บทความโดย เรย์ เฟรเดอริก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Traveloka
ทะเลอันดามันสีฟ้าทอดยาวไปสุดขอบฟ้า เสียงคลื่นซัดฝั่งคละเคล้าไปกับกลิ่นอาหารทะเลที่พร้อมเสิร์ฟอยู่ริมทะเล ทุกอย่างได้ถูกจินตนาการไว้ก่อนการเดินทางจะเริ่มต้นขึ้น และสักวันหนึ่งการทำแผนการเดินทางที่ละเอียด อาจหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง Generative AI ที่สามารถคิดแผนการท่องเที่ยวออกมาได้อย่างสมจริงด้วยคำสั่งเพียงประโยคเดียว “วางแผนไปเที่ยวภูเก็ตให้ฉันหน่อย”
Generative AI กำลังเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในวงกว้างและกำลังแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ด้วยแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง ChatGPT และ Midjourney และในปัจจุบัน GPT-4 สามารถสร้างคอนเทนต์ต้นฉบับ เช่น ภาพและข้อความจากการพิมพ์คำสั่งสั้น ๆ ได้ ซึ่งหากเราสามารถปลดล็อกศักยภาพได้อย่างเต็มที่มันจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก เนื่องจาก 98% ของคนทั่วไปต่างหาข้อมูลบนโลกออนไลน์เพื่อวางแผนการเดินทาง
ในปัจจุบันผู้คนมองหาการเดินทางที่ตรงกับความชอบส่วนตัวมากขึ้น โดย 74% ของนักเดินทางเหล่านั้น ต้องการประสบการณ์การเดินทางที่เป็นไปตามความคาดหวังของตนเองมากกว่าที่จะสนใจเรื่องราคา และ Generative AI ช่วยให้นักเดินทางสามารถหาประสบการณ์ที่ตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น พร้อมนำเสนอการจองแผนการเดินทางแบบครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือแบบอัตโนมัติ ไปจนถึงการนำเสนอตัวเลือกที่เหมาะกับความชอบของแต่ละคน
เบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านี้คือพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ และเราควรใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เต็มเปี่ยมของเทคโนโลยีและพัฒนาบทบาทของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นไปตามความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีจะสามารถแทนที่มนุษย์ได้ในที่สุด
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ในฐานะนักวิชาการทางด้านไอทีของไทยท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยให้ความเห็นว่าเราควรจะมอง Generative AI ในมุมที่มันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยมนุษย์มากกว่า ดังนั้นคนเราเองก็ต้องพัฒนาให้ตัวเองเก่งขึ้น ไม่ควรห่วงกังวลหรือกลัวว่าจะถูก AI มาแทนที่
ความสามารถของ Generative AI นั้นสามารถช่วยสนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตได้ และนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาไปกับการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นและวางแผนน้อยลงผ่านบริการดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาใหม่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อาจจะมีความเสี่ยงหรือผลกระทบที่เราต้องชั่งน้ำหนักในอนาคต
ความสะดวกสบายในการเดินทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI
เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการเดินทาง โดยเฉพาะการเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งพบว่า 86% ของนักเดินทางให้ความสนใจในโรงแรมที่ใช้ AI ในการนำเสนอราคาห้องพัก ตัวเลือกอาหาร และส่วนลดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น Rosewood Hotel Group เครือโรงแรมหรูระดับโลก ที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากลูกค้าโดยสมัครใจมาปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้เข้าพัก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมชาที่ลูกค้าชอบ การเตรียมตระกร้าผลไม้ไว้ล่วงหน้าเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้าเมื่อเข้าพัก แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้แต่ยังคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างโรงแรมและผู้เข้าพัก
การที่ลูกค้าอนุญาตที่จะให้ข้อมูลถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเพิ่มความประทับใจให้กับลูกค้าได้ ด้วยการแนะนำตัวเลือกต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการตามข้อมูลการจองและความชอบที่ลูกค้าเคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาให้กับลูกค้า เช่น ลูกค้าที่เดินทางเพื่อธุรกิจที่ทำการจองหลาย ๆ ครั้ง
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้ เช่น การให้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจ ทำให้สามารถวางแผนการเดินทางได้ดีและง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สภาพอากาศ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารท้องถิ่น เป็นต้น
เทคโนโลยีช่วยลดปัญหาด้านบุคลากรขาดแคลน
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการนำ Generative AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต เช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 การปรับตัวมาใช้เทคโนโลยี AI ก็ดูเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับอนาคต
เพราะนอกเหนือไปจากการใช้แชทบอทตอบคำถามและจัดการการจองให้กับลูกค้า บริษัทท่องเที่ยวต่าง ๆ เริ่มหันมาทดสอบความสามารถของ ChatGPT เพื่อใช้พัฒนาแผนการเดินทางมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ เนื่องจาก Generative AI สามารถทำอะไรได้มากกว่าแชทบอททั่วไปที่ทำได้เพียงคิดและโต้ตอบบทสนทนาตามข้อความที่ร่างเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่มากกว่านั้นคือการเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรไทย เนื่องจากบริการสนทนาโต้ตอบกับ AI (AI concierge) สามารถจัดการกับงานทั่ว ๆ ไปได้อย่างช่ำชอง ทำให้องค์กรสามารถยกระดับขีดความสามารถของพนักงาน และฝึกคนทำงานให้สามารถสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีระดับสูงดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง OpenAI บริษัทผู้พัฒนา ChatGPT เพิ่งทำการเปิดตัวปลั๊กอินโปรแกรมเสริมเพื่อทำให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างง่ายขึ้น
โอกาสเหล่านี้จะเป็นช่องทางใหม่สำหรับบุคลากรในประเทศไทยที่จะทำการยกระดับทักษะของพวกเขา ถือเป็นเรื่องดีสําหรับผู้ที่กําลังมองหาคุณค่าที่มากขึ้นในที่ทํางาน จากผลสํารวจโดย Gartner (บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี) ทั่วโลก พบว่าพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 3,500 คน กล่าวว่าการระบาดของโรคติดต่อครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นทําให้พวกเขาตั้งคําถามถึงวัตถุประสงค์ในการทํางานของพวกเขา แต่เมื่อมนุษย์และ AI ทำงานร่วมกัน บริษัทต่าง ๆ จะสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพนักงาน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความพึงพอใจของพนักงานในระยะยาวได้
ความท้าทายทางการเงินและความยั่งยืน
แต่ถึงอย่างนั้นการนำ Generative AI มาใช้งานอาจสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการบํารุงรักษาที่สูงที่ยังคงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีกระแสเงินสดจํากัด ผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณการว่าต้องใช้เงินมากกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 138 ล้านบาท) ในการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-3 แม้ว่าในช่วงต้นเดือนมีนาคมบริษัท OpenAI ได้ทำการลดต้นทุนของอินเทอร์เฟซการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชันของ ChatGPT ลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ AI ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts) เผยว่าการฝึกโมเดล AI เพียงตัวเดียวสามารถสร้างคาร์บอนเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซตลอดอายุการใช้งานของรถยนต์จำนวน 5 คัน
แต่สิ่งที่น่ายินดีคือนักวิจัยจากสิงคโปร์กําลังพยายามทําให้ AI มีความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยวิธีการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฝึกโมเดลที่มีเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เพื่อป้องกันการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก
นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับประเทศไทย และไม่มีข้อสงสัยเลยว่า Generative AI มีบทบาทที่สำคัญต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ แต่การนำมาใช้งานต่างหากที่สำคัญกว่า และเมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ ก็จะมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวและบุคลากรผู้ให้บริการ เพื่อสร้างอนาคตที่เท่าเทียมกันสําหรับทุกคน