถใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง สามารถเติบโตได้ในน้ำจืด น้ำทะเล และแม้กระทั่งน้ำเสียจากการผลิตในโรงงาน ที่สำคัญคือ ในโลกนี้มีสาหร่ายอยู่ประมาณ 300,000 สปีชีส์ แต่ในปัจจุบันเรารู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 30 สปีชีส์ ซึ่งหมายความว่ายังมีสาหร่ายที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่อีกกว่า 90% เลยทีเดียว” นายอามาเนะ คิมูระ กล่าว
จากการวิจัยของบริษัท Algae Bio บริษัทฯ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้เพาะปลูกสาหร่ายได้เร็วกว่าการเติบโตตามธรรมชาติได้ถึง 3 เท่า และมีเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้ประโยชน์จากสาหร่ายได้หลากหลาย ได้แก่ Red Biotechnology สำหรับการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น แอนติออกซิแดนท์ Green Biotechnology สำหรับการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งอาหารที่ไม่ตัดแต่งพันธุกรรม และ White Biotechnology ซึ่งจะใช้สาหร่ายช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไบโอพลาสติก และช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
ส่วนบริษัท โพลาร์ สตาร์ สเปซ (Polar Star Space) เป็นสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและอุปกรณ์อื่นๆ เช่น โดรน ในการตรวจหาโรคพืช โดยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสแกนพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและค้นหาว่ามีบริเวณใดหรือจุดใดที่เกิดโรค หรือใบไม้มีความผิดปกติ เพื่อให้สามารถหยุดการระบาดของโรคพืชได้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งช่วยลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคพืชที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงในแต่ละปี นายมาซาชิ คาวากูชิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท โพลาร์ สตาร์ สเปซ กล่าวว่า “เราเรียนรู้และได้ข้อมูลมากมายจากใบไม้เพียงใบเดียว และเทคโนโลยีที่เรามีทำให้เรามองเห็นข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว”
อีกหนึ่งสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นที่ร่วมเผยแพร่แนวคิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตร ได้แก่ บริษัท ซากริ (Sagri) ซึ่งใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลหลายๆ ด้าน เช่น การตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดิน และการวิเคราะห์ปริมาณความต้องการน้ำและปุ๋ยของพืช นายคาซูกิ ซากาโมโต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำภูมิภาค บริษัท ซากริ อธิบายว่า ข้อมูลที่รวบรวมและนำมาวิเคราะห์ จะทำให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่า ควรใช้ปุ๋ย หรือให้น้ำในแปลงเกษตรของตนมากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ยังจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการทำคาร์บอนเครดิตสำหรับเกษตรกรและประเทศต่างๆ ด้วย
ตัวอย่างเทคโนโลยีที่สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นนำมาแชร์ในงาน Sustainability Expo 2023 จะเปิดมุมมองใหม่ในการสร้างความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้หน่วยงานไทยที่สนใจได้ร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาต่อยอดและประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรและธุรกิจไทย เพื่อนำประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด