กลัวทำไม AI นักฟิสิกส์คนดังบอกเอง แชทบอทเป็นแค่เครื่องมือ

[กลัวทำไม กลัวเพื่ออะไร] นับเป็นผู้เชี่ยวชาญอีกรายที่ออกมาโต้ว่า AI ไม่ได้น่ากลัว Michio Kaku นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีชื่อดังเผย ผู้คน AI กลัวมากเกินไป ChatGPT ก็แค่เครื่องบันทึกเทปที่ถูกเชิดชูกันไปเอง อนาคตที่แท้จริงของเทคโนโลยีคือ <ควอนตัมคอมพิวเตอร์> ต่างหาก

หากพูดถึง AI ปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงถึงการควบคุม บ้างก็มองว่าไม่ควรประมาท เพราะมันอาจแย่งงานหรือทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้เลย แต่บ้างก็มองว่า AI เป็นสุดยอดเครื่องมือ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ได้เป็นอย่างดีมากกว่า

กระทั่งการให้สัมภาษณ์กับทาง CNN เมื่อวันอาทิตย์ก่อน Michio Kaku ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์เชิงทฤษฎีจาก City College of New York และ CUNY Graduate Center ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ChatGPT และควอนตัมคอมพิวเตอร์ไว้อย่างน่าสนใจตามนี้

Michio Kaku กล่าวว่า ChatGPT ของ OpenAI นั้น จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริง แต่อย่างไรก็ตามตัวแชทบอทนี้ ก็เป็นเพียงเครื่องบันทึกเทปที่ถูกเชิดชูกันไปเอง

[มันใช้สิ่งที่สร้างจากมนุษย์ ที่มนุษย์บันทึกไว้บนเว็บ พอนำมารวบรวมพร้อมประกบเข้าด้วยกัน แล้วส่งต่อออกไปราวกับว่ามันสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ จากนั้นผู้คนก็ต่างพูดว่า โอ้พระเจ้า มันเป็นมนุษย์ มันเหมือนมนุษย์ !!]

ทั้งนี้แชทบอทยังไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ มีเพียงมนุษย์เท่านั้น ที่ต้องคอยป้อนให้มันเอง Michio Kaku กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบันมนุษย์อยู่ในช่วงวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ขั้นที่สอง ขั้นแรกคือตอนที่เรานำก้อนหิน กิ่งไม้ และสิ่งต่าง ๆ มาช่วยนับช่วยคำนวณ จนมาเข้าสู่ขั้น 2 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ที่มนุษย์ได้พัฒนาไมโครชิป มาช่วยคำนวนข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวคิด [เปิด] และ [ปิด] กับใช้สัญลักษณ์เลขฐานสองที่ประกอบด้วยเลข 0 และเลข 1 อันคุ้นเคย

ทว่าธรรมชาติคงหัวเราะเยาะต่อสิ่งนี้ เพราะธรรมชาติไม่ได้ใช้เลข 0 กับ 1 แต่กำลังคำนวณในระดับอิเล็กตรอน ระดับโมเลกุล และนี้เองคือสิ่งที่มนุษย์กำลังเข้าสู่ขั้น 3 นั้นคือการใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นขอบเขตขั้นถัดไปของเทคโนโลยี

ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้สถานะต่าง ๆ ของอนุภาค เช่น อิเล็กตรอน มาช่วยยกระดับการประมวลผลของคอมฯ ได้อย่างมากมาย แทนที่จะใช้ชิปที่มีสองสถานะ ก็กลายเป็นการใช้คลื่นที่มีการสั่นหลายสถานะแทน ช่วยให้วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้เร็วกว่าคอมฯ ทั่วไป

ปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีมากมายไม่ว่าจะเป็น IBM , Microsoft , Google และ Amazon ต่างก็พากันพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์กันหมด ซึ่งอาจให้สิทธิ์บริษัทอื่น ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ผ่านคลาวด์ เพื่อนำไปใช้ประมวลผลทางธุรกิจ หรือกระทั่งใช้หาวิธีรักษามะเร็ง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ที่เป็นโรคในระดับโมเลกุลก็ยังได้ Michio Kaku กล่าวปิดท้าย

สรุปแล้ว Michio Kaku กำลังบอกว่า AI มีประโยชน์จริง และตอนนี้ก็ไม่ได้น่ากลัว แต่สิ่งที่ควรว้าวจริง ๆ คือควอนตัมคอมพิวเตอร์มากกว่า เพราะเป็นเทคโนโลยีภาคต่อ ที่มนุษย์กำลังไปถึงในอนาคต ซึ่งหากสำเร็จ ก็อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แอบน่าคิดว่า AI ที่ใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ประมวลผลนั้น จะมีความสามารถขนาดไหน และจะกลายเป็นสิ่งที่หลายคนกลัวหรือไม่

ที่มา : CNN